รวมคำถาม คอนแทคเลนส์ กรณีใส่คอนแทคเลนส์ตาโตแล้วตาบอด

??? การใส่คอนแทคเลนส์ตาโตทำให้ตาบอดได้อย่่างไร
ตอบ ทำให้ตาบอดได้จากการติดเชื้อที่กระจกตา บังเอิญว่าเชื้อโรคดังกล่าวเป็นเชื้อที่มีความรุนแรง(Pseudomonas Aeruginosa สูโดโมแนส แอรูจิโนซ่า) สามารถทำให้กระจกตาทะลุและตาบอดได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง



??? เชื้อดังกล่าว เข้ามาอยู่ที่คอนแทคเลนส์ได้อย่างไร
ตอบ เชื้อดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เช่น ในอากาศ ที่โต๊ะ ลูกบิดประตู ราวบันได แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือในตลับคอนแทคเลนส์ที่มีการทำความสะอาดไม่ดีพอ ฯลฯ ในขณะที่ใส่คอนแทคเลนส์ ถ้าไม่มีการล้างมือและทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ดวงตาและเกิดการติดเชื้อที่กระจกตาตามมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากระจกตามีแผล หรือกระจกตาอยู่ในสภาวะอ่อนแอ

??? ถ้าเชื้อมีอยู่ทั่วไปตามที่ต่างๆรอบตัวเรา แสดงว่าเราก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้แม้ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ใช่หรือไม่ เช่นถ้าเราเผลอเอามือที่มีเชื้อนี้มาขยี้ตา
ตอบ โดยปกติมีเชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาของเราอยู่ทุกวัน และร่างกายของเราก็มีวิธีการกำจัดเชื้อเหล่านั้นอยู่แล้ว กลไกการกำจัดเชื้อโรคที่เข้้าสู่ดวงตาเช่น มีสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคอยู่ในน้ำตา การกระพริบตาเปรียบเหมือนการกวาดเอาเชื้อหรือสิ่งสกปรกออกจากกระจกตา การผลิตน้ำตาและการระบายน้ำตาอยู่ตลอดเวลาทำให้มีการชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกไปจากดวงตา จากกลไกดังกล่าวทำให้โอกาสการติดเชื้อที่กระจกตามีค่อนข้างน้อยสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์

??? การใช้คอนแทคเลนส์ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อที่ดวงตามากขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ตอบ ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อที่กระจกตามากกว่าคนที่ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก
  • การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้มีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ดวงตามากขึ้น เนื่องจากดวงตาจะต้องสัมผัสกับคอนแทคเลนส์และมือ มากกว่าผู้ที่ไม่ใส่คอนแทคเลนส์
  • การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้การชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคโดยการกระพริบตาเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ ทำให้มีโอกาสที่มีเชื้อโรคหลงเหลือมากกว่าผู้ที่ไม่ใส่คอนแทคเลนส์(การกระพริบตาเปรียบเหมือนการทำความสะอาดกระจกรถโดยที่ปัดน้ำฝน ที่กวาดสิ่งสกปรกออกจากกระจกรถทำให้กระจกรถสะอาดขึ้น การกระพริบตาก็ทำให้กระจกตาและดวงตาสะอาดขึ้นเช่นเดียวกัน)
  • การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแผลที่กระจกตาและดวงตามากกว่า เนื่องจากสาเหตุต่างๆเช่น การถอดหรือใส่แล้วทำให้เล็บมือไปขูดกระจกตา คอนแทคเลนส์ที่มีสิ่งสกปรกติดอยู่อาจขีดข่วนกระจกตา คอนแทคเลนส์ที่บิ่นหรือฉีกขาดอาจบาดกระจกตา เป็นต้น
  • การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้ตาแห้ง และมีโอกาสเกิดแผลเล็กๆที่ผิวกระจกตามากขึ้น การที่กระจกตามีแผลจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
  • การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้อ๊อกซิเจนเข้าสู่กระจกตาลดลง โดยกระจกตาเป็นอวัยวะที่รับอ๊อกซิเจนจากอากาศผ่านทางน้ำตา เมื่อใส่คอนแทคเลนส์ จะทำให้อ๊อกซิเจนเข้าสู่กระจกตาได้น้อยลง ทำให้กระจกตาอ่อนแอและมีโอกาสเกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น

??? การเริ่มต้นใส่คอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องปลอดภัย ควรทำอย่างไร
ตอบ อย่างน้อยที่สุด การเริ่มใส่คอนแทคเลนส์ครั้งแรกหรือการเปลี่ยนชนิด เปลี่ยนรุ่น เปลี่ยนขนาดของคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง ควรมีการตรวจตาและประเมินการใส่โดยนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ เพื่อประเมินว่า ดวงตาดังกล่าวเหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์หรือไม่(บางคนไม่เหมาะกับการใช้คอนแทคเลนส์) ถ้าใช้ได้แล้วควรใช้คอนแทคเลนส์รุ่นใด ค่าความโค้งของคอนแทคเลนส์เป็นเท่าไร(กระจกตาของมนุษย์แต่ละคนมีความโค้งไม่เท่ากันและไม่มีคอนแทคเลนส์ฟรีไซส์ที่ใส่ได้พอดีกับทุกคน การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่พอดีกับดวงตา จะทำให้มีปัญหาระยะยาว) และค่าสายตาเป็นเท่าไร พร้อมทั้งควรได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้คอนแทคเลนส์ ในประเทศไทยตามกฏหมายมีเพียงนักทัศนมาตรและแพทย์เท่านั้นที่สามารถประกอบคอนแทคเลนส์ได้(ส่วนใหญ่แพทย์ทั่วไปจะไม่ประกอบคอนแทคเลนส์ จะมีเพียงจักษุแพทย์บางส่วนเท่านั้นที่ประกอบคอนแทคเลนส์เนื่องจากงานรักษาล้นมือ) อย่างไรก็ดี กฏข้อนี้ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังนักเนื่องจากบุคลากรที่มีอยู่น้อย(นักทัศนมาตรที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะมีเพียงไม่เกิน 40 คน และจักษุแพทย์เพียง 1,000กว่าคน)

??? ในต่างประเทศ มีกฏข้อบังคับเกี่ยวกับคอนแทคเลนส์อย่างไร
ตอบ ในต่างประเทศที่เจริญแล้วเช่น ประเทศอเมริกาและยุโรป ส่วนใหญ่มีกฏระเบียบดังนี้
  • ผู้ที่อนุญาตให้ประกอบคอนแทคเลนส์ได้ มีเพียงนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ที่ต้องการใส่คอนแทคเลนส์ จะต้องไปพบนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตา ตรวจสายตา และประกอบคอนแทคเลนส์เพื่อให้ได้คอนเทคเลนส์ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับดวงตาของผู้ใส่ โดยผู้ใส่จะได้ใบสั่งแพทย์ที่สามารถนำไปซื้อคอนแทคเลนส์ได้ระยะเวลาหนึ่ง(ส่วนใหญ่ระบุระยะเวลา 1 ปี)
  • การซื้อคอนแทคเลนส์ ผู้ซื้อต้องมีใบสั่งจ่ายคอนแทคเลนส์จากนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ ผู้ขายจึงจะขายให้(ถ้าผู้ขาย ขายคอนแทคเลนส์ให้แก่ผู้ที่ไม่มีใบสั่งอย่างถูกต้อง หรือมีใบสั่งแต่หมดอายุ จะถูกดำเนินคดีและยึดใบอนุญาตให้ขายคอนแทคเลนส์)

??? จะรู้ได้อย่างไรว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดวงตาแล้ว
ตอบ โดยทั่วไปการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจสังเกตอาการได้ดังนี้
  • มีขี้ตาสีเหลือง
  • ตาแดง
  • เจ็บตา
  • น้ำตาไหล
  • แพ้แสง
สำหรับเชื้อ Pseudomonas Aeruginosa ที่สามารถทำให้ตาบอดได้ใน 24 ชั่วโมง จะมีลักษณะอาการดังข้างบน และมีความพิเศษเพิ่มเข้ามาคือ
  • เจ็บตา โดยอาการเจ็บค่อนข้างรุนแรงแม้มีรอยแผลน้อยหรือมองไม่เห็นแผลเลยก็ตาม
  • ถ้าการติดเชื้อเกิดขึ้นหลายชั่วโมงแล้ว อาจสังเกตเห็นรอยแผลที่ตาดำเป็นลักษณะเหมือนมีฝ้าขาวขึ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีจะทำให้กระจกตาทะลุ แพทย์อาจพิจารณาควักลูกตาข้างที่ติดเชื้อออกเพื่อป้องกันเชื้อลุกลามเข้าสู่สมองหรืออวัยวะอื่น

??? ถ้ารู้ว่าเป็นเชื้อ Pseudomonas Aeruginosa แล้ว จะมีวิธีการรักษาอย่างไร
ตอบ เนื่องจากการเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงและสามารถทำให้ตาบอดได้ในระยะเวลาสั้น ดังนั้นเมื่อจักษุแพทย์เห็นว่ามีโอกาสที่จะเป็นเชื้อตัวนี้ จะรีบทำการรักษาอย่างเร่งด่วนโดยรับเป็นผู้ป่วยในทันที การรักษาจะต้องทำก่อนที่จะรู้ผลการเพาะเชื้อว่าเป็นเชื้อชนิดนี้หรือไม่(โดยปกติการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะทำการเพาะเชื้อเพื่อให้ทราบว่าเชื้อที่แผลเป็นเชื้ออะไร เพื่อใช้ยาได้อย่างถูกต้อง แต่ในกรณีเชื้อ Pseudomonas Aeruginosa ถ้ารอผลการเพาะเชื้อ อาจทำให้กระจกตาทะลุก่อนที่จะได้ผลว่าเป็นเชื้อตัวใด) ยาที่หยอดจะต้องเป็นยาที่ถูกชนิดเท่านั้นเนื่องจากเชื้อชนิดนี้จะค่อนข้างดื้อยา และความถี่การหยอดจะมากกว่าเชื้อชนิดอื่น อาจต้องทำการหยอดยาทุกๆ 1 ชั่วโมงทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ดังนั้น การซื้อยาหยอดเองโดยไม่ได้มาพบแพทย์อาจไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคชนิดนี้ได้ ทำให้สายเกินไปเมื่อถึงมือแพทย์ คนไข้หลายรายมาหาแพทย์เมื่อกระจกตาทะลุหรือใกล้ทะลุแล้ว ดังนั้นเมื่อรู้ตัวว่ามีการติดเชื้อที่กระจกตาแล้ว ควรไปพบแพทย์โดยเร่งด่วนเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

??? ถ้าไม่แน่ใจว่าติดเชื้อ Pseudomonas Aeruginosa หรือไม่ ควรทำอย่างไร
ตอบ ผู้ป่วยไม่มีโอกาสทราบได้ว่าดวงตาได้ติดเชื้อชนิดนี้หรือชนิดอื่น ดังนั้นเมื่อมีอาการที่แสดงว่ากระจกตาของท่านติดเชื้อ ให้รีบไปพบจักษุแพทย์ทันที อย่ารีรอหรือซื้อยาหยอดเอง โดยเฉพาะการติดเชื้อในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ อาการที่บอกว่าดวงตาติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ อาการตาแดงและมีขี้ตาสีเขียว อาการอื่นที่อาจเกิดร่วมคือ เจ็บตา เคืองตาอยู่ตลอดเวลา น้ำตาไหล แพ้แสง ตามัว ดังนั้น เพียงท่านสังเกตว่ามีขี้ตาสีเขียวแฉะก็ควรไปพบแพทย์แล้ว เนื่องจากมีเชื้อโรคมากมายที่ทำให้ท่านตาบอดได้จากดวงตาอักเสบติดเชื้อ

??? การดูแลรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้อง ทำให้ฆ่าเชื้อนี้ให้หมดไปได้เลยหรือไม่
ตอบ โดยการทำความสะอาดทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ในคอนแทคเลนส์ได้ ทำให้มีเชื้อโรคเหลืออยู่ในปริมาณที่น้อยมากซึ่งปลอดภัยในการใส่ ผู้ที่เกิดกระจกตาติดเชื้อส่วนใหญ่ เกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดและการใช้เลนส์ที่ผิดวิธี

??? การดูแลคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธีควรทำอย่างไร
ตอบ ขั้นตอนการดูแลคอนแทคเลนส์อย่างถูกวิธี มักมีอยู่ที่กล่องคอนแทคเลนส์ ถ้าปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ก็จะมีความปลอดภัยเพียงพอแล้ว ไม่ควรซื้อคอนแทคเลนส์ที่ไม่มีเอกสารอธิบายวิธีการดูแลรักษา รวมถึงไม่ควรซื้อจากร้านที่ไม่แนะนำการดูแลรักษาด้วย

??? ข้อห้ามในการใช้คอนแทคเลนส์มีอะไรบ้าง
ตอบ ข้อห้ามที่สำคัญมีดังนี้
  • ห้ามใช้น้ำชนิดอื่น(เช่น น้ำประปา น้ำเกลือ ฯลฯ) ในการแช่คอนแทคเลนส์ นำ้ยาที่ใช้แช่เพื่อฆ่าเชื้อโรคในคอนแทคเลนส์ จะต้องเป็นน้ำยาที่ใช้สำหรับแช่คอนแทคเลนส์โดยเฉพาะเท่านั้น เนื่องจากน้ำชนิดอื่นจะไม่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคในคอนแทคเลนส์ หรือไม่ปลอดภัยต่อดวงตา
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ที่ใช้แล้วของผู้อื่น แม้ว่าจะมีการทำความสะอาดดีแล้วก็ตาม
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ที่ขาดหรือชำรุด เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลที่ดวงตาได้ การเป็นแผลที่กระจกตาจะทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่ดวงตามากขึ้น
  • ห้ามทนใส่คอนแทคเลนส์ ถ้าใส่แล้วมีรู้สึกมีอาการผิดปกติเช่น เจ็บตา ตาแดง แพ้แสง น้ำตาไหล มีขี้ตาสีเขียว ฯลฯ ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออก ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
??? การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้คอนแทคเลนส์ มีอะไรบ้าง
ตอบ การแก้ไขเบื้องต้นตามอาการมีดังนี้
  • มีขี้ตาสีเหลืองเขียว
    • เกิดจากดวงตาติดเชื้อแบคทีเรีย ให้ไปพบจักษุแพทย์ทันที
  • เจ็บตา ระคายเคืองตาผิดปกติ ตั้งแต่เริ่มใส่คอนแทคเลนส์
    • ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออก และสังเกตอาการ
      • ถ้าอาการระคายเคืองตายังไม่ดีขึ้น อย่าเพิ่งใส่คอนแทคเลนส์ ให้สังเกตอาการโดยถ้าอาการเคืองตาไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงให้ไปพบจักษุแพทย์ทันที
      • ถ้าอาการระคายเคืองตาหายไปหลังจากถอดคอนแทคเลนส์ ให้ล้างคอนแทคเลนส์คู่เดิมและใส่เข้าไปใหม่(ดูคอนแทคเลนส์ให้ถูกด้าน ระวังอย่าใส่กลับข้างในออกข้างนอก) ถ้าอาการเคืองยังอยู่ ให้ถอดคอนแทคเลนส์คู่เดิมทิ้งไปแล้วใส่คู่ใหม่ ถ้าอาการเคืองยังไม่ดีขึ้น ควรถอดคอนแทคเลนส์ออกและไปพบนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
  • ตาแดง
    • ให้ถอดคอนแทคเลนส์และสังเกตอาการ ถ้าตาแดงยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงให้ไปพบจักษุแพทย์
  • ตามัว
    • ให้ถอดคอนแทคเลนส์ออกและตรวจสอบคอนแทคเลนส์ว่ามีการใส่สลับข้างซ้ายขวา(ในกรณีสายตาสองข้างไม่เท่ากัน) หรือกลับข้างในออกข้างนอกหรือไม่
    • ล้างคอนแทคเลนส์และใส่กลับเข้าไปใหม่ให้ถูกต้อง ถ้ายังรู้สึกว่าตามัวอีกให้
      • ไปพบจักษุแพทย์ ถ้ามีอาการตาแดงมาก น้ำตาไหล เจ็บตา ร่วมด้วย
      • ไปพบนักทัศนมาตร ถ้ามีอาการตามัวเพียงอย่างเดียว หรือมีตาแดงเล็กน้อยร่วมด้วย
??? คอนแทคเลนส์ตามท้องตลาด ทุกชิ้นมีคุณภาพดี สามารถใส่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร
ตอบ คอนแทคเลนส์ที่มีวางขายตามท้องตลาดที่เป็นคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตา(ไม่มีสี)ส่วนใหญ่เป็นคอนแทคเลนส์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แล้วว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดี คอนแทคเลนส์สีตาโตที่วางขาย มีบางรุ่นบางยี่ห้อที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. อาจเป็นคอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ควรซื้อมาใส่ ส่วนคอนแทคเลนส์รุ่นใดที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วนั้นสามารถตรวจสอบได้กับกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

??? คอนแทคเลนส์ตาโต มีข้อควรระวังในการใส่มากกว่าคอนแทคเลนส์แก้ไขสายตาที่ไม่มีสีหรือลวดลายหรือไม่ อย่างไร
ตอบ คอนแทคเลนส์ตาโต มีข้อควรระวังมากกว่าคอนแทคเลนส์ที่ไม่มีสีหรือลวดลายทั่่วไปดังนี้
  • คอนแทคเลนส์ตาโต มีชั้นสีเพิ่มขึ้นมาจากคอนแทคเลนส์สายตา ทำให้อ๊อกซิเจนซึมผ่านเข้าสู่กระจกตาได้น้อยกว่า
  • คอนแทคเลนส์ตาโต มีความหนากว่า ทำให้อ๊อกซิเจนผ่านเข้าสู่ดวงตาได้น้อยกว่า
  • ถ้าพิมพ์สีลงบนเลนส์โดยตรง ชั้นสีที่ไม่ได้ถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเลนส์อาจสร้างความระคายเคืองหรือเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
  • ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานใส่คอนแทคเลนส์ตาโต ควรเอาใจใส่และกำชับบุตรหลานเรื่องการแลกคอนแทคเลนส์ใส่กับเพื่อน หรือการถูกเพื่อนขอยืมลองใส่ ว่าไม่ควรทำเด็ดขาด(คอนแทคเลนส์แก้ไขค่าสายตา มีการยืมกันใส่น้อยมากหรือแทบไม่มี เนื่องจากใส่แล้วไม่ทำให้ดวงตาดูโตขึ้น สวยขึ้น และใส่แล้วมองไม่ชัดถ้าเบอร์สายตาไม่ตรงกัน ต่างจากคอนแทคเลนส์สีที่มักไม่มีค่าสายตา ทำให้สามารถแลกกันใส่ได้ ใส่แล้วดูตากลมโตขึ้นคล้ายดาราเกาหลี)
??? จะสังเกตได้อย่างไรว่า คอนแทคเลนส์ชนิดใดเป็นคอนแทคเลนส์ที่มีคุณภาพ สามารถใส่ได้อย่างปลอดภัย
ตอบ การดูด้วยตาเปล่าไม่สามารถบอกได้ว่าคอนแทคเลนส์รุ่นใดยี่ห้อใดมีคุณภาพ ดังนั้นอาจต้องดูจากการได้ผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับ อย. หรืออย่างน้อยควรได้รับการรับรองจาก อย. ของประเทศผู้ผลิต

??? ถ้าพบร้านที่ไม่แน่ใจว่าขายคอนแทคเลนส์ที่มีคุณภาพหรือไม่ จะทำอย่างไรได้บ้าง
ตอบ แจ้งกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ให้มาตรวจสอบ หรือโทรร้องเรียนที่ สายด่วน อย. 1556 อย. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมคอนแทคเลนส์ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์

??? ใครบ้างที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบคอนแทคเลนส์ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย
ตอบ ตามกฏหมายของประเทศไทย มีเพียงนักทัศนมาตร(ผู้เรียนจบปริญญา Doctor of Optometry) และจักษุแพทย์เท่านั้น ที่สามารถประกอบคอนแทคเลนส์ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘