ประวัติผู้เขียน

     
            เกิดจังหวัดสงขลา เมื่อปีพุทธศักราช 2490 เมื่ออายุ 3 ขวบ พ่อแม่ยกให้อยู่กับก๋ง และอยู่กับก๋งจนอายุ 16 ปี ระหว่างนั้นได้ฟังก๋งเล่าเรื่องสามก๊ก เรื่องคัมภีร์พิชัยสงคราม เรื่องตำราลมฝน และฤดูกาล

            เมื่ออายุ 10 ขวบ ก๋งพาไปฝากเป็นลูกศิษย์พระมหาเถระผู้ทรงวิทยาคุณ มีภูมิธรรมลือชาปรากฏในภาคใต้ ได้ร่ำเรียนวิทยาคม อักษรขอม และบาลี ตลอดจนฤกษ์ผานาที และวิทยาการที่หมู่นักเลงในสมัยนั้นสนใจ เช่น ผูกหุ่น เสกควายธนู ทำผงอิทธะเจ เป็นต้น  ระหว่างนั้นก็ได้เล่าเรียนวิทยาคมกับพระอาจารย์มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกหลายรูป เที่ยวแสวงหาเหล็กไหล เพชรหน้าทั่ง เขี้ยวคนธรรพ์ จนกระทั่งอายุ 16 ปี จึงเดินทางมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ สำนักอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

            ระหว่างสำนักอยู่ที่วัดระฆังได้ร่ำเรียนวิชาโหราศาสตร์ ฤกษ์ผานาที พระไตรปิฎก ฝึกสมาธิวิปัสสนา ควบคู่กับการทำหน้าที่เด็กวัด ดังที่ปฏิบัติกันในสมัยนั้น กลางคืนเรียนหมากฮอสกับเซียนหมากฮอสที่มีชื่อเสียง กลางวันเรียนหนังสือที่โรงเรียน วันเสาร์และวันอาทิตย์ ช่วยทางวัดทำพระสมเด็จวัดระฆัง

            จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์ แล้วสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท แผนกวิทยาศาสตร์ และสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปีที่ 4 สมัครเรียนที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาควบคู่กัน จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ พร้อมกับเนติบัณฑิต

            ระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัย เป็นสมาชิกพรรคเสรีตราชู และเป็นโฆษกพรรค เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองของนักศึกษาตลอดระยะเวลาศึกษา เป็น 1 ใน 12 คน ที่ก่อการเดินขบวนประท้วงขึ้นค่ารถเมล์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกสุดหลังจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกยึดจากการรัฐประหาร

            หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้ตั้งวงดนตรีคนจนเพื่อหนุนช่วยงานกรรมกร และเป็นผู้แต่งเพลงศักดิ์ศรีกรรมการ

            เป็นนักเขียนบทความตั้งแต่เป็นนักศึกษา หลัง 14 ตุลาคม เป็นผู้เขียนบทความในหนังสืออธิปัตย์และประชาธิปไตย และคงเขียนบทความเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

            ในงานเขียนหนังสือสามก๊กฉบับคนขายชาติ ใช้นามปากกาว่าเรืองวิทยาคม ซึ่งเป็นนามปากกาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเพื่อนรักคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ของพ่อท่านเรือง และเรียนหนังสือที่โรงเรียนเรืองวิทยาคม.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘