ผลสรุปการประชุมนักบัญชีโลก ครั้งที่ 18 IFAC

การประชุมนักบัญชีโลก ครั้งที่ 18 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ (The International Federation of Accountants : IFAC) กับสถาบันนักบัญชีแห่งมาเลเซีย (The Malaysian Institute of Accountants : MIA) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งมี
ผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกประมาณ 6,000 คน จาก 134 ประเทศ โดยได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีประจำสำนัก
นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย Mr.Tan Sri Nor Mohamed Yakcop เป็นประธานในพิธีเปิด
หัวข้อการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย
หัวข้อที่ 1 นักบัญชีกับการสร้างคุณค่า (Accountants : Sustaining Value Creation)
หัวข้อที่ 2 การสร้างสรรค์อนาคตของนักบัญชี (Creating the Accountant’s Future)
หัวข้อที่ 3 บัญชีนิติเวชสำหรับโลกยุคดิจิตอล (Forensic Accounting for Digital Environment)
หัวข้อที่ 4 ระบบการเงินแบบศาสนาอิสลามกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงินของ
โลก (Islamic Fiance : Strengthen the World Financial Market)
หัวข้อที่ 5 แนวทางในอนาคตกับการรายงานขององค์กรสู่การรายงานสำหรับธุรกิจ (Corporate
Reporting to Business Reporting – The Way Forward)
หัวข้อที่ 6 การรายงานทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับบทบาทที่สำคัญ
ในเวทีโลก (International Financial Reporting Standard (IFRS) for Small and Medium Enterprises
(SMEs) : Becoming a World Class Player)
ในฉบับนี้ คณะผู้จัดทำขอนำเสนอสรุปสาระสำคัญจากในหัวข้อที่ 1 ถึงหัวข้อที่ 4 และจะนำเสนอสรุป
สาระสำคัญของหัวข้อที่ 5 และหัวข้อที่ 6 ในฉบับหน้า
1. นักบัญชีกับการสร้างคุณค่า (Accountants : Sustaining Value Creation)
1.1 การสร้างความยั่งยืนและการสร้างคุณค่า
ในปัจจุบัน การรายงานเรื่องความยั่งยืน (Sustainability Reporting) ได้กลายเป็นกระบวนการ
รายงานที่มีความสำคัญต่อองค์กรในการสื่อสารข้อมูลที่สำคัญ และมีความเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อการตัดสิน
ใจเชิงเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากข้อมูลทางการเงิน โดยมีผลสำรวจจาก Mckinsey Global Survey สนับสนุน
ประเด็นดังกล่าว ซึ่งผลสำรวจนี้ แสดงให้เห็นว่า 76% ของผู้บริหารองค์กร เห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability)
ส่งผลในเชิงบวกต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นในระยะยาว และ 50% ของผู้บริหารองค์กร เห็นว่า ความยั่งยืน (Sustainability)
ส่งผลต่อมูลค่าของผู้ถือหุ้นในระยะสั้นด้วย
5
ทั้งนี้ มีตัวอย่างของบริษัท Interface ที่นำระบบการวัดผลโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาใช้ โดย
บริษัท Interface เลือกที่จะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และพบว่า บริษัทมีอัตราการปล่อย
ก๊าซเรือนกระจกลดลง 82% อัตราการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลลดลง 60% อัตราการใช้พลังงานต่อหน่วยลดลง
44% และอัตราการใช้น้ำลดลง 75% ส่งผลให้ยอดขายและกำไรสุทธิของบริษัท Interface เพิ่มขึ้น 66% และ
100% ตามลำดับ
1.2 การปลูกฝังความยั่งยืนภายในองค์กร มีองค์ประกอบ 10 ประการ โดยแบ่งกลุ่มองค์ประกอบ
ได้เป็น 3 ด้านหลัก ดังนี้
องค์ประกอบด้านกลยุทธ์และการกำกับดูแล
(1) การแสดงความมุ่งมั่นของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง
(2) มีความเข้าใจและการวิเคราะห์แรงผลักดันสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
(3) การนำความยั่งยืนที่สำคัญมาเป็นกลยุทธ์ขององค์กร
องค์ประกอบด้านการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์
(4) การกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นหน้าที่หลักของทุกคนในองค์กร
(5) การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนอย่างมีประโยชน์ต่อองค์กร
(6) กระบวนการที่พิจารณาความยั่งยืนแบบวันต่อวัน
(7) จัดให้มีการอบรมเรื่องความยั่งยืนอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิผล
องค์ประกอบด้านผลการดำเนินงานและการรายงาน
(8) นำเป้าหมายด้านความยั่งยืนไปใช้ในการประเมินผลการดำเนินงาน
(9) ผู้ที่ประสบความสำเร็จในความยั่งยืนต้องส่งเสริมความยั่งยืน
(10) การควบคุมดูแลและรายงานผลของความยั่งยืน
1.3 บทบาทของนักบัญชีในเรื่องความยั่งยืน
(1) บทบาทด้านกลยุทธ์และการกำกับดูแล
- วิเคราะห์ผลกระทบและโอกาสจากความยั่งยืนภายในองค์กร
- กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ขององค์กร
(2) บทบาทด้านการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์
- ระบุเมทริกซ์ของผลงานขึ้นมา
- พัฒนากระบวนการและการควบคุมที่นำไปสู่ความยั่งยืน
(3) บทบาทด้านผลการดำเนินงานและการรายงาน
- การรายงานภายใน เรื่องผลงานด้านความยั่งยืน
- การรายงานผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้บุคคลภายนอกทราบ
6
โดยที่ บริษัท P&G ได้เป็นตัวอย่างที่ดีในการรายงานเรื่องความยั่งยืน โดยมีการรายงานที่เกี่ยวข้อง
ในด้านผลิตภัณฑ์ การดำเนินงาน และความรับผิดชอบต่อสังคม ในปี 2553
2. การสร้างสรรค์อนาคตของนักบัญชี (Creating the Accountant’s Future)
2.1 การพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ
สหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ ได้จัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานการศึกษาด้านบัญชี
ระหว่างประเทศ (International Accounting Education Standards Board : IAESB) ขึ้นภายใต้การสนับสนุน
ของสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมชื่อ คณะกรรมการการศึกษาของสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ
(IFAC Education Committee) โดยคณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วย นักบัญชี นักวิชาการด้านบัญชี ผู้แทน
จากภาคธุรกิจ และกลุ่มบริษัทและภาคเอกชน โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่พัฒนามาตรฐานและแนวทาง
ด้านการศึกษาและการพัฒนานักบัญชี ซึ่งได้มีการออกมาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศ (International
Education Standards) จำนวน 8 ฉบับ โดยมาตรฐานการศึกษาระหว่างประเทศ ฉบับที่ 3 (International
Education Standard 3) เรื่อง ทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพและการศึกษาทั่วไป (Professional Skills and
General Education) ซึ่งระบุไว้ว่าทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบัญชี ดังนี้
1. ทักษะด้านความรู้ (Intellectual skills) เช่น ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้ความรู้
เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และการใช้วิจารณญาณที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานบัญชี เป็นต้น
2. ทักษะด้านเทคนิคเฉพาะทางเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน (Technical and Functional
Skills) เช่น ทักษะการคำนวณ การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการรายงาน เป็นต้น
3. ทักษะเฉพาะส่วนบุคคล (Personal Skills) เช่น การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การมีความคิด
ริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
4. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and Communication
skills) เช่น การทำงานเป็นทีม การทำงานกับบุคคลที่มีความสามารถหลากหลายและมาจากหลากหลาย
วัฒนธรรม และการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เป็นต้น
5. ทักษะด้านองค์กรและการจัดการธุรกิจ (Organizational and business management
skills) เช่น การวางแผนกลยุทธ์ การจัดการโครงการ และความเป็นผู้นำ เป็นต้น
โดยที่ทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบัญชีจะพัฒนาไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจ
รูปแบบการทำธุรกิจ และความซับซ้อนในการประกอบธุรกิจ นักบัญชีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอด
และสร้างความโดดเด่นให้วิชาชีพท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้
7
2.2 การพัฒนาทักษะของนักบัญชี สำหรับธุรกิจในอนาคต
จากงานวิจัยสำหรับนายจ้าง (Employer Research) ในเรื่องทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
ซึ่งมีการจัดอันดับทักษะของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่นายจ้างเห็นว่าสำคัญที่สุด และการจัดอันดับของทักษะของ
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่นายจ้างเห็นว่าสำคัญที่สุดในอนาคต ซึ่งผลเป็นดังนี้
ทักษะของนักบัญชีที่สำคัญที่สุด 10 อันดับแรก ในมุมมองของนายจ้าง
อันดับที่ 1 การจัดทำและการตีความหมายของข้อมูลการบัญชีบริหาร
อันดับที่ 2 การสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลทางการเงิน
อันดับที่ 3 ความเป็นผู้นำ
อันดับที่ 4 การพัฒนาและการดำเนินการระบบบัญชีบริหาร
อันดับที่ 5 การบริหารบุคคล
อันดับที่ 6 การบริหารโครงการ
อันดับที่ 7 การดูแลระบบการเงิน
อันดับที่ 8 การวางแผนกุลยุทธ์ทางการเงิน
อันดับที่ 9 การให้คำแนะนำเชิงธุรกิจ
อันดับที่ 10 จรรยาบรรณทางธุรกิจ
ทักษะของนักบัญชีที่สำคัญที่สุดในอนาคต 10 อันดับแรก ในมุมมองของนายจ้าง
อันดับที่ 1 การจัดทำและการตีความหมายของข้อมูลการบัญชีบริหาร
อันดับที่ 2 ความเป็นผู้นำ
อันดับที่ 3 การวางแผนกลยุทธ์ทางการเงิน
อันดับที่ 4 การพัฒนาและการดำเนินการระบบบัญชีบริหาร
อันดับที่ 5 การสื่อสารและการนำเสนอข้อมูลทางการเงิน
อันดับที่ 6 การบริหารโครงการ
อันดับที่ 7 การบริหารบุคคล
อันดับที่ 8 การดำเนินการระบบสารสนเทศ
อันดับที่ 9 การจัดการประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม
อันดับที่ 10 การกำกับดูแลองค์กร
จะเห็นได้ว่าในอนาคตทักษะที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ความเป็นผู้นำ การวางแผนกลยุทธ์
ด้านการเงิน การดำเนินการระบบสารสนเทศ การจัดการประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลองค์กร ซึ่ง
เป็นเรื่องที่นักบัญชีต้องพัฒนาทักษะเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตของธุรกิจขององค์กร
และของนายจ้าง
8
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นักบัญชี ก็มีความต้องการที่ทำงานในด้านการให้ความ
สนับสนุนกับผู้บริหาร (Management Support) มากขึ้น เช่น การระบุและวิเคราะห์ทางเลือกเชิงกลยุทธ์ การ
สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร การออกแบบและติดตามตัวชี้วัดของบุคลากรที่สำคัญขององค์กร การบัญชี
สำหรับการจัดการเชิงกลยุทธ์ และการจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานที่เพิ่มคุณค่า
ให้กับองค์กร และส่งเสริมต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริหารองค์กร
2.3 การสร้างนักบัญชีในยุคต่อไป
จากกรณีศึกษาในยุโรปตะวันออก พบว่า ควรให้ความสำคัญกับการแนะนำแนวปฏิบัติที่ดี
ที่สุด (best practice) ในเรื่องการประเมินความสามารถและโครงสร้างของความสามารถ ซึ่งควรเป็นความรับผิด
ชอบร่วมกันของทั้งสหพันธ์นักบัญชีระหว่างประเทศ และองค์กรวิชาชีพของแต่ละประเทศ เนื่องจากการศึกษา
เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของการสร้างนักบัญชีในยุคต่อไป และการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันของการศึกษา
และคุณสมบัติทางวิชาชีพจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประสิทธิผลสูงสุด
3. บัญชีนิติเวชสำหรับโลกยุคดิจิตอล (Forensic Accounting for Digital Environment)
บัญชีนิติเวช (Forensic Accounting) หมายถึง การใช้ความรู้ความสามารถทางบัญชี ในการวิเคราะห์
และประมวลผลเหตุการณ์หรือสถานการณ์ ซึ่งการวิเคราะห์นี้จะถูกนำไปใช้ในศาล บัญชีนิติเวชมีลักษณะ
สำคัญ 2 ประการ คือ การให้การสนับสนุนต่อคดีความ (Litigation Support) และการบัญชีเชิงสืบสวนสอบสวน
(Investigative Accounting)
3.1 ความท้าทายในการป้องกันและค้นพบการทุจริตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิตอล
ปัจจุบันสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์และระบบดิจิตอล
มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการค้นพบการทุจริต เป็นดังนี้
1. ผู้สอบบัญชีและนักบัญชีการเงินได้รับการฝึกให้ออกแบบระบบที่ต่อต้านการทุจริต แต่ไม่ได้
ถูกฝึกมาให้ป้องกันและค้นพบการทุจริต
2. การทุจริตบางประเภท เช่น การคอรัปชัน การฟอกเงิน เป็นต้น อาจจะไม่มีความเกี่ยวข้อง
โดยตรงกับงบการเงิน
3. ระบบบัญชีไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ที่ผู้บริหารระดับสูงใช้อำนาจนอกเหนือการควบคุม
ภายในได้
4. การกำหนดข้อสมมติขั้นพื้นฐานที่ว่า ผู้บริหารระดับสูงมีความซื่อสัตย์ อาจไม่เหมาะสม
9
3.2 ทิศทางในอนาคตของการป้องกันและค้นพบการทุจริตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิตอล
ผู้สอบบัญชีควรจะเพิ่มความรู้เฉพาะทางในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer
Forensics) เพื่อที่จะสามารถกำกับผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ในการวางระบบการควบคุมภายในและนำระบบ
มาใช้ และมีความกล้าในการถามคำถามที่เหมาะสมเมื่อหลักฐานในรูปแบบดิจิตอลกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ
นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีควรจะได้รับการอบรมในเรื่องการตรวจสอบการทุจริต เพื่อที่จะรวบรวมหลักฐานที่ใช้ได้
ในศาล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ
นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาของมหาวิทยาลัยควรมีมาตรฐานในการรับรองผู้เชี่ยวชาญด้าน
นิติวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Forensics Technician) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติระหว่าง
ประเทศ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ออกกฎหมาย และองค์กรวิชาชีพควรนำนโยบายในการกำกับดูแล
ผู้เชี่ยวชาญ ด้านนิติวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Forensics Technician) มาใช้ให้เกิดประสิทธิผล
เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Forensics Technician) รักษามาตรฐานของ
เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและความสามารถให้อยู่ในระดับสูง พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม
3.3 ความสำคัญของการตรวจสอบเชิงนิติเวชในการต่อต้านการทุจริต เพื่อกำหนดสิ่งที่ท้าทาย
ในสภาพแวดล้อมแบบดิจิตอล
ในยุคปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 วิชาชีพบัญชีถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก อันเนื่องมาจากหลาย
สาเหตุ เช่น
- เหตุการณ์ที่ทำลายชื่อเสียงอันมีสาเหตุมาจากทางการเงิน (Financial Scandals) ซึ่งส่งผลให้
เกิดความสูญเสียมหาศาล
- แรงกดดันจากผู้บริหารในการบริหารงานให้เป็นไปตามงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
- การขาดการควบคุมที่เหมาะสมเมื่อเผชิญกับปัญหาเรื่องการทุจริต การคอรัปชัน และการ
ฟอกเงิน
- มีการประเมินความเสี่ยงไม่เพียงพอ ในสภาพแวดล้อมแบบดิจิตอล
- มีร่องรอยการสอบบัญชีที่ไม่ดี ซึ่งไม่สามารถป้องกัน ยับยั้ง ควบคุม ตรวจพบ และสืบสวน
เหตุการณ์ทุจริตได้
- มีกฎหมายและมาตรฐานไม่เพียงพอที่จะป้องกันและต่อสู้กับเหตุการณ์ทุจริต
เหตุการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดความต้องการในการตรวจสอบเชิงนิติเวชในการต่อต้านการทุจริต
(Anti-Fraud Forensic Auditing) ขึ้น ซึ่งผสมผสานเรื่องการป้องกัน การยับยั้ง การควบคุม การปฏิบัติตาม
กฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับความเสี่ยง การตรวจพบ การสืบสวน การต่อสู้กับการทุจริต การคอรัปชัน และการ
ฟอกเงินในองค์กรและของบุคคล โดยสาขาความรู้ใหม่นี้ถือเป็นขอบเขตงานใหม่ของทั้งนักบัญชี ผู้ตรวจสอบ
ภายใน และผู้สอบบัญชีภายนอก ที่จะมามีบทบาทสำคัญในการใช้สาขาความรู้ใหม่นี้เพื่อประโยชน์ต่อองค์กรและ
สังคมโดยรวม โดยหน้าที่หลักของผู้สอบบัญชีเชิงนิติเวชในการต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Forensic Auditor)
มีดังนี้
10
- หน้าที่ในการป้องกันการทุจริต การคอรัปชัน และการฟอกเงิน เช่น การจัดทำโปรแกรมป้องกัน
ความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับความเสี่ยง
- หน้าที่ในการต่อสู้กับการทุจริต การคอรัปชัน และการฟอกเงิน เช่น การจัดทำรายงานพิเศษ
ในเรื่องการตรวจสอบเชิงนิติเวช
นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชีเชิงนิติเวชในการต่อต้านการทุจริต (Anti-Fraud Forensic Auditor) ยัง
สามารถสร้างความภาวะผู้นำให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น นักบัญชี นักตรวจสอบคอมพิวเตอร์ ทนายความ
เป็นต้น ในการเป็นผู้นำในการป้องกันและต่อสู้กับการทุจริต การคอรัปชัน และการฟอกเงินโดยองค์กร และ
บุคคล
3.4 การบัญชีนิติเวชกับการกำหนดความท้าทายในสภาพแวดล้อมแบบดิจิตอล
ในปัจจุบัน นักบัญชีมีความท้าทายใหม่ในวิชาชีพเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงเรื่องรายการค้าที่มีเป็น
จำนวนมาก ระบบบัญชีที่ไม่มีหรือมีร่องรอยการตรวจสอบน้อย ความเร็วในการประมวลผลรายการที่เพิ่มขึ้น
ความเชื่อถือได้ของข้อมูล และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องระบบการควบคุม ซึ่งความท้าทายเหล่า
นี้ส่งผลให้นักบัญชีต้องพึ่งพาความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มากขึ้นจนกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้ว
ดังนั้น นักบัญชีจึงควรรู้พัฒนาทักษะทางด้าน IT ให้มากขึ้น โดยความรู้สาขา IT ในเรื่องการป้องกันการทุจริต
การตรวจพบการทุจริต และการสืบสวนการทุจริต มีความสำคัญมากในตอบโต้การทุจริตในยุคปัจจุบัน
4. ระบบการเงินแบบศาสนาอิสลามกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงินของโลก
(Islamic Fiance : Strengthen the World Financial Market)
ระบบการเงินแบบศาสนาอิสลาม (Islamic Finance) จะมีการใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มชนชาวอิสลาม
เนื่องจากข้อกำหนดทางศาสนาที่ห้ามไม่ให้ชาวอิสลามทำธุรกรรมทางการเงินหลายอย่าง เช่น การคิดดอกเบี้ย
จากเงินให้กู้ยืม เป็นต้น โดยที่ระบบการเงินแบบศาสนาอิสลามนี้ ได้พัฒนาโดยอาศัยหลัก Shariah Principles
ที่มาจากคำสอนของศาสนาอิสลาม
ในปัจจุบัน ระบบการเงินแบบศาสนาอิสลาม (Islamic Finance) ได้มีการขยายตัวไปสู่กลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่
ชาวอิสลามมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสมาชิกของคณะกรรมการ Islamic Financial Services Boards ที่มีจำนวน
มากถึง 195 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก (ข้อมูลจาก IFSB ณ เดือนสิงหาคม 2553) โดยมีความคาดหวังว่า
ความหลากหลายของระบบการเงินจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินของโลกได้ ระบบการเงินแบบดั้งเดิม
(Conventional Finance) และระบบการเงินแบบศาสนาอิสลาม (Islamic Finance) จะเติบโตและขยายตัวไป
พร้อมกันได้ และการขยายตัวของระบบการเงินแบบศาสนาอิสลามจะมีมากขึ้น ซึ่งถูกมองเป็นโอกาสในการดำเนิน
ธุรกิจในอนาคต
11
ในระบบการเงินแบบศาสนาอิสลาม (Islamic Finance) จะมีสินค้าและบริการทางการเงินเช่นเดียว
กับในระบบการเงินแบบดั้งเดิม (Conventional Finance) แต่สินค้าและบริการทางการเงินทุกประเภท ต้องเป็น
ไปตามหลักการ Shariah Principles ของศาสนาอิสลาม เช่น ห้ามมีการซื้อขายหนี้สินทางการเงิน (หุ้นกู้) ห้าม
มีการคิดดอกเบี้ยจากการให้ยืมเงิน ธุรกรรมทางการเงินจะมีความไม่แน่นอนที่ลดลง และต้องเป็นการจัดหาเงิน
ทุนให้ ทดแทนการกู้ยืมเงิน ซึ่งจะก่อให้เกิดเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy) เป็นต้น ซึ่งทำให้ระบบการเงิน
แบบศาสนาอิสลามถูกมองว่าเป็นรูปแบบระบบการเงินทางเลือก
โดยในประเทศสหราชอาณาจักรก็มีระบบการเงินแบบศาสนาอิสลาม (Islamic Finance) โดยธนาคาร
อิสลาม (Islamic Bank) ซึ่งส่งผลต่อประเด็นด้านการกำกับดูแล การจัดทำบัญชี และภาษีอากร โดยประเด็นด้าน
การจัดทำบัญชีนั้น ต้องมีการนำเสนอรายงานทางการเงินเพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจของธุรกรรม
ทางการเงินซึ่งมาจากระบบการเงินแบบอิสลาม (Islamic Finance) ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชี
ระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board : IASB) อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อนำไป
กำหนดวิธีการปฏิบัติทางการบัญชีและการเสนอรายงานการเงินที่เหมาะสม สำหรับระบบการเงินแบบศาสนา
อิสลาม (Islamic Finance) ต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘