สามก๊ก ฉบับนักบริหาร:บทที่ 4ตั้งเตาเผาขนหู

มีคนกล่าวว่าอำนาจเป็นเครื่องบั่นทอนความดีอย่างได้ผลและเร็วที่สุด คำกล่าวนี้เห็นได้อย่างชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในท้ายยุคของพระเจ้าเลนเต้ ขั้วอำนาจทุกฝ่ายต่างแก่งแย่งชิงอำนาจ มัวเมากับอำนาจที่หลงพลัดเข้ามาในเส้นทางของตน อำนาจทำให้เกิดความหน้ามืด แต่แม้ดวงอาทิตย์ส่องหน้า ยังมองไม่เห็นแสง ปิดดวงตา ปิดสติปัญญา เห็นผิดเป็นชอบ โดยไม่คิดถึงผลร้ายที่จะตามมา แม้กระทั่งครรลองที่จะนำไปสู่ความตกอับ รวมทั้งการสูญสิ้นทุกอย่าง ไร้แผ่นดินที่จะอยู่ หรือแม้แต่ชีวิตของตนเองก็ยังถูกมองข้าม
      
           ถึงคราวที่พระเจ้าเลนเต้ประชวรหนักยังมิทันสิ้นพระชนม์ภายในราชสำนักเกิดการแก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างรุนแรง ขั้วอำนาจถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้วใหญ่ ได้แก่กลุ่ม 10 ขันทีขั้วหนึ่งกับแม่ทัพโฮจิ๋นพี่ชายของพระนางโฮเฮาอีกขั้วหนึ่ง แถมด้วยอีกขั้วหนึ่ง คือตังไทเฮา พระราชชนนีของพระเจ้าเลนเต้ ที่มาจากตระกูลสามัญชน อุ้มชูหองจูเหียบ หลานชายที่เกิดจากนางอองบิหยินพระสนมเอก ที่ถูกพระนางโฮเฮาลอบปลงพระชนม์ด้วยยาพิษ
      
           พระนางโฮเฮาร่วมกับพี่ชายแม่ทัพโฮจิ๋นวางแผนยึดอำนาจเบ็ดเสร็จพยายามให้หองจูเปียนบุตรชายของนางขึ้นเสวยราช อีกด้านหนึ่งพระนางตังไทฮอต้องการให้หองจูเหียบหลานที่เกิดจากนางอองบิหยินสนมเอกขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์ใหม่ ส่วนกลุ่ม 10 ขันทีคอยยุแหย่ทั้งสองขั้ว ขั้วไหนชนะก็จะพลอยชนะด้วย แต่ค่อนเอนไปทางข้างตังไทเฮา เพราะไม่วางใจอิทธิพลแม่ทัพโฮจิ๋นที่เป็นพี่ชายของพระนางโฮเฮา
      
           ภายในราชสำนักบริหารราชการแผ่นดินเหลวแหลก ทุกขั้วหลงเชื่อคำยุยงของ 10 ขันที ที่ยืนอยู่บนฐานของการฉ้อราษฎร์บังหลวงทุกระดับ ใช้วิชามารในทุกเรื่องโดยไม่เกรงกลัวต่อบาปบุญคุณโทษ ทำการที่ขัดกับคำสอนว่าด้วยจริยธรรม คุณธรรมกับศีลธรรมบ้านเมืองของศาสดาขงจื๊อกับเล่าจื๊อโดยสิ้นเชิง   
      
           ภายใต้แม่ทัพโฮจิ๋น มีนายทหารยังเติร์กหนุ่ม 2 คน คนหนึ่งชื่อโจโฉ อีกคนหนึ่งชื่ออ้วนเสี้ยว ทั้งสองรับราชการอยู่กับโฮจิ๋นในเมืองล๊กเอี๋ยง โจโฉเป็นชาวตำบลเจี้ยวจวิ้น มณฑลเจียงซู มีชื่อรองว่าเม่งเต๊ก เดิมแซ่แฮหัว แต่เนื่องจากโจโก๋ผู้บิดาเป็นลูกเลี้ยงของโจเถิงขุนนาง อยากมีแซ่ดังเลยใช้แซ่แฮหัวแต่นั้นมา ส่วนอ้วนเสี้ยว เป็นชาวเหอหนาน ชื่อรองว่า เปิ่นชู เชื้อสายขุนนางเก่าถึงห้าชั่วคน ทั้งสองคนนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำของทัพต่าง ๆ ที่สู้รบพุ่งกันในสมัยต่อมา
      
           โฮจิ๋นเหิมเกริมในอำนาจ รู้ความเละเทะของ 10 ขันทีในราชสำนัก แต่จนใจที่น้องสาวพระนางโฮเฮาคอยให้ท้ายกลุ่มขันที จึงทำการมิได้ถนัด อ้วนเสี้ยวแนะโฮจิ๋นให้กำจัด 10 ขันที ด้วยการทำพระราชโองการสั่งทัพหัวเมืองเข้าเมืองหลวง ให้ประกาศจะเอาตัว 10 ขันทีไปฆ่าเสีย โฮจิ๋นเห็นด้วย
      
       แต่โจโฉฉลาดหลักแหลมกว่า จึงทัดทานว่า การกำจัดพวกขันทีง่ายเสมือนหนึ่งพลิกฝ่ามือ แค่จับตัวหัวโจกส่งกรมพระธรรมนูญก็จบแล้ว ไฉนต้องเรียกทัพจากหัวเมืองมาวุ่นวาย โฮจิ๋นตวาดโจโฉว่า ผู้น้อยอย่างเจ้า จะไปรู้อะไรกับงานใหญ่ โจโฉผิดใจนัก หุนหันออกจากที่ทำการ พร้อมกับออกปากว่า บ้านเมืองจะฉิบหายก็เพราะโฮจิ๋นนี่แหละ
      
           เหตุการณ์แตกหักมาถึง เมื่อพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ 10 ขันทีปกปิดข่าว คบคิดกันจะยกหองจูเหียบขึ้นสืบราชสมบัติเพื่อตัดกำลังโฮจิ๋น แต่โฮจิ๋นกับพวกรู้ทัน แก้เกมด้วยการประกาศสถาปนาหองจูเปียนหลานชายขึ้นเป็นองค์ฮ่องเต้ ตั้งหองจูเหียบเป็นตันซิวอ๋อง ทั้งๆ ที่ยังอยู่ท่ามกลางพระราชพิธีปลงพระศพพระเจ้าเลนเต้
      
       โดยอ้างเหตุผลทางการเมืองว่า บัลลังก์ไม่อาจว่างฮ่องเต้ได้ ริดทอนอำนาจของพระนางตังไทฮอ วันต่อมาพระนางโฮเฮากับโฮจิ๋น กำเริบถึงกับถอดยศนางตังไทฮอ อ้างว่าเป็นแค่เมียขุนนางชายแดน เมื่อสิ้นพระเจ้าเลนเต้แล้วจึงมิควรพำนักอยู่ในพระราชวังต่อไป พระนางถูกขับไปอยู่เมืองเหอเจียนในมณฑลเหอเป่ย ต่อมาโฮจิ๋นส่งทหารไปบังคับให้นางดื่มยาพิษจนตาย
      
           10 ขันทีแก้เกม วิ่งเข้าหาพระนางโฮเฮา ให้ช่วยเจรจากับน้องชายโฮจิ๋น ด้วยการหักหลังปัดความผิดให้เกงหวนหัวหน้าขันที ที่วางแผนจะยกหองจูเหียบขึ้นเป็นฮ่องเต้ พร้อมกับตัดศีรษะเกงหวนใส่ถาดมาถวายพระนางโฮเฮากับโฮจิ๋น โฮจิ๋นใจอ่อนหลงเชื่อยกโทษให้พวกขันที
      
       โจโฉกับอ้วนเสี้ยวสองคนยังคงยืนกรานว่าขันทีที่เหลือจะเป็นเสี้ยนหนามร้ายกาจต่อแผ่นดิน ควรจะกำจัดเสีย เกงหวนเปรียบเหมือนต้นหญ้า ขันทีที่เหลือเปรียบเหมือนราก ตายแต่ต้น รากก็จะงอกขึ้นแทน โฮจิ๋นสมุหนายกชะล่าใจมิฟังคำทัดทาน แต่กลับยืนกรานที่จะให้กองทหารจากหัวเมือง เข้ามาปราบกลุ่มขันทีตามความคิดเดิมให้ได้
      
           ขุนนางตงฉินน้อยใหญ่ต่างคัดค้านความคิดของโฮจิ๋น ที่คิดนำทัพที่คุมโดยตั๋งโต๊ะเข้าเมืองหลวงบอกว่า ตั๋งโต๊ะเป็นคนพ่ายศึก ตั๋งโต๊ะเสมือนเสือหิว ขืนให้เข้าเมืองมันจะกัดไม่เลือก ขุนนางอีกคนหนึ่งบอกว่า ข้ารู้จักตั๋งโต๊ะดี คนผู้นี้หน้าเนื้อใจเสือ ถ้าให้เข้ามาจะต้องเป็นภัยแน่ โฮจิ๋นหาฟังคำทัดทานไม่ มีคำสั่งให้ตันหลิม เจ้ากรมอาลักษณ์ร่างหนังสือให้ทัพหัวเมืองเข้าเมืองหลวงล๊กเอี๋ยง
      
       ตันหลิมยังทักท้วงว่า ท่านมิควรทำการอย่างหลับตา โบราณว่า คนที่ปิดตาจับนกกระจอก ก็จะเสียแรงเปล่า ท่านมีอำนาจราชศักดิ์เต็มมือ ไฉนต้องใช้กำลังมากพ้นกับพวกขันที เสมือนหนึ่งตั้งเตาเผาขนหูเพียงเส้นเดียว การเรียกทัพหัวเมืองเข้าพระนคร เท่ากับไปเรียกคนกล้าหลายคนมาไว้แห่งเดียวกัน ต่างคนต่างคิด ต่างใช้อาวุธทำร้ายกันเพื่อแย่งความเป็นใหญ่ ภายภาคหน้าจะเสียหาย บ้านเมืองจะวุ่นวายไม่เป็นการ
      
       โฮจิ๋นตวาดกลับด้วยเสียงอันดัวว่า " ทำการใหญ่ขืนหวาดระแวงกันเช่นนี้ จะทำการใหญ่ได้อย่างไร พวกหนอนหนังสือคิดมากไม่เข้าเรื่อง ไม่ต้องมาพูดอีกแล้ว.." ในครานั้น ขุนนางตงฉินหลายคนรวมทั้งโลติด ได้คืนตราตั้งลาออกจากตำแหน่งขุนนาง
      
           ขันทีรวมกลุ่มคิดกำจัดโฮจิ๋นลูกคนขายหมู โดยรำพึงว่า หวังพึ่งภูผา ภูผาก็ล่ม หวังพึ่งคน คนก็ม้วย แล้วจะทำอย่างไรดี เตียวเหยียงขันทีอาวุโสจึงแนะว่า เมื่อลมเปลี่ยนทิศ เราก็ต้องเบนหัวเรือ ทุกคนจึงเข้าประจบพระนางโฮเฮา ในขณะเดียวกันร่วมวางแผนลวงโฮจิ๋นมาฆ่าในวัง โดยปลอมพระราชเสาวนีย์พระนางโฮเฮาให้โฮจิ๋นเข้าเฝ้า โจโฉกับอ้วนเสี้ยวทัดทานอย่างไร โฮจิ๋นก็ไม่ฟัง บอกว่าน้องสาวตัวเองแท้ ๆ จะไม่ไว้ใจได้อย่างไร
      
       โจโฉกับอ้วนเสี้ยวยกกองทหารตามไป แต่ถูกห้ามเข้าในเขตพระราชสำนัก จึงได้แต่คอยทีอยู่นอกกำแพงวัง โฮจิ๋นถูกรุมลอบทำร้ายจากพวกขันทีจนตาย เสียทีถูกตัดศีรษะโยนออกมานอกกำแพงวัง โจโฉกับอ้วนเสี้ยวจึงตัดสินใจยกกองทหารพังกำแพงวัง เข้าไปบุกฆ่าขันทีในเขตพระราชฐานจนสิ้น ใครที่ไร้หนวดไร้เคราท่าทางนุ่มนิ่มจะถูกฆ่าตายหมด มีแต่เตียวเหยียงกับอีก 3 ขันทีหัวโจกชิงพาตัวสองพระราชบุตรหองจูเปียน
      
       ฮ่องเต้กับหองจูเหียบเล็ดรอดหนีออกจากวัง โดยมีกองทหารของโจโฉกับอ้วนเสี้ยวตามล่าไปติด ๆ พอพลบค่ำเตียวเหยียงเห็นจวนตัวหนีไม่พ้นก็โจนน้ำตาย ส่วนขันทีต๋วนกุยถูกอ้วนเสี้ยวฆ่าแล้วตัดเอาศีรษะผูกคอม้า พร้อมทั้งเชิญเสด็จองค์ฮ่องเต้กับตันซิวอ๋องสองพระราชบุตรกลับเข้าเมืองหลวง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตัวอย่างกระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี 5

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันเสาร์ ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘