หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
1.  ความหมายของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี  หมายถึง  ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้รับ   ซึ่งประกอบด้วย หลักฐานทางบัญชี และหลักฐานประกอบต่าง ๆ รวมถึงหลักฐานทางด้านภาษีอากรของกิจการ
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องได้มาซึ่งหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ เพียงพอและเหมาะสม โดยการทดสอบความถูกต้องของรายการบัญชี และการตรวจสอบความถูกต้องทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้สามารถทราบผลการตรวจสอบและรับรองบัญชี รวมถึงใช้เป็นหลักฐานประกอบรายการที่ปรากฏในงบการเงิน
1.1 ความเพียงพอและเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ความเพียงพอ  หมายถึง  ปริมาณของหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าจะต้องหาหลักฐานเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในบางครั้งหลักฐานเพียงชนิดเดียวไม่สามารถใช้พิสูจน์ความถูกต้องของ รายการได้ทุกด้าน
ความเหมาะสม   หมายถึง  คุณภาพหรือความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี รวมถึงความถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงของหลักฐาน  ดังนั้น ความเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี จึงประกอบด้วย
(1) คุณภาพของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
(2) ความเกี่ยวข้องกันระหว่างหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีกับสิ่งที่ผู้ บริหารได้ให้การรับรองไว้  นอกจากนี้หลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชียังต้องมีความเกี่ยวข้องและ สัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบที่ต้องการทดสอบ
(3) ความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี ซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งที่ได้มาของหลักฐาน  ลักษณะหรือวิธีการของการได้มาซึ่งหลักฐาน  ระยะเวลาที่ได้รับหลักฐาน  และหลักฐานที่ได้มานั้นต้องเป็นหลักฐานที่เน้นรูปธรรมชัดเจน  การประเมินความเชื่อถือได้ของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชีขึ้นอยู่กับ แต่ละสถานการณ์
1.2 องค์ประกอบในการพิจารณาความเพียงพอและเหมาะสม
สำหรับองค์ประกอบที่ใช้ในการพิจารณาถึงความเพียงพอและเหมาะสมของหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี มีดังนี้
(1) ระดับความเสี่ยงเกี่ยวกับความผิดพลาดของข้อมูลและรายการซึ่งมีผลกระทบจาก
(ก) ลักษณะของข้อมูลและรายการ
(ข) ลักษณะของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่
(ค) ฐานะการเงินของกิจการ
(ง) สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในการบริหาร
(2) ลักษณะของระบบบัญชี
(3) ความมีสาระสำคัญของข้อมูลและรายการที่มีต่องบการเงินโดยรวม และต่อการเสียภาษีอากรของกิจการ
(4) ประสบการณ์ที่ได้จากการตรวจสอบครั้งก่อน ๆ
(5) ผลของการตรวจสอบตลอดจนการทุจริตและข้อผิดพลาดที่ตรวจพบ
(6) แหล่งที่มาและความเชื่อถือได้ของข้อมูลที่มีอยู่
2.  การรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อทำการทดสอบความถูกต้องของรายการและยอดคงเหลือในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
2.1 ความมีอยู่จริง  เพื่อให้ทราบว่าสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ปรากฏในงบการเงินนั้นมีอยู่จริงหรือไม่  รวมถึงผู้ออกใบกำกับภาษีซื้อให้กับกิจการมีตัวตนจริงหรือไม่
2.2 สิทธิและภาระผูกพัน   เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าสินทรัพย์ตามที่ปรากฎในงบการเงินเป็นกรรมสิทธิ์ของ กิจการ และหนี้สินเป็นภาระความรับผิดชอบของกิจการ กล่าวคือ หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจมิใช่หนี้สินส่วนบุคคล
2.3 เกิดขึ้นจริง   เพื่อให้ทราบว่ารายได้ ค่าใช้จ่าย กำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นจริง และรายการที่ปรากฏในงบการเงินไม่ได้รวมรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงอยู่ ด้วย  รวมถึงรายการตามใบกำกับภาษีซื้อที่กิจการได้รับเป็นรายการที่เกิดขึ้นจริง
2.4 ความครบถ้วน  เพื่อให้ทราบว่ารายการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจการได้นำมาลงบัญชี  นำมาจัดทำบัญชีพิเศษ   นำมาจัดทำรายงานทางด้านภาษีต่าง ๆ ตามประมวลรัษฎากรโดยถูกต้องและครบถ้วนแล้ว  รวมถึงการออกใบกำกับภาษีของกิจการว่ามีรายการครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรหรือ ไม่
2.5 การแสดงมูลค่า  เพื่อให้ทราบว่า สินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงรายได้และค่าใช้จ่ายได้บันทึกบัญชีไว้ในราคาหรือจำนวนเงินที่เหมาะสม ตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป และบันทึกไว้ในบัญชีที่ถูกต้องตรงตามงวดบัญชี
2.6 การแสดงรายการและการเปิดเผยข้อมูลของงบการเงิน  เพื่อให้ทราบว่ารายการในงบการเงินได้แสดงรายการบัญชี และเปิดเผยข้อมูลไว้โดยถูกต้อง  เหมาะสม  เพียงพอตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป  และเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบัญชี

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘