สายตาช่วงอายุ 26-38 ปี

วัยนี้เป็นวัยแห่งการทำงาน ส่วนใหญ่คนในวัยนี้จะทำงานหนักเพื่ออนาคตของตนเองและครอบครัว จนบางครั้งละเลยการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ประกอบกับวัยนี้เป็นวัยที่ร่างกายเริ่มเสื่อมลงทีละน้อย สังเกตได้จากรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน ถ้าทำกิจกรรมที่ต้องใช้พละกำลังมากก็อาจทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายได้ง่าย ถ้าเกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วยก็จะหายช้ากว่าแต่ก่อน ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณของความเสื่อมของร่างกายตามวัย ดังนั้นคนวัยนี้ควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อรับมือกับความเสื่อมของร่างกายตามอายุขัย และดูแลรักษาร่างกายตนเอง ไม่ทำงานหนักจนเกินไปจนลืมดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนอย่างเพียงพอ
            สำหรับดวงตาก็เช่นเดียวกัน ในวัยนี้เราจะรู้สึกดวงตาอ่อนล้าได้ง่ายตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่ไม่เคยมีปัญหาทางสายตาอาจเพิ่งเริ่มมีปัญหาในช่วงนี้ เนื่องจากต้องทำงานหนัก ร่วมกับสุขภาพที่เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ สำหรับวัยนี้ มีการเปลี่ยนแปลงของสายตาค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดี ควรไปรับการตรวจสายตาและสุขภาพตาอย่างน้อยทุก 2-3 ปี หรือเมื่อมีปัญหาทางการมองเห็นเช่น ดวงตาอ่อนล้าง่าย  ตาแห้ง ไม่สบายตาเมื่อใช้สายตาเป็นเวลานาน ฯลฯ
ความอ่อนล้าของดวงตา

            ดวงตาอ่อนล้าคือ ความไม่สบายตาที่เกิดจากการใช้สายตา อาการที่เกิดอาจมีตั้งแต่ความไม่สบายตา ง่วงนอน รู้สึกเมื่อยรอบดวงตา บางคนเป็นมากอาจทำให้รู้สึกปวดหัวหรือปวดตาตามมาได้ การแยกแยะว่าอาการไม่สบายตา ปวดตา ปวดหัวนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้สายตาหรือไม่ ทำได้ง่ายๆคือ ถ้าปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นทุกครั้งหลังจากการใช้สายตา ถ้าไม่ใช้สายตาไม่เกิดอาการ และอาการดังกล่าวหายไปเมื่อได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ แสดงว่าอาการที่เป็นอยู่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้สายตา ซึ่งถ้าเราหาสาเหตุของอาการและแก้ไขเสีย อาการที่เป็นอยู่จะดีขึ้นหรือหายไปได้
            ความอ่อนล้าของดวงตา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นถ้าสามารถหาสาเหตุและแก้ไขได้แล้ว จะทำให้ปัญหาลดน้อยลงหรือหมดไปได้ ในหลายกรณี ปัญหาเหล่านี้ได้มีมานานแล้ว แต่เพิ่งปรากฏชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น ตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้ดวงตาอ่อนล้าเช่น

สายตายาวมองไกล(Hyperopia)ที่ไม่ได้รับการ แก้ไข ทำให้เกิดการเพ่งมากกว่าปกติทั้งการมองระยะไกลและระยะใกล้ การวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์มักจะไม่สามารถวัดสายตายาวมองไกลได้ การวัดสายตายาวมองไกล ผู้วัดที่เชี่ยวชาญจะต้องใช้เครื่องมือและเทคนิคที่จะทำให้ได้ค่าสายตายาว มองไกลออกมา เมื่อทำการแก้ไขค่าสายตามองไกลแล้ว ก็จะลดอาการดวงตาอ่อนล้าลงได้
ค่าสายตาเอียงเล็กน้อยที่ไม่ได้รับการ แก้ไข หรือสายตาเอียงมากที่แก้ไขไม่หมด ในบางกรณี เมื่อมีค่าสายตาเอียงหลงเหลือและต้องใช้สายตามองภาพที่มีความละเอียดเป็น เวลานาน อาจทำให้เกิดความอ่อนล้าดวงตาได้ง่าย เนื่องจากการมีสายตาเอียงหลงเหลือทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด เลนส์ตาจึงพยายามทำงานเพื่อปรับภาพชัดอยู่ตลอดเวลา(Dynamic Accommodation) ในกรณีนี้ การวัดสายตาเอียงอย่างละเอียดควบคู่กับเทคนิคการเพิ่มกำลังของเลนส์ตาเอียง ที่ถูกต้อง จะทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับเลนส์สายตาที่มีค่าสายตาเอียงได้ดีขึ้น และลดปัญหาดวงตาอ่อนล้าดังกล่าวลงได้
ปัญหาตาเขซ่อนเร้น(Phoria) ตาเขซ่อนเร้นไม่ใช่สิ่งผิดปกติ คนส่วนใหญ่มีภาวะตาเขซ่อนเร้นอยู่ แล้วแต่ว่าบางคนมีมากบางคนมีน้อย   ปกติเราจะไม่สามารถสังเกตตาเขซ่อนเร้นได้เนื่องจากกล้ามเนื้อตา(Extraocular Muscle, EOM) มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะดึงตาให้ตรงได้ (มีตาเขอีกชนิดที่อาจสับสนกับตาเขซ่อนเร้น นั่นคือ ตาเขชนิดเป็นครั้งคราว คือบางครั้งเข บางครั้งไม่เขหรือIntermittent Strabismus) ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผู้มีตาเขซ่อนเร้นใช้สายตา กล้ามเนื้อตาต้องทำงานตลอดเวลาเพื่อดึงตาให้กลับมาตรง เมื่อใดที่กล้ามเนื้อตามีความอ่อนล้าหรือมีความแข็งแรงลดลง ก็อาจทำให้รู้สึกดวงตาอ่อนล้าได้อาการของดวงตาอ่อนล้าเนื่องจากตาเขซ่อนเร้น เช่นไม่สบายตา เห็นภาพไม่ชัดหรือภาพซ้อน ปวดตา ปวดหัว เมื่อใช้สายตา   นักทัศนมาตรผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้เทคนิคการตรวจต่างๆเพื่อบอกว่ามีตาเขซ่อน เร้นอยู่หรือไม่ เขในทิศทางไหน(เขเข้าหรือเขออก) เขที่มองไกล มองใกล้ หรือทั้งมองไกลมองใกล้ และปริมาณเท่าไร(กี่ปริซึม) และทำการบำบัดด้วยวิธีต่างๆเช่น การใช้เลนส์ ปริซึม การบริหารกล้ามเนื้อตา ฯลฯ เพื่อลดอาการไม่สบายตาให้น้อยลงหรือหมดไปได้

ปัญหาจากการเพ่ง ผิดปกติ(Accommodative Disorder) การเพ่ง(Accommodation)คือการปรับภาพชัดไม่ว่าวัตถุจะอยู่ไกลหรือใกล้ เป็นระบบที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ การเพ่งที่พอดี จะทำให้มองได้ชัดเจนและสบายตา อย่างไรก็ดี เมื่อระบบการเพ่งมีปัญหาคือการเพ่งมากหรือน้อยเกินไปไม่สัมพันธ์กับระยะของ วัตถุ อาการของปัญหาการเพ่งผิดปกติเช่น การมองเห็นบางระยะชัดเจนแต่บางระยะไม่ชัดเจน หรือมองได้ชัดแต่ไม่สบายตา เมื่อเปลี่ยนระยะวัตถุที่มองแล้วรู้สึกตามัวสักพักจึงจะชัด ฯลฯ ปัญหาของการเพ่ง ยังแบ่งแยกย่อยได้เป็นหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น Accommodative Insufficiency, Accommodative Infacility, Accommodative Spasm, Accommodative  Excess ฯลฯ ซึ่งปัญหาแต่ละอย่าง ก็มีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป บางอย่างต้องใช้แว่นตาช่วย บางอย่างต้องใช้การฝึกกล้ามเนื้อตาจึงจะได้ผลดี อนึ่ง การแก้ไขปัญหาการเพ่ง เป็นสิ่งที่ซับซ้อนเนื่องจากระบบการเพ่งทำงานควบคู่กับระบบการขมวด ตา(Vergence) และระบบปรับขนาดรูม่านตา ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คือนักทัศนมาตร(Doctor of Optometry) ซึ่งมีร้านแว่นเพียงไม่กี่ร้านในประเทศไทยที่มีนักทัศนมาตรประจำ

            อนึ่ง ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้ดวงตาอ่อนล้า เช่น โรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้ยาบางชนิด ความเครียด ฯลฯ ดังนั้นท่านควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ และปรึกษานักทัศนมาตรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการมอง เห็น

การดูแลดวงตาเมื่อมีการใช้สายตามาก ควรพักการใช้สายตาอย่างน้อยชั่วโมงละ 5 นาที โดยการพักให้มองไปที่ระยะไกลอย่างน้อย 6 เมตร  ทำให้ดวงตาได้พักจากการเพ่งมองระยะใกล้
สุขภาพร่างกายก็มีผลต่อสุขภาพ ตา ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนเพียงพอ ไม่เครียดกับสิ่งต่างๆจนเกินไป ฯลฯ
ถ้ามีความผิดปกติ เกี่ยวกับดวงตา ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะปัญหาส่วนใหญ่มักจะแย่ลงเมื่อไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าท่านมีโรคประจำตัว ควรไปพบแพทย์และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางอย่างมีผลต่อสุขภาพตาด้วย ยกตัวอย่างเช่นสเตียรอยด์ ถ้าใช้ติดต่อกันนานเกินโดยขาดการควบคุมจากแพทย์อาจส่งผลให้เป็นต้อกระจกหรือ ต้อหิน ทำให้ตาบอดได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘