ก้าวแรกของการลงทุน

สิ่งที่สำคัญที่สุดตลอดชีวิตการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเริ่มต้นของการลงทุนใหม่ ๆ มีเพียงอย่างเดียว
คือ “ห้ามขาดทุน” โดยไม่จำเป็นที่คำนึงถึงผลการลงทุนคุณ ว่าจะดีเลิศ หรือย่ำแย่กว่าตลาด
ห้ามขาดทุน เป็นกฎที่สำคัญที่สุด และวอร์เรน บัฟเฟต ถือมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในวิธีการลงทุนของเขาทีเดียว เพราะการลงทุนแบบบัฟเฟต ไม่ใช่การลงทุนที่ได้กำไรมากมายมหาศาลในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นการลงทุนแบบยาวนานโดยหวังผลจากพลังของผลตอบแทนทบต้น ดังนั้นถ้าไปดูประวัติผลตอบแทนของบัฟเฟตตั้งแต่ 1956 จะมีขาดทุนเพียงสองครั้งเท่านั้น (เทียบกับตลาดที่ติดลบเกือบยี่สิบครั้ง และมีหลายครั้งที่หนักมาก)
อันที่จริง มนุษย์มีความกลัวความเสี่ยง(Risk Averse) ฝังอยู่ในยีน คืออารมณ์ที่มนุษย์ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เพื่อให้ได้รับผลลัพท์ที่มีความแน่นอนหรือมั่นคงกว่า นักจิตวิทยารางวัลโนเบล อย่าง Daniel Kahneman เคยทำการทดลอง จำลองเหตุการณ์สองอย่างคือ สถานการณ์สมมุติที่มนุษย์ 600 คนจะตายด้วยโรคติดต่อ ถ้าเลือก Plan A จะมีคนรอดแน่นอน 200 คน แต่ถ้าเลือก Plan B โอกาสที่ทั้งหมด 600 คนรอดคือหนึ่งในสาม และแต่มีโอกาสสองในสามที่จะตายทั้งหมด และคนส่วนมากเลือก Plan A เนื่องจากกลัวความเสี่ยง (ทั้งที่จริงแล้วสองผลลัพท์ที่ค่าเท่ากัน)
แต่ในความเป็นจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับการลงทุนครั้งแรก ๆ คือนักลงทุนมือใหม่มักมีความเชื่อสูง หรือมีแนวโน้มเข้าข้างตัวเองว่า การตัดสินใจนั้นเป็นการตัดสินใจที่มีผลลัพท์ค่อนข้างแน่ (ว่ากำไร) แต่ในความเป็นจริง ย่อมมีปัจจัยที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะการลงทุนในสิ่งที่ไม่เคยทำ หรือยังมีความเชี่ยวชาญน้อย
พอเกิดขาดทุนขึ้น การพินิจพิเคราะห์ สติ และการตัดสินใจของคนจะตกลงมาก มนุษย์กลัวการสูญเสียเป็นที่สุด นอกจากมันจะส่งผลกับระบบทางจิตใจแล้วยังส่งผลต่อร่างกายอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่ร่างกายตอบสนองคือความต้องการจะหลุดออกจากสภาวะนี้ให้เร็วที่ สุด
วิธีเดียวที่จะทำให้ความรู้สึกนี้ออกไปได้เร็วที่สุด คือ “การเอาชนะคืนให้เร็วที่สุด” ดังนั้นกลไกนี้จะพาให้เกิดการตัดสินใจเร็วขึ้น ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ความเจ็บปวดนี้หมดไป และโดยมากแล้ว ก็จะพาให้นักลงทุนถึงจุดจบ คือออกจากตลาดในที่สุด
วิธีแก้ไข คือนอกจากการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการลงทุน ยังควรจะลงทุนในกรอบต้นทุนที่ตนเองจัดการได้ เพราะการการยอมรับความสูญเสียเป็นอัตราส่วนสัมพันธ์กับสิ่งที่สร้างสมมาจาก ประสบการณ์ ตัวอย่างง่าย ๆ คือ ถ้าเศรษฐีทำเงินหาย 100,000 บาท คงรู้สึกสูญเสียไม่เท่ากับคนชั้นกลางทั่วไป
ดังนั้นให้แน่ใจว่าเราสามารถยอมรับความสูญเสียได้ การลงทุนจำเป็นที่จะต้องวางแผนช้า ๆ แต่เด็ดขาดในการตัดสินใจ
ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม สุภาษิตนี้ใช้ได้ดีในตลาดหุ้นเสมอ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘