อคติและการลงทุน

สมองเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมาก เพราะนอกจากจะควบคุมการทำงานของร่างกายมนุษย์ให้ดำเนินไปอย่างปกติแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิต ตั้งแต่คุณตื่นขึ้นมาตอนเช้า จนกระทั่งปิดตาเข้านอน

ภาพ จาก wiki ความสัมพันธ์ของกลไกสมอง http://en.wikipedia.org/wiki/Defense_mechanism
ด้วยการทำงานที่หนักของมันตลอดเวลา สมองจึงมีวิธีการมากมาย เพื่อจะลดภาระ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้เหตุผล (Rationalization) ในการตัดสินใจทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าคิดดูดี ๆ แล้ว วัน ๆ หนึ่งเราจะต้องตัดสินใจอะไรมากมายไปเสียทุกเรื่อง ดังนั้นการทำงานในส่วนนี้สมองจะต้องรับเป็นภาระที่หนักมาก
กลไกในการลดภาระของการใช้ตรรกะและเหตุผลของสมอง คือการใช้ “อคติ” ซิกมัน ฟรอยด์ บอกว่ากลไกการใช้เหตุผล Rationalization มีความหมายเดียวกับการหาข้อแก้ตัว หรือ Making excuse หรือเป็นกลไกการปกป้องความคิดของตัวเอง เพื่อมิให้สมองต้องคิดอะไรซับซ้อน หรือรู้สึกแย่ในความคิดตัวเอง (ทั้งในอดีตและปัจจุบัน) กลไกนี้จึงเข้ามาทำงาน
ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นได้ชัดคือ ถ้าสมองมีเหตุผลมาก ๆ คนทุกคนควรจะต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน เช่นไม่สูบบุหรี่ เพราะจะทำลายสุขภาพ กินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ทางการเมืองล่าสุด พฤษภา 53 ผมคิดว่าไม่มีใครที่คิดว่าตัวเองผิด (เท่าที่ถามมาก็พบว่าเป็นอย่างนั้น) ไม่ว่าจะฝ่ายไหน สีอะไร สาเหตุคือทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีสมองภายใต้กลไกนี้
หากการลงทุนที่ดี คือการใช้เหตุและผล ไม่ใช่การใช้อารมณ์ กลไกทางสมองนีเป็นสิ่งที่เราควรจะศึกษาอย่างยิ่งยวด
อคติที่พบเห็นบ่อย ๆ มีอยู่หลายหลาก สิ่งหนึ่งคือ เรามักจะคิดว่าสิ่งที่พบเห็นบ่อย ๆ เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่นถ้าเราไปเมืองจีนครั้งแรก เห็นคนจีนกินบะหมี่ติด ๆ กันสองสามร้าน เราก็จะคิดว่าคนจีนกินบะหมี่เป็นอาหารประจำวัน (ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงอาจจะกินข้าว, หมั่นโถ ก็ได้) อีกสิ่งหนึ่งคือถ้าเรามีความทรงจำอะไรบางอย่าง แต่ขาดหายไป สมองจะมีอคติเติมให้โดยอัตโนมัติ เช่นถ้าเราคลับคล้ายคลับคลากับเหตุการณ์หนึ่ง และมันเกิดซ้ำขึ้น เราจะคิดว่าเราฝันเห็นอนาคต
กลไกการเข้าข้างตัวเองหรือเข้าข้างพวกตัวเองก็คืออคติอีกอย่างหนึ่ง กลไกทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น มีมาตั้งแต่สมัยมนุษย์เริ่มจะใช้เหตุและผล (อยู่บนวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด) เพราะถ้าคิดถึงความน่าจะเป็น เหตุการณ์ที่เกิดบ่อย ๆ น่าจะถูกมากกว่าผิด หรือแม้กระทั่งการเข้าข้างพวกตัวเอง ก็มีส่วนให้เราอยู่รอดได้มากกว่าที่เราจะไปเข้าข้างคนเผ่าอื่น ความสามัคคีก็เป็นผลพวงจากอคติตัวนี้
ผมคิดว่าอคติเกิดขึ้นมากในชีวิตการลงทุน เหตุการณ์บางอย่างเรามักมองมันดีเกินไป และแย่เกินไป หรือเราก็ยึดติดกับการตัดสินใจบางอย่างมากจนเกินไป เช่นถือหุ้น ไม่ขาย หรือขายหุ้นทั้งที่ตั้งใจจะถือยาว ๆ หรือเชื่อมั่นในหุ้นมากเกินไป (เพราะอดีตที่ผ่านมาดี) หรือมีความเห็นในลักษณะที่ว่า “คิดว่า” เป็นจำนวนมาก
อีกอย่างที่ผมเห็นบ่อย ๆ คือ ถ้ามีคนพูดถึงหุ้นตัวไหนมาก ๆ คนจะตีความว่าสิ่งนั้นดี มีพวก และปลอดภัย เราะจะเห็นหุ้นหลายตัวที่มีความสุดยอดขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวธุรกิจไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปไหน หรือหุ้นบางตัวก็แย่ลงกระทันหัน ทั้ง ๆ ที่ทุก ๆ อย่างก็เหมือนเดิม เวลาเราจะซื้อหุ้นที่ทุกคนว่าดี ด้วยราคาแพง ๆ PE สูง ๆ เราจะมีอคติทันทีว่า หุ้นมันดี มันเลยราคาแพง (คนส่วนมากคิดว่ามันคือเหตุผล แต่จริง ๆ มันคือการหาข้อแก้ตัว) หรือถ้าซื้อหุ้นตัวไหนที่ PE ต่ำ ๆ เราจะคิดว่าคุ้มมาก ถูกมาก
ผมมีวิธีลดอคติได้ ศาสนาพุทธบอกว่าสิ่งนี้คืออัตตา คือตัวตน ภาษาอังกฤษในเชิงจิตวิทยาเรียกว่า ego/super ego พระพุทธองค์ค้นพบก่อนซิกมัน ฟรอยด์เป็นพัน ๆ ปี แถมพระองค์ยังแนะนำวิธีการลดอัตตาที่ได้ผล ไม่จำกัดกาลด้วย คือการเจริญสติภาวนา
สติมา เกิด สมาธิ เกิด ปัญญา แสงสว่างแห่งปัญญา จะนำให้ทุกท่านเห็นถึงความจริง ยิ่งมีสติมากเท่าไหร่ (ต้องมีสติแบบที่ไม่ได้อคติว่าตัวเองมีสติด้วย) มันจะทำให้คุณลงทุนได้ดีขึ้นมากในทันที โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเลย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘