การลงทุนแบบ VI ยากหรือง่าย

ผมสงสัยมานานเหมือนกันว่า การลงทุนแบบ VI (Value Investment) ยากหรือง่าย เพราะอะไร และสิ่งไหนเป็นอุปสรรค หรือเส้นทางที่จำเป็นจะต้องฝ่าฝันเพื่อเป็นนักลงทุนแบบ VI ถ้าจะให้เปรียบผมขอเปรียบเหมือนขึ้นบันไดห้าขั้น
pt_warren_buffett_ent-lead__200x197
บันไดขั้นแรก คือการเปิดใจเรียนรู้และศรัทธาในสิ่งที่ทำ
หลายครั้งที่คุยกับเพื่อน ๆ รอบตัวที่เป็นนักลงทุน ผมพบว่าแท้จริงแล้วนักลงทุนทุกคน มีความมั่นใจสูงมากเสมอ แม้ภายนอกจะดูถ่อมตนหรือไม่ก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้เป็นอุปสรรคแรกให้คนปิดใจ ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แม้แต่ในทางกลับกัน ผมก็เห็น VI หลายคน ไม่เรียนรู้การดูเทคนิคหรือวิธีือื่น ๆ ถึงอยากรู้ก็ไปศึกษาแ่ต่เพียงผิวเผิน ดังนั้นแม้เปิดใจก็อาจจะไม่เพียงพอ “ความศรัทธา” ต่างหากที่เป็นอุปสรรคให้คนส่วนมากไม่ผ่านแม้แต่บันไดขั้นแรก
บันได้ขั้นที่สอง คือการศึกษา
ถ้าเป็นนักลงทุนแบบ VI อย่างน้อยก็จำเป็นที่จะศึกษาหรือมีกรอบวิธีเพื่อประเมินมูลค่าเสมอ ไม่ว่าจะพื้นฐานอย่าง PE (Price/Earning), ซับซ้อนขึ้นมาก็เป็น DCF (Discount Cash Flow model) หรือวิธีอื่น ๆ ที่ตำราจะว่ากัน รวมถึงความรู้ในตัวกิจการ ผู้บริหาร อุตสาหกรรม คู่แข่ง สินค้า ฯลฯ ถ้าสังเกตนักลงทุน VI ที่ประสบความสำเร็จทุกคน จะมีนิสัยรักการอ่าน ชอบศึกษา รู้จริง แตกต่างกับนักเล่นหุ้นที่โดยมากจะำจำได้เพียง “ราคาเมื่อวาน”
บันไดขั้นที่สาม คือจินตนาการ
ตรงนี้เป็นอะไรที่ยากขึ้นมาก และต้องใช้ทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการสร้าง ผู้บริหารต้องการวิสัยทัศน์ในการบริหารฉันใด นักลงทุนก็ต้องการวิสัยทัศน์ในการลงทุนฉันนั้น การมองเห็นในสิ่งที่คนอื่นยังมองไม่เห็นนั้น เป็นศิลป์มากกว่าศาสตร์ นอกจากนั้นแท้จริงแล้วการประเมินมูลค่าในแบบที่ใช้จินตนการมักจะมีคุณภาพดี กว่า การประเมินมูลค่าแบบตลาด ๆ ทั่วไป เพราะบริษัทต่างกัน แนวทางการประเมินจึงไม่จำเป็นต้องทำเหมือนในตำราเสมอไป ถ้านึกไม่ออกก็ให้ลองจินตนาการอาร์คิมิดิสตอนที่เขาลงอ่างอาบน้ำ แล้วนำหลักการแทนที่น้ำไปใช้พิสูจน์มงกุฎของพระราชาไฮเออรอน ใครล่ะจะไปคิดว่าการพิสูจน์มงกุฎจะใช้วิธีอื่นนอกจากตาชั่ง สิ่งนี้คือจินตนาการในแบบที่นักลงทุนแบบ VI ต้องการ
บันไดขั้นที่สี่ คือสติ สัมปชัญญะ
หลายครั้ง นักลงทุนมักขาดสติ เพราะราคาหุ้นเคลื่อนไหวแรงมาก บ้างก็ว่าตลาดผันผวน นักลงทุนต่างชาติ การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เกิดข้างนอก แต่เกิดขึ้นในใจเราต่างหาก นักลงทุนถูกสิ่งที่เรียกว่ากิเลส มากระทบผัสสะ จนทำให้สติในการคิดและตัดสินใจอ่อนด้อยลงไป ความกลัวและความโลภ คือศัตรูตัวฉกาจ นักลงทุน VI คือคนที่นอกจากมีอิสระทางความคิดจากตลาดแล้ว ต้องมีอิสระทางความคิดจากกิเลสตนเองอีกด้วย
บันไดขั้นที่ห้า คือการรักษาศีล
การรักษาศึลที่ว่าไม่ได้หมายถึงศีล 5 แต่การรักษา”ความเป็นปกติในแนวทาง VI” และบันไดขั้นสุดท้ายนี้ ถือเป็นสุดยอดหินที่จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบข้างต้นทั้งหมดครบบริบูรณ์ และต้องร้อยเรียงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและยาวนานเพียงพอ ขึ้นชื่อว่าศีล ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แต่ทุก ๆ คนก็มักละเมิดเผลอเรออยู่เสมอ ส่วนนี้ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือจะต้องมีผู้ร่วมปฏิบัติ หรือมีเพื่อนอยู่ข้าง ๆ กัลยานมิตรจะอุปถัมภ์ค้ำชูกัน และคอยเตือนทุกครั้งที่เราประมาทในชีวิตการลงทุน
กลับมาที่คำถามที่ถูกตั้งแต่แรกว่าการลงทุนแบบ VI ยากหรือง่าย ผมว่ามีแต่ผู้ที่ลองขึ้นบันไดแล้วเท่านั้นที่จะรู้คำตอบ
หมายเหตุ : หลักการของการลงทุนแบบ VI คือ ซื้อหุ้นเสมือนเราลงทุนเป็นเจ้าของกิจการ โดยซื้อที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า และถือไปเรื่อย ๆ จนกว่าราคาจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘