Failure is the best component of Success

ขอทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ในปีนี้เป็นประโยคสั้น ๆ ว่า “จงรีบหัดที่จะแพ้ ก่อนสงครามใหญ่จะมาถึง”
ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิงถูกกลุ่มประเทศยุโรปเหยียบย่ำ เผาพระราชวังฤดูร้อน และหลังจากดร.ซุนยัดเซ็นกอบกู้ประเทศได้ไม่นาน ก็ต้องมาย่อยยับจากสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อมาในยุคประธานเหมา จีนมีโอกาสเรียนรู้ที่จะพ่ายแพ้มากยิ่งกว่าเดิม ตั้งแต่สงครามเกาหลี กลุ่มกบฎไม่ว่างเว้นแต่ละปี การปฏิวัติวัฒนธรรม การปฏิรูปทางการเมือง จีนใช้เวลานานกว่า 80 ปี (นับจริง ๆอาจจะนานกว่านี้ เป็นร้อยปี) กว่าที่จะเข้าสู่ยุคทองที่ยิ่งใหญ่ของจีนในช่วงตั้งแต่รัฐบาลเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่ GDP เติบโตเฉลี่ย 10% เป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ ยี่สิบปีที่แล้วไม่มีใครเคยคิดว่าประเทศนี้จะสามารถท้าทายกับประเทศสหรัฐ อเมริกา ประเทศที่ไร้คู่เปรียบเทียบตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลง

ภาพ การยอมรับการพ่ายแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขของประเทศญี่ปุ่นในสงครามภาคพื้นแปซิฟิค
ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศชั้นนำของโลก อย่างประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะยับเยินจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (ที่ใช้เวลาฟื้นฟูระดับอัศจรรย์เพียงแค่ไม่กี่ทศวรรษ) ต้องผ่านช่วงลำบากตั้งแต่เอโดะ เมย์จิ การปฏิรูปประเทศที่ผ่านความเจ็บปวด อีกทั้งต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติโดยตลอด ประเทศฝรั่งเศส บอบช้ำจากสงครามที่ยาวนานกว่า 100 ปี กับอังกฤษ ก็กลับมายิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจยุโรป (ถ้าไม่ติดที่นิสัยคนฝรั่งเศสที่ค่อนข้างต้องการความสมดุลในชีวิต คงไปได้ไกลกว่านี้) ประเทศเยอรมัน อิตาลี รัสเซีย สหรัฐ ไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่ไม่เคยแพ้สงครามย่อย ๆ ก่อน หรือต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมากมาก่อนที่จะวางเดิมพัน”ขนาดใหญ่” ที่เปลี่ยนชะตากรรมประเทศตลอดไป
ดังนั้นช่วงเวลาฟื้นฟูหลังจากสงครามใหญ่ ๆ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญนักในมุมมองผม สิ่งที่ผมเชื่อว่าสำคัญกว่ามาก คือ การศึกย่อยที่ช่วยสร้าง “พื้นฐาน” ของแต่ละประเทศ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมายาวนาน หยั่งรากไปถึงประชาชนในชาติ ความ”ฟลุ้ค” ไม่สามารถนำพาประเทศกลับมาได้ ประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานที่ยอดเยี่ยมมาก่อนต่างหาก ยิ่งแพ้การศึกย่อย ๆ บ่อยเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้พื้นฐานเข้มแข็งขึ้น
เปรียบเทียบชีวิตการลงทุนที่ยาวนาน Hamburger Crisis คงไม่ใช่สงครามใหญ่ แต่เป็นสงครามย่อยที่เราจะต้องผ่านมันไป และหัดที่จะเรียนรู้ที่จะแพ้(ขาดทุน) ปีนี้ก็เช่นกัน ถ้าขึ้นรถ ไม่ทัน ก็หัดเรียนรู้ที่จะแพ้(ขาดทุนโอกาสกำไร) ทุกครั้งที่เข้มแข็งขึ้น การตัดสินใจเราจะดีขึ้น กล้า วางเดิมพันมากขึ้น มองภาพเล็ก ภาพใหญ่ออกจากกันได้ดีขึ้น รู้จักจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กำหนดชัยชนะ
การลงทุนในปีที่ผ่านมาถือว่าได้เรียนรู้ คุ้มค่า ผลตอบแทนที่ทำได้ประมาณ 100% ก็คงไม่มากไม่น้อย ผลตอบแทนกลาง ๆ จากหุ้นที่ค่อนข้างปลอดภัย ดีใจที่ชนะตลาดติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ขนาดพอร์ตปีนี้โตขึ้นมากเกือบ 3 เท่า จากการเพิ่มทุนใหม่เข้าไปจำนวนมาก พอร์ตหุ้นไม่กระจายตัวเกินไป มีการวางหุ้นในระยะกลาง ระยะยาว ได้ซื้อหุ้นตัวใหม่เข้าพอร์ต 12 ตัว คัดทิ้ง 13 ตัว (ปีนี้เป็นปีหนึ่งที่ขายหุ้นเร็วเกินไป โดยเฉพาะต้นปี) เงินปันผลเติบโต 40%
ความพ่ายแพ้ในปีที่แล้ว และต้นปีนี้ จะเป็นบทเรียนล้ำค่า แม้ผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่มันคงเป็นบทพิสูจน์บนเส้นทางหมื่นลี้ ไม่เคยกลัวความล้มเหลว เพราะมันคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ
Failure is the best component of Success (when you’ve learnt from it and got second chance :D )

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘