บรรพ 4 ลักษณะการยุทธ

ปราชญ์ซุนวูกล่าวว่า
ผู้เชี่ยวชาญการศึกในสมัยโบราณ
ก่อนอื่นเขาต้องสร้างความเกรียงไกรแก่ตนเอง
เพื่อคอยโอกาสที่จะเอาชนะข้าศึก
ความพิชิตนั้นต้องอยู่ที่เรา
แต่ความเอาชนะได้ต้องอยู่ที่ข้าศึก





เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญการศึก
แม้อาจจะสร้างความเกรียงไกรแก่ตนเอง
แต่ไม่สามารถทำให้ข้าศึก
จะต้องอยู่ในฐานะเอาชนะได้
(เพราะเป็นเรื่องของข้าศึกเอง)
จึงกล่าวได้ว่า อันชัยชนะนั้น
เราอาจหยั่งรู้ แต่ไม่สามารถจะสร้างขึ้น





ในขณะที่ยังเอาชนะข้าศึกไม่ได้
พึงตั้งรับไว้ก่อน
ครั้นที่จะเอาชนะได้ จงเร่งรุกเถิด
การตั้งรับนั้นเพราะกำลังยังด้อย
รุกเพราะมีกำลังเหลือหลาย
ผู้สันทัดในการตั้งรับนั้น
จะเสมือนหนึ่งซ่อนเร้นยังใต้บาดาลชั้นเก้า
(เงียบกริบปราศจากวี่แววใด ๆ)
ผู้เชี่ยวชาญในการรุกนั้น
ดุจไหวตัว ณ ฟากฟ้าชั้นเก้า
(ก่อเสียงกัมปนาทน่าสะพึงกลัว)
ด้วยเหตุนี้ จึ่งสามารถรักษากำลังของตน
และได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์





การหยั่งเห็นชัยชนะซึ่งใคร ๆ ก็รู้อยู่แล้ว
มิใช่ชัยชนะอันดีเลิศ
เมื่อรบชนะแล้วพลรบต่างแซ่ซ้องร้องสรรเสริญ
ก็มิใช่ชัยชนะอันเยี่ยมเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุว่า
ผู้สามารถยกขนสัตว์เพียงเส้นเดียวได้นั้น มิใช่ผู้ทรงพลัง
ผู้มองเห็นเดือนและตะวันได้ มิใช่ผู้มีนัยน์ตาแจ่มใส
ผู้ได้ยินฟ้าคำรณลั่น มิใช่ผู้มีโสตประสาทไว





ผู้ใดชื่อว่าเชี่ยวชาญการศึกในสมัยโบราณกาล
เขาชนะเพราะเหตุที่อาจเอาชนะได้โดยง่าย
ฉะนั้นชัยชำนะของผู้เชี่ยวชาญศึก
จึงไม่มีนามบันลือในทางสติปัญญา
ไม่มีความดีในทางกล้าหาญ





ดังนั้น ชัยชำนะของเขาเป็นสิ่งที่แน่นอนไม่แปรผัน
ที่ว่าไม่แปรผันนั้น ก็โดยที่เขารบต้องชนะ
ชนะเพราะข้าศึกแพ้แล้วนั่นเอง






ดังนั้น ก่อนอื่น
ผู้ที่เชี่ยวชาญการศึกต้องอยู่ในฐานะไม่แพ้แล้ว
และไม่พลาดโอกาสที่ข้าศึกจักต้องแพ้ด้วย





ด้วยเหตุนี้เอง
กองทัพที่กำชัยชนะ จึงรบในเมื่อเห็นชัยแล้ว
แต่กองทัพที่พ่ายแพ้จะรบเพื่อหาทางชนะ





ผู้เชี่ยวชาญการศึก
มุ่งผดุงธรรมและรักษาระเบียบวินัย
จึงสามารถประสิทธิ์โชคชัยได้





หลักยุทธศาสตร์มีว่า
๑ ศึกษาภูมิประเทศ
๒ การคำนวณความสั้นยาวแห่งยุทธบริเวณ
๓ การวางอัตราพลรบ
๔ การหาจุดศูนย์ถ่วงแห่งกำลัง
๕ สู่ความมีชัยอันลักษณะพื้นภูมิทำให้เกิดการคำนวณ
การคำนวณทำให้มีการวางอัตราพลรบ
การวางอัตราพลรบทำให้เกิดความมีชัยในที่สุด





ดังนั้น กองทัพพิชิต (เมื่อเข้ายุทธแย้งกับข้าศึก)
จึงเสมือนเอา 'อี้' * (ของหนัก) ไปชั่ง 'จู' (ของเบา)
แต่กองทัพที่พ่ายแพ้นั้น
กลับเสมือนเอา 'จู' (ของเบา) ไปชั่ง 'อี้' (ของหนัก)





การทำสงครามของผู้กำชัยชนะ
เปรียบประดุจปล่อยน้ำซึ่งทดไว้
ให้พุ่งสู่หุบห้วยลึกตั้งพัน 'เยิ่น' (ราว ๘๐,๐๐๐ ฟุต ผู้แปล)
นี่คือลักษณะการยุทธแล


* จูและอี้เป็นมาตราชั่งสมัยดึกดำบรรพ์ของจีน กล่าวกันว่า ๒๕ จู เท่ากับ ๑ ตำลึง, ๒ ตำลึง เท่ากับ ๑ อี้ -ผู้แปล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘