แนวโน้มการลงทุนในอนาคต


การลงทุนระยะยาวที่ดี นอกจากการดูที่ตัวบริษัทแล้ว ยังต้องมองเห็นแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจนั้น ๆ ยิ่งถ้าเป็นแนวโน้มใหญ่อย่าง Megatrend ก็จะยิ่งอำนวยให้การลงทุนมีผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในมุมมองของ Professor ที่ผมเรียนด้วยใน MBA ของจีน ซึ่งแนวโน้มเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ และเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ
วันนี้ผมเลยลองนั่งนึก ๆ ดู แทนที่จะมองว่าแนวโน้มธุรกิจจะเป็นอย่างไร แต่มองว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับการลงทุนในอนาคตบ้าง
1. การลงทุนต่างประเทศ
เพราะตลาดทุนในอนาคตคงเชื่อมโยงกันหมด อย่างน้อยก็ใน ASEAN ที่คงรออีกไม่นานเราคงสามารถเทรดกับตลาดมาเลเซีย สิงค์โปร์ ฯลฯ ได้ และปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศแบบนี้ก็มีมากมายและแพร่หลายในประเทศ เจริญแล้ว (ประเทศไทยก็เริ่มมีกองทุนประเภท fund of fund ให้เห็นเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ) ดังนั้นการลงทุนอาจจะเหมือนธุรกิจก็ได้นะครับ ว่าใครมี exposure หรือความสามารถด้านภาษา อาจจะได้เปรียบกว่า
2. สภาวะการแข่งขันสูง
ความยากในการลงทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เหมือนกับที่เรามองย้อนไปดูธุรกิจสมัยก่อน ๆ ที่มีการแข่งขันน้อยกว่าปัจจุบัน หุ้นในอดีตที่ undervalue หาได้ง่ายกว่า PE เฉลี่ยถูกกว่า ปัจจุบันนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะต้องเสี่ยงมากขึ้น หรือรับผลตอบแทนที่น้อยลง สาเหตุมีหลาย ๆ อย่าง แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากนักลงทุนคุณภาพที่เพิ่มขึ้นในตลาด(ซึ่งไม่ออกจากตลาด) และปริมาณนักลงทุนใหม่ ๆ ที่มากขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการแข่งขันในอนาคตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
3. อายุเฉลี่ยของนักลงทุนจะลดลง
คิดถึง Megatrend เรื่อง aging economy ที่คนจะสูงวัยขึ้น แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างในเอเชีย อายุเฉลี่ยนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีอายุลดลง เนื่องจากการศึกษาและกระแสที่คนสมัยใหม่อยากจะมีอิสรภาพทางการเงินมากกว่า แต่ก่อน และมีแนวโน้ม work – life balance สูง ไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่มุ่งทำงานเก็บเงิน แรงขับเคลื่อนสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ปริมาณเงินในระบบที่มาก กดอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ตลอด (คนสมัยใหม่ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะกู้เงินมาทำธุรกิจเหมือนแต่ก่อน ยิ่งทำให้เงินถูกดูดซับน้อยลงอีก) สิ่งที่จะให้คำตอบจากสภาวะแวดล้อมข้างต้นที่คนสมัยใหม่หาได้อยู่มีอย่าง เดียวที่เห็นเด่นชัดในปัจจุบัน คือการลงทุนในตลาดหุ้น
4. เกิดการบริหารพอร์ตโฟลิโอ
สินค้าทางตลาดเงินและตลาดทุนมีเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วมากในช่วงหลายปีที่ ผ่านมา ตั้งแต่หุ้นกู้ อนุพันธ์แบบต่าง ๆ สินค้าโภคภัณฑ์ ETF ฯลฯ ดังนั้นพอร์ตโฟลิโอจะมีความหลากหลายขึ้น คนที่ลงทุนหุ้นจะไม่จำกัดเฉพาะหุ้น หรือคนลงทุนในตลาดเงินอย่างพันธบัตร หรือเงินฝากธนาคารจะเริ่มถือครองหลักทรัพย์อย่างอื่นด้วย การที่มีการบริหารพอร์ต สลับไปมาระหว่างสินทรัพย์รูปแบบต่าง ๆ ยิ่งเพิ่มความผันผวนของหลักทรัพย์ต่าง ๆ อีก การถือหลักทรัพย์ประเภทเดียวอาจจะทำให้ผลตอบแทนเกิดความผันผวนสูง ก็ส่งผลให้เกิดการบริหารพอร์ตโฟลิโอขึ้นอีก (เป็น cause-effect ที่วนไปมา)
5. แนวทางในการลงทุนจะมีหลากหลายขึ้น
นอกจากตัวสินค้าแล้ว “วิธี” การลงทุนจะมีความหลากหลาย การลงทุนจะแบ่งเป็น segment ย่อย ๆ เพิ่มขึ้น อย่างการลงทุนแนวคุณค่า (Value Investment) ก็จะแบ่งออกเป็นหลาย ๆ แบบ โดยเป็นวิธีการเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะตัว แนวคิดทางการลงทุนอาจจะเข้มข้นเหมือนแนวคิดด้านอื่น ๆ เช่นศาสนา หรือการเมือง
อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนพลิกโฉมหน้าไปอย่างไร หรือจะมีนักลงทุนเข้ามาในตลาดมากมายขนาดไหน สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวในนักลงทุนสามารถอยู่ในกระแสได้คือการรักษาความสมดุล ระหว่าง ความศรัทธาใน “หลักการ” ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปไหน เช่นหลักการลงทุนต่าง ๆ (หนังสือบางเล่มถูกเขียนมาเกือบร้อยปีและยังคงถูกใช้ต่อไป) และ”การปรับตัว”เพื่อรับการเปลี่ยนแปลง ตามทฤษฎีคลาสสิกเรื่องวิวัฒนาการของชาร์ล ดาวินต์ ว่าผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่เข้มแข็ง แต่เป็นผู้ที่ปรับตัวได้ ประกอบกับสุดยอดวลีที่เราไม่ควรลืมเลยคือ ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเสมอไม่ว่าอนาคตจะไปไกลแค่ไหนก็ตาม

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘