ปัญหาการมองเห็นที่นอกเหนือจากปัญหาสายตา : Visual Information Processing Disorder(VIPD)



ปัญหาการมองเห็นที่นอกเหนือจากปัญหาสายตา : Visual Information Processing Disorder(VIPD)


บุตรหลานหรือคนที่ท่านรู้จักมีปัญหาเหล่านี้หรือไม่

    *

      น้องเคจำคำศัพท์ได้น้อยและช้า
    *

      สมศรีมีปัญหากับการอ่านแผนที่
    *

      น้องแมกซ์มีลายมืออ่านยาก
    *

      น้องเออ่านหนังสือได้ช้า
    *

      สมปองมีความลำบากในการอ่านกราฟ
    *

      ปราณีคิดสิ่งที่ซับซ้อนไม่ได้
    *

      นายดำมีความลำบากในการเดินในบ้านตัวเองในที่มึด
    *

      นายจันทร์มีความจำสั้น
    *

      สมหมายขับรถชนบ่อยเนื่องจากกะระยะไม่ค่อยถูก
    *

      มานะหาของที่ต้องการไม่ค่อยเจอ
    *

      น้องอรสับสนด้านซ้ายและขวา
    *

      น้องแพนด้าจดงานตามอาจารย์ไม่ค่อยทัน
    *

      น้องเคคิดช้าไม่ค่อยทันเพื่อน
    *

      น้องนัททำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ได้ต่ำ
    *

      น้องอาร์มขาดทักษะทางด้านกีฬา ฯลฯ

ถ้าท่านตอบว่าใช่ มีความเป็นไปได้ที่คนดังกล่าวจะมี “ความบกพร่องของการประมวลผลข้อมูลจากการมองเห็น”( Visual Information Processing Disorder, VIPD) ซึ่ง เป็นข่าวดีคือ ความบกพร่องเหล่านี้ อาจสามารถแก้ไขได้ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและแก้ไขอย่างถูกต้อง มีคนมากมายที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยไม่ทราบมาก่อนว่ามีวิธีแก้ไขหรือ ฝึกฝนทำให้สามารถดังกล่าวดีขึ้นได้ อนึ่ง ปัญหา VIPD เป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสายตา ดังนั้นผู้ที่มีสายตาปกติ ก็อาจมีปัญหาVIPDได้ หรือผู้ที่มีปัญหาสายตา สั้น ยาว หรือเอียง ก็อาจจะไม่มีปัญหา VIPDก็ได้ อีกข้อที่สำคัญคือ การที่เด็กมีปัญหา VIPD ไม่ ได้หมายความว่าเด็กมีสติปัญญาต่ำแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้จำนวนไม่น้อยมีสติปัญญาในเกณฑ์มาตรฐานและ บางคนเหนือกว่ามาตรฐานเสียด้วยซ้ำ


VIPD จัดเป็นปัญหาหนึ่งในกลุ่มของ ปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) โดย ความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นชื่อเรียกโดยรวมของความผิดปกติที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และทักษะด้านต่างๆ เช่น ด้านการพูด การฟัง การอ่าน การเขียน การสะกดคำ ความเป็นเหตุเป็นผล และการจัดการข้อมูล ฯลฯ อนึ่ง ความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นคำที่กว้างมาก และการที่เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีสติปัญญาต่ำแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม เด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ จำนวนไม่น้อยมีสติปัญญาในเกณฑ์มาตรฐานและบางคนเหนือกว่ามาตรฐานด้วยซ้ำ ตัวอย่างชนิดของ ความบกพร่องในการเรียนรู้ เช่น Visual Information Processing Disorders(VIPD), Auditory Information Processing Disorders(ความบกพร่องการประมวลผลข้อมูลจากการฟัง), Dyslexia(ความบกพร่องทางการอ่าน), Aphasia(ความบกพร่องทางการพูดและภาษา), Dysgraphia(ความบกพร่องทางการเขียน), Dyscalculia(ความบกพร่องทางการคำนวณ), Dyspraxia(ความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว) ฯลฯ


ความ บกพร่องในการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ใหญ่และใหม่สำหรับประเทศไทย โดยประมาณการ มีเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงพอสมควร (ในอดีต เด็กกลุ่มนี้มักถูกมองว่าเป็นเด็กซน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีสมาธิ เรียนไม่เก่ง ฯลฯ) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วพบว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของความบกพร่องในการเรียนรู้ คือ Visual Information Processing Disorders (VIP Disorders) เนื่องจากการเรียนรู้ของคนกว่า 80% มาจากการมองเห็น ดังนั้น VIP Disorders จึงเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างมากในต่างประเทศ


Visual Information Processing (VIP) คือกลุ่มของทักษะ(ที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ภาพ) ที่ ใช้สำหรับนำข้อมูลภาพที่ได้รับรู้มาทำการผสมผสานกับการรับรู้ด้านอื่นและการ ทำงานของสมองขั้นสูง โดยสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การเห็นของมนุษย์ คือการรับรู้ภาพ(Visual sensation) โดยหลังจากการรับรู้ภาพแล้ว สมองของเรามีการนำภาพที่รับรู้ไปเป็นข้อมูลเพื่อทำงานต่ออีกหลายขั้นตอน(Processing) ยก ตัวอย่างเช่น การอ่าน เมื่อเราเห็นตัวหนังสือแล้ว สมองของเรายังต้องแปลผลจากการเห็น เทียบกับความทรงจำด้านคำศัพท์ที่อยู่ในสมอง ว่าศัพท์แต่ละคำมีความหมายว่าอย่างไร และเมื่อมารวมกันเป็นประโยคแล้ว มีความหมายอย่างไร ทำให้เราเกิดความเข้าใจในตัวอักษรที่เห็น หรือการเขียนหนังสือลงบนกระดาษ ขั้นตอนการทำงานของสมองคือต้องแปลความคิดหรือสิ่งที่ต้องการเขียนเป็นคำพูด และแปลจากคำพูดเป็นตัวอักษรแต่ละตัว(คือรูปภาพของตัวอักษร) ก่อน ที่จะสั่งการให้มือเขียนตัวอักษรอย่างที่ต้องการลงในกระดาษโดยควบคุมกล้าม เนื้อนิ้วมือเพื่อให้ลากเส้นดินสอไปในทิศทางที่เราต้องการ เกิดเป็นตัวหนังสือต่างๆ เป็นต้น โดยทักษะทาง VIP มี แบ่งแยกย่อยได้มากมาย ซึ่งถ้ามีทักษะใดทักษะหนึ่งบกพร่องหรือผิดปกติ ก็จะทำให้การทำงานที่ต้องอาศัยทักษะนั้นๆเป็นไปได้อย่างไม่ดีเท่าที่ควร อนึ่ง ทักษะต่างๆที่บกพร่องสามารถทำการฝึกฝนให้ดีขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถระบุได้ว่าทักษะใดของเด็กบกพร่องไป และทำการพัฒนาทักษะที่บกพร่องนั้นขึ้นมา จะทำให้เด็กสามารถทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยทักษะนั้นๆได้ดีขึ้นด้วย


การระบุว่าเด็กคนหนึ่งมีความบกพร่องของทักษะต่างๆหรือไม่ สามารถทำได้โดยใช้แบบทดสอบ VIP ซึ่งประกอบด้วยแบบทดสอบย่อยสำหรับทดสอบทักษะต่างๆ โดยขั้นตอนการทำการทดสอบโดยย่อเป็นดังนี้

   1.

      ก่อนทำการทดสอบ เด็กควรผ่านการทดสอบอื่นๆมาแล้วดังนี้

          o

            ทดสอบ VA, วัดสายตา
          o

            ทดสอบการมองสองตา(Binocular vision, Accommodation, Vergence)
          o

            คัดกรองปัญหาโรคตาเพื่อส่งต่อไปยังจักษุแพทย์

   2.

      เลือกแบบทดสอบ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ การตรวจตา การสังเกต ฯลฯ
   3.

      ทำการทดสอบแต่ละแบบทดสอบ

          o

            แต่ละแบบทดสอบ อาจมีหลายแบบทดสอบย่อย (ดูรายละเอียดของแต่ละแบบทดสอบในส่วนต่อไป)
          o

            ทำแต่ละแบบทดสอบย่อยจนครบ ตามขั้นตอนรายละเอียดการทำการทดสอบของแต่ละแบบทดสอบย่อย
          o

            เมื่อทำการทดสอบครบทุกแบบทดสอบย่อยแล้ว ทำการคิดและรวมคะแนนตามวิธีของแต่ละแบบทดสอบ
          o

            นำคะแนนที่ได้ มาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน เพื่อดูว่าคะแนนที่เด็กทำได้ อยู่ในช่วงใดเมื่อเทียบกับเด็กที่มีช่วงอายุเดียวกัน

   4.

      ทำการประเมินผลการทดสอบ และวางแผนการรักษาถ้าจำเป็น


แบบทดสอบที่เกี่ยวข้องกับ VIP ที่นิยมใช้มีดังนี้

   1.

      Visual Spatial Skills
         1.

            กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                *

                  การทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ การทรงตัว และการรับรู้ทิศทาง
                *

                  Bilateral Integration รับรู้ทั้งสองด้านของร่างกาย
                *

                  Laterality รับรู้และแยกแยะระหว่างสิ่งที่อยู่ด้านซ้ายและขวาของร่างกาย
                *

                  Directionality แยกแยะระหว่างด้านซ้ายหรือด้านขวา สำหรับสิ่งที่อยู่ห่างตัวออกไป
   2.

      Non-motor Visual Processing
         1.

            Visual Discrimination Skills
                *

                  ความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งสองสิ่งหรือมากกว่าได้
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        เห็นความแตกต่างของตัวอักษรหรือคำ เช่น ระหว่าง “บ / ป” “บก / กบ”
                      o

                        รู้ถึงความแตกต่างของวัตถุ ทั้งรูปร่าง สี ขนาด ลวดลาย ฯลฯ
                      o

                        สามารถแยกแยะและบอกรายละเอียดของ ตาราง กราฟ และรูปภาพได้
         2.

            Visual Figure-Ground skills
                *

                  ความสามารถในการแยกแยะวัตถุออกจากพื้นหลังได้
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        เห็นป้ายจราจร “หยุด” จากถนนที่มีการจราจรคับคั่งและมีป้ายต่างๆมากมาย
                      o

                        หาคำที่ต้องการจากตัวหนังสือ 1 หน้า
                      o

                        หาสิ่งของบนโต๊่ะท่ามกลางสิ่งของมากมาย
         3.

            Visual Closure
                *

                  ความสามารถในการจินตนาการรูปร่างทั้งหมด เมื่อสามารถเห็นได้เพียงบางส่วน
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        รู้ถึงคำคำนั้น จากการมองผ่านเพียงชั่วขณะเดียว
                      o

                        รับรู้วัตถุได้ แม้เพียงได้มองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง
         4.

            Visual Spatial Relationship
                *

                  ความเข้าใจความสัมพันธ์ของตำแหน่งวัตถุต่างๆรอบๆตัว
                *

                  กิจกรรมที่เกี่่ยวข้อง
                      o

                        เขียนลายมืออ่านง่าย
                      o

                        รับรู้คำและตัวเลขเป็นหน่วยย่อยที่แยกจากกัน
                      o

                        รับรู้ระยะทาง ไกล้ ไกล
         5.

            Visual Memory & Visualization
                *

                  ความจำได้ในสิ่งที่เคยเห็นแล้ว
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        ความทรงจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว
                      o

                        ความทรงจำเหตุการณ์ต่อเนื่องและเหตุการณ์ที่เกิดพร้อมๆกัน
                      o

                        จำตัวอักษรและคำได้
                      o

                        สามารถจำแผนที่และเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแผนที่และคำอธิบายได้
                      o

                        สามารถจำทางที่เดินได้เมื่อต้องเดินในที่มึด เช่น ลุกไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนโดยไม่ได้เปิดไฟ
                      o

                        รู้ถึงรูปร่างทั้งหมดของสิ่งนั้นๆ แม้ว่าจะเห็นเพียงบางส่วน เช่น เห็นรถประจำทาง
   3.

      Visual Motor Processing
         1.

            Fine Motor
                *

                  ความสามารถในการควบคุมมือ ทำงานที่มีความละเอียด
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        สามารถบังคับการเขียนให้เป็นได้ตามต้องการ
                      o

                        สามารถทำงานฝีมือที่มีความละเอียด ประณีตได้
         2.

            Visual-Motor Integration
                *

                  ความสามารถในการใช้ทักษะทาง Non-motor และ Fine motor พร้อมกันเพื่อทำงานบางสิ่ง
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        การเขียนหนังสือ
                      o

                        การวาดรูป
                      o

                        การต่อตัวต่อเล็กๆ
                      o

                        การทำงานศิลป งานฝีมือเล็กๆ
         3.

            Visual Processing Speed
                *

                  ความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        การอ่านหนังสือได้เร็ว
                      o

                        การเขียนหนังสือได้เร็ว
                      o

                        การวาดรูปได้เร็ว
                      o

                        การรับรู้และเข้าใจรูปภาพต่างๆได้เร็ว
                      o

                        การทำงานให้เสร็จได้ดีในเวลาที่จำกัด
   4.

      Visual Attention(Impulsive/Reflective)
                *

                  ความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหา แทนที่จะเดาสุ่ม
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        การทำงานที่ต้องใช้ความคิด
                      o

                        การแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์
                      o

                        การคิดวิเคราะห์ข้อมูลก่อนการตอบหรือแก้ปัญหา
   5.

      Eye Movements
                *

                  ความสามารถในการบังคับตาให้จับภาพและกรอกตาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ
                *

                  กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
                      o

                        การอ่านหนังสือ
                      o

                        การเล่นกีฬาที่มีการมองและความเร็วมาเกี่ยวข้อง เช่น ฟุตบอล เทนนิส บาสเกตบอล ปิงปอง ฯลฯ



จากการทดสอบย่อยที่กล่าวมา จะเห็นว่า VIP มี ความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และกิจกรรมอย่างหลากหลาย โดยการทำการทดสอบและบำบัดผู้ที่มีปัญหาเหล่านี้ ยิ่งทำได้เร็วจะยิ่งเป็นผลดีเท่านั้น

หมายเหตุ

    *

      การบำบัดจะได้ผลดี เมื่อความผิดปกติที่ยกตัวอย่างมาจากความบกพร่องของ VIP เท่านั้น ไม่รวมถึงจากสาเหตุอื่นเช่น ผู้ที่เป็นโรคที่มีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้เช่น Down Syndrome ผู้ได้รับบาดเจ็บทางสมอง ผู้พิการหรือผู้ที่เป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ฯลฯ
    *

      ก่อนตรวจ VIP ต้องแยกปัญหาอื่นๆออกจากปัญหา VIP ก่อนทุกครั้ง เช่น ปัญหาสายตา โรคตา ปัญหาการมองสองตา ปัญหาทางจิต ฯลฯ



ขอขอบคุณ อาจารย์ Andrya H. Lowther และ School of Optometry, Indiana University

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘