ความอดทน

สำหรับนักลงทุนแล้ว ผมคิดว่าความอดทนหรือความอึดเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในระยะยาว
นักลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ หลายครั้งมาจากที่พวกเขาไม่มีความอึดเพียงพอ หรือไม่อดทนเพียงพอที่ถือหุ้นเพื่อที่จะรอคอยวันของมัน หลายคนถือไม่นาน หุ้นขึ้นไปไม่เท่าไหร่ก็ขายออกไปก่อน หรือเจอปัญหาอุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็เปลี่ยนใจจากสิ่งที่ตัวเองคิดไปได้อย่างรวดเร็ว
หรืออีกอย่างหนึ่งคืออดทนถือเงินสดไว้ไม่ได้นาน ยึดหลักว่าการลงทุนหุ้นต้องมีหุ้นในมือเท่านั้น (จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าไม่อดทนที่ถือเงินสด แต่ไม่อดทนที่จะทำการบ้านในการค้นหาหุ้นต่อไป) แบบนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเลือกหุ้นประเภทหยวน ๆ เข้ามาในพอร์ต ที่แย่ไปกว่านั้นคือซื้อตามคนอื่นโดยไม่เข้าใจตัวธุรกิจจริง ๆ ความเสียหายถ้าเกิดขึ้นในกรณีนี้จะสูงมาก อันที่จริงกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วหลังจากวิกฤต subprime ผมคิดว่านักลงทุนปัจจุบันหาได้น้อยที่จะมีการบริหารเงินสด หรือมีแผนสองสำหรับการเผชิญวิกฤตหรือปัญหารอบใหม่
บางครั้งมีคนแย้งว่า ความอึดกับความดื้อเป็นสิ่งที่คล้าย ๆ กัน และความดื้ออาจจะนำพาให้การลงทุนสู่หายนะ (เช่นการพยายามซื้อถัวเฉลี่ยขาลง หรือการพยายามฝืนถือต่อ) แต่หลายครั้งคุณจะเห็นว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็เพราะมีความดื้อที่ จะทำตามสิ่งที่ตัวเองคิด ทำตามสิ่งที่ตัวเองเชื่อจนนำพาให้ไปสู่จุดนั้นได้ อย่างไรก็ดีกับดักของนักลงทุนข้อนี้สามารถบริหารได้ถ้ามีการจัดพอร์ตโฟลิโอ หรือโครงสร้างที่ดีเพียงพอ
จากประสบการณ์การลงทุนส่วนตัวตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ผมนั่งย้อนไล่กลับไปดูเหตุการณ์ต่าง ๆ พบว่ามีสิ่งที่ชวนให้นักลงทุนไขว้เขว และลดละเลิกความตั้งใจไปได้มากมาย ผมจะลองสรุป ๆ ขึ้นมาดู
1. เห็นดัชนีหุ้นผันผวน
ดัชนีหุ้นเป็นสิ่งที่ผันผวนมาก ถ้าลอง google ดูคำว่าดัชนีหุ้น และคำว่าผันผวน คุณจะตกใจกับผลลัพท์ที่เกิดขึ้น (ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะดัชนี SET ถูกถ่วงน้ำหนักโดยหุ้นกลุ่มที่เป็น commodities เช่นกลุ่มพลังงานเป็นหลัก และกลุ่มเหล่านี้ก็อ่อนไหวต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ) ดังนั้นหลายครั้งจะพบว่าดัชนีหุ้นส่งผลต่อความอึดของนักลงทุนมาก เพราะนักลงทุนมักจะมองหาดัชนีก่อนเป็นสิ่งแรก เมื่อสิ่งยึดเหนี่ยวถูกสั่นคลอน ย่อมส่งผลต่อสภาวะจิตใจ เช่นขายออกมาดูสถานการณ์ก่อน ความไม่อดทนต่อสภาวะดัชนี ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญสำหรับนักลงทุนโดยส่วนใหญ่
2. เห็นราคาหุ้นผันผวน
นอกจากดัชนีหุ้น หุ้นหลาย ๆ ตัวจากสภาวะอุตสาหกรรมหรือหุ้นที่อยู่ในสภาวะการเติบโต มักจะมีราคาหุ้นที่ค่อนข้างผันผวน บางครั้งนักลงทุนมองหาประโยชน์เพียงเล็กน้อย เพื่อทำกำไรกับการผันผวนในระยะสั้น แต่สิ่งที่เราวางเดิมพันไปคือ สุดยอดหุ้น ที่อาจจะทำให้เราไม่กล้าซื้อกลับมาในราคาที่สูงกว่าเดิม ผมเห็นหลายครั้งที่หุ้นวิ่งถึงสิบเปอร์เซนต์ในวันเดียว พาให้คนปล่อยหุ้นดี ๆ หลุดมือได้ง่ายเกินไป
3. เห็นหุ้นตัวอื่นวิ่งดีกว่า
สนามหญ้าข้างบ้านมักเขียวกว่าบ้านตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราเห็นหุ้นตัวอื่นขึ้นมากกว่าคือความอิจฉา ซึ่งบั่นทอนความอดทนของคุณได้อย่างร้ายกาจ จำไว้ว่าการมีหุ้นอยู่ในเรดาห์หลายตัว ไม่ใช่เพราะเราจะไปมองหุ้นที่เราไม่ได้ถือมันวิ่ง แล้วไปเจ็บใจกับมัน แต่เป็นการมองหาหุ้นที่ราคาถูกลงอย่างไม่สมเหตุสมผล แล้วซื้อมัน จงจดจ่อกับสิ่งที่ถูกต้อง
4. เห็นหุ้นตัวเองนิ่งเป็นระยะเวลานาน
บางครั้งหุ้นนิ่งก็เป็นเพราะเราคิดผิด แต่หลายครั้งกำไรของกิจการดีขึ้นแต่หุ้นกลับยังไม่ขึ้น จำไว้ว่าการปรับตัวของหุ้นมักไม่ค่อยจะเป็นกราฟเส้นตรงซักเท่าไหร่ แต่จะเป็นการยกฐานขึ้นมาเป็นพัก ๆ และการที่หุ้นจะขึ้นได้จำเป็นจะต้องรอให้คนในตลาดจำนวนมากพอเห็นด้วยกับความ คิดของเรา ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลา
5. ขาดเพื่อนหรือกำลังใจ
นักลงทุนต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางใจมาก ไม่แปลกใจที่คนชอบฟังคนอื่นพูดชมหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ การมีเพื่อนช่วยให้เรามีโอกาสทบทวนการลงทุน แต่บางทีเพื่อนอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดี ผมเห็นหลายคนออกแนวงมงายซะมากกว่า แต่กำลังใจเราต่างหากคือเพื่อนที่ดีที่สุด นักวิ่งมาราธอนวิ่งแข่งกับตัวเอง ใช้จิตตัวเองเป็นเพื่อน การลงทุนคือการวิ่งให้ถึงเส้นชัย ถ้าวิ่งเร็วแต่ไปไม่ถึงเส้นชัย ไม่มีประโยชน์
เวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของนักลงทุนระยะยาวซึ่งคู่กับความอดทน ความอึดอัดจากการรอคอยเป็นอุปสรรคสำคัญ เทคนิคสำคัญเวลาเราจะต้องรออะไรบางอย่างคือ อย่ามอง “นาฬิกา” หรือในที่นี้คือราคาหุ้น หากิจกรรมทำที่จะให้เวลาที่เรารอคอยมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนั้นการเข้าใจธรรมชาติจะช่วยเราได้มาก หากเราจะต้องรอ 20 ปีให้คนเราเติบโตจากเล็กเป็นผู้ใหญ่ รอ 10 ปีให้กิจการเติบโต เราก็ต้องรอ ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘