เล่นหุ้นตามสูตร

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น  เซอร์ จอห์น เทมเปิลตัน   ตำนานนักลงทุนเอกของโลก  ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นหนุ่มและไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร  ได้เกิดความเชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นซึ่งตกต่ำมายาวนานถึงสิบปีแล้วน่าจะถึงจุดต่ำสุดและทุกอย่างกำลังจะฟื้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  หุ้น ซินเดอเรลลา  ซึ่งก็คือหุ้นที่ไม่มีใครเหลียวแลหรือคิดว่าเหมาะสมสำหรับการลงทุน  เพราะว่ามันอาจจะเป็นหุ้นที่  เน่าสนิท   ดังนั้น  ในวันหนึ่งเขาจึงโทรหาโบรกเกอร์และสั่งซื้อหุ้นทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญ  โดยซื้อตัวละ 100 หุ้น  เขาได้หุ้นมา 104 ตัวและใช้เงินไปประมาณ 10,000 เหรียญ   สี่ปีต่อมา  เขาขายหุ้นทั้งหมดทิ้ง  ได้เงินมาประมาณ 40,000 เหรียญ หรือถ้าคิดเป็นเงินปัจจุบันก็ประมาณเท่ากับ 1 ล้านเหรียญ คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 41 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย
            กลยุทธ์การลงทุนที่เทมเปิลตันทำนั้น  เป็นการลงทุนที่มิได้วิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว  แต่เลือกหุ้นโดยอาศัยกฏเกณฑ์ตายตัวชุดหนึ่ง  ในกรณีของเขาก็คือ  การ เลือกหุ้นที่มีราคาตกต่ำมากจนเกือบไม่มีค่านั่นคือราคาหุ้นต่ำกว่า 1 เหรียญ ซึ่งในตลาดสหรัฐอเมริกาก็คือหุ้นที่มีราคาต่ำมากเปรียบเสมือนกับหุ้นราคาตัว ละไม่เกิน 1 บาทในตลาดหุ้นไทย  ทฤษฎีของเขาก็คือ  ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวนั้น  หุ้นที่มีราคาตกต่ำมากที่สุดจะมีการฟื้นตัวเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่สุด  - โดยเฉลี่ย  นั่นไม่ได้หมายความว่าหุ้นราคาต่ำกว่า 1 เหรียญทุกตัวจะต้องฟื้นตัว  หุ้นหลาย ๆ  ตัวอาจจะไม่ฟื้นเลยหรือบางตัวอาจจะตกต่ำลงและมีค่าเป็นศูนย์   แต่หุ้นอีกหลายตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าตัวซึ่งทำให้พอร์ตโดยรวมแล้วให้ผลตอบแทนสูงมาก  และนี่ก็คือสิ่งที่เทมเปิลตันทำและก็ประสบความสำเร็จ  หลักการเลือกหุ้นแบบนี้  ในทางวิชาการเรียกว่า  Mechanical Rule ผมเองอยากจะเรียกว่า  ลงทุนหุ้นตามสูตร
          การเล่นหุ้นตามสูตรนั้น  กฏข้อแรกก็คือ  การมองหา ภาพใหญ่  หรือทฤษฎีว่าอะไรจะเกิดขึ้นหรือหุ้นกลุ่มไหนจะให้ผลตอบแทนสูงในช่วงเวลาหนึ่ง  กฏข้อสองก็คือ  หา  ตัวแทนหรือข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นที่จะเป็นตัวแทนของหุ้นตามทฤษฎีนั้น  พูดให้ง่ายก็คือการหา สูตร สำหรับเลือกหุ้นลงทุน  กฏข้อสามก็คือ  การเลือกหุ้นที่เข้าเกณฑ์หรือเป็นไปตามสูตรนั้น  กฏข้อสี่ก็คือ  ต้องเลือกซื้อหุ้นทุกตัวที่เข้าเกณฑ์ตามสูตรไม่มีข้อยกเว้น  อย่าใช้วิจารณญาณ  กฏข้อที่ห้าก็คือ  การติดตามดูผลตอบแทนของการลงทุนทุกช่วงเวลาที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนดเป็นปี ๆ  เป็นเวลาหลายปี  และกฏข้อสุดท้ายก็คือ  การกำหนดเวลาเลิกลงทุนซึ่งก็คือการดูว่าเราควรเลิกและล้างพอร์ตเมื่อไร
            ในกรณีของเทมเปิลตันนั้น  ทฤษฎีของเขาก็คือ  ในยามที่เกิดสงครามขึ้น  ค่าของเงินมักจะเสื่อมลง  เงินอาจจะเสื่อมค่าลงมากเนื่องจากอาจจะมีการพิมพ์เงินขึ้นมาเพื่อใช้ในการสงคราม  เงินเฟ้อจะสูงขึ้นมาก  ตรงกันข้าม  สิ่งของต่าง ๆ  จะมีค่ามากขึ้น  และสิ่งของนั้นรวมถึงสิ่งของที่มีหุ้นเป็นตัวแทน  เช่น  สินค้า  โรงงาน  วัตถุดิบ  และอื่น ๆ  อีกมาก เฉพาะที่ไม่ถูกกระทบโดยผลของสงครามอย่างในอเมริกา  ดังนั้น  ความเชื่อของเขาก็คือ  หุ้นจะฟื้นตัว  และในหุ้นที่ฟื้นตัวนั้น  หุ้นที่ตกต่ำที่สุดจะฟื้นตัวได้มากที่สุด  และ ตัวแทนของหุ้นที่ตกต่ำลงมากที่สุดสำหรับเขาก็คือหุ้นที่มีราคาต่ำที่สุดซึ่ง เขาใช้สูตรหรือเกณฑ์ว่าเป็นหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญ  การซื้อหุ้นของเขานั้นจะไม่มีการใช้วิจารณญาณ  ไม่ต้องดูว่าหุ้นตัวไหนอาจจะไปไม่รอด  เพราะเขาไม่รู้จริง ๆ  เหนือสิ่งอื่นใด  หุ้นที่มีราคาต่ำกว่า 1 เหรียญทุกตัวก็มีโอกาสล้มละลายทั้งนั้น  การเลือกอาจจะทำให้เขาพลาดหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้น 10 เด้งหรือกำไร 10 เท่าตัวก็ได้  หลังจากซื้อหุ้นแล้ว  เขาคงติดตามดูผลตอบแทนไปเรื่อย ๆ   และเมื่อเวลาผ่านไปถึง  4  ปี  และเขาได้กำไรมามากแล้ว  เขาก็อาจพิจารณาว่า  การฟื้นตัวนั้นสิ้นสุดลงแล้ว  การถือลงทุนต่อไปก็อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีอีกต่อไป  เขาจึงขายหุ้นทั้งหมดทิ้งและเป็นการ ปิดเกม  การเล่นหุ้นตามสูตรนี้
            การเล่นหุ้นตามสูตรที่มีการศึกษาโดยนักวิชาการนั้นมีมากมาย  สูตรที่มีการทดลองหรือทดสอบโดยข้อมูลย้อนหลังที่โดดเด่นมากนั้น   เป็นสูตรการเล่นหุ้นแบบ Value Investment  นั่นก็คือ  ทฤษฎีมีอยู่ว่าการลงทุนแบบ VI นั้น  เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนตามดัชนีตลาดโดยเฉลี่ย  นี่คือทฤษฎีตามกฏข้อที่หนึ่ง  ข้อที่สองที่จะต้องทำก็คือ  หา  ตัวแทน  หุ้นที่เรียกว่าหุ้น VI  วิธีหาก็มีหลายวิธีแล้วแต่ว่าใครจะเป็นคนคิด  แต่ส่วนใหญ่ก็จะวนเวียนอยู่ที่ว่าต้องเป็นหุ้นถูกซึ่งหุ้นถูกที่ว่านี้ก็มักจะวัดกันที่ค่า PE และค่า PB ที่ว่าจะต้องมีค่าต่ำหรือต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นอื่น ๆ  ในตลาด  และอัตราเงินปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือ  Dividend Yield  ว่าควรจะต้องสูงหรือต้องมีพอสมควร  หลังจากนั้นก็ตั้งเป็นสูตรเพื่อคัดเลือกหุ้นมาลงทุน  จากนั้นก็ติดตามผลตอบแทนของพอร์ตที่ลงทุนตามสูตรว่าเป็นอย่างไรในแต่ละปี  ทำเช่นนี้ไปหลาย ๆ  ปีก็จะทำให้สามารถเห็นได้ว่าการลงทุนตามสูตรของ VI นั้น  โดยเฉลี่ยให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับการลงทุนตามดัชนีตลาด
            ผมเคยทำการศึกษาเรื่องของการลงทุนตามสูตรแบบ VI ครอบคลุมช่วงเวลา 9 ปีจากปี 2543 ถึง 2551 พบว่าผลออกมานั้นน่าประทับใจอย่างยิ่ง  นั่นก็คือ  การลงทุนโดยใช้สูตรแบบ VI ให้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นสูงถึง 34% ต่อปีในขณะที่ดัชนีตลาดปรับเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 4.8%  และเมื่อเร็ว ๆ  นี้  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิดา นำโดย  ดร. ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา เองก็ได้ทำการศึกษาในแนวการลงทุนแบบใช้สูตร VI ในช่วงเวลา 15 ปี ตั้งแต่ปี 1996 ถึง 2010 โดยใช้ข้อมูลค่า PE PB ปันผล และ ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  ก็ได้ผลในแนวเดียวกัน  แต่ผลตอบแทนที่ได้ยิ่งสูงกว่ามาก  พอร์ตการลงทุนบางแบบให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นสูงถึงปีละ 63% เงินลงทุน 1 ล้านในช่วงต้นกลายเป็นเงินถึง 1,600 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดการลงทุน  ในขณะที่ตลาดโดยรวมให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 1.2% เท่านั้น
            ในชีวิตจริง  ผม เองไม่เคยลงทุนหุ้นตามสูตรและก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเรายังใช้สูตรเดิมที่เคยให้ผล ตอบแทนดีมากจะยังสามารถทำให้เราได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับของเดิมในอดีตหรือ ไม่  เหนือสิ่งอื่นใด อนาคตอาจจะไม่เหมือนกับอดีต  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าหุ้นราคาถูกในแนว VI นั้นโดยเฉลี่ยก็น่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าดัชนีตลาดอยู่  ข้อมูลจากต่างประเทศที่ได้มีการศึกษามานานและศึกษาซ้ำก็ยังให้ผลตอบแทนที่ดี  ดังนั้น ในการเลือกหุ้นลงทุน  ผมจึงยึดแนวทางแบบ VI อยู่อย่างมั่นคงแม้ว่าจะไม่ได้ซื้อตามสูตรตายตัว    สำหรับคนที่อยากลอง  ผมคิดว่าการลงทุนตามสูตรก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและอาจให้ผลตอบแทนที่มหัศจรรย์ได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘