ความฝัน 16 ประการของพระเจ้าปเสนทิโกศล ตอนที่ 2

ความเดิมจากตอนที่แล้ว... ครั้นเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตกล่าวเช่นนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงตรัสถามถึงวิธีแก้ต่อไปว่า “เราจะต้องทำอย่างไร จึงจะผ่านเหตุร้ายทั้งสามประการในครั้งนี้ไปได้”-เหล่า พราหมณ์ปุโรหิตก็ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์จะต้องจัดพิธีบูชายัญด้วยวัตถุสิ่งของทุกอย่าง และสัตว์ทุกชนิด ชนิดละสี่อย่าง...พระเจ้าข้า เมื่อพระองค์ทรงทำเช่นนี้แล้ว เหตุร้ายในครั้งนี้ก็จะมีกำลังเบาบางลงไป”-เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับตรับฟังเช่นนั้น พระองค์จึงทรงตรัสกับเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตทั้งหลายว่า “ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น...เราขอฝากชีวิตไว้กับพวกท่านด้วย พวกท่านจงรีบจัดเตรียมพิธีบูชายัญปัดเป่าเหตุร้ายให้แก่เราโดยเร็วด้วยเถิด”
 
        เมื่อเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตได้ฟังเช่นนั้น ต่างก็พากันดีใจและแอบกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า “ในคราวนี้แหละ...พวกเรารวยกันเละเทะแน่ๆ”-แล้ว ก็ทำทีแสร้งพูดปลอบพระเจ้าปเสนทิโกศลไปว่า “ขอมหาราชเจ้าอย่าทรงวิตกกังวลไปเลย พวกข้าพระองค์จะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำ ได้...พระเจ้าข้า”
 
พวกพราหมณ์ปุโรหิตพากันแสร้งพูดปลอบพระเจ้าปเสนทิโกศล
 
        ครั้นเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตออกมาจากพระราชนิเวศน์แล้ว ทุกคนต่างก็รีบทำการรวบรวมวัตถุสิ่งของรวมถึงสัตว์ชนิดต่างๆอย่างเร่งด่วน ทั้งสัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า สัตว์ปีก เป็นต้น จากนั้น...ก็ได้ช่วยกันเตรียมการขุดหลุมเพื่อเอาไว้ใช้ประกอบพิธีบูชายัญ อยู่ภายนอกเขตพระนคร
 
 พวกพราหมณ์ปุโรหิตพากันเตรียมการบูชายัญ
 
        เมื่อพระนางมัลลิกา ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ทรงเห็นเหล่าพราหมณ์ปุโรหิตกำลังจัดเตรียมพิธีบูชายัญอยู่ภายนอกเขตพระ นครแล้ว พระนางจึงทรงรีบรุดไปเข้าเฝ้าพระสวามีในทันที ครั้นพระนางมัลลิกาได้เจอกับพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว พระนางก็ได้กราบทูลถามว่า “เสด็จพี่...มีอะไรเกิดขึ้นหรือเพคะ ทำไม...พวกพราหมณ์จึงพากันเดินขวักไขว่ไปมาขนาดนี้”
 
 พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเล่าความฝันให้พระนางมัลลิกาฟัง
 
        พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ตรัสเล่าให้พระนางมัลลิกาฟังว่า “พี่ฝันเห็นนิมิตร้าย-16-ประการ แล้วพวกพราหมณ์ก็ได้ทำนายฝันว่า จะเกิดเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งในสามประการ เกิดขึ้นกับพี่ ด้วยเหตุนี้เอง...พี่จึงต้องจัดพิธีบูชายัญเพื่อปัดเป่าเหตุร้ายเหล่านั้น ให้มีกำลังเบาบางลงไป ดังนั้น พวกพราหมณ์จึงได้ทำการจัดเตรียมวัตถุสิ่งของและสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อนำมาประกอบพิธีบูชายัญในครั้งนี้”
 
 พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเล่าให้พระนางมัลลิกาฟัง เรื่องการบูชายัญ
 
        เมื่อพระนางมัลลิกา ผู้มีความศรัทธาในพระสมณโคดมสัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ได้ฟังเรื่องพิธีบูชายัญของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว พระนางจึงได้กราบทูลว่า “เสด็จพี่...ทรงนำนิมิตแห่งความฝันทั้ง 16-ประการ นี้ ไปกราบทูลถามแด่พระผู้เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด อีกทั้ง...ยังเป็นผู้รู้แจ้งโลกยิ่งกว่าเหล่าพราหมณ์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้ และเทวโลก ของพวกเราแล้วหรือยังเพคะ”-ด้วย ความที่พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังถูกความกลัวต่อมรณภัยเข้าครอบงำจิตใจ จึงทำให้พระองค์ทรงตามพระนางมัลลิกาไม่ทัน แล้วทรงตรัสถามว่า “น้องนาง...ใครกันหรือที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด และยังเป็นผู้รู้แจ้งโลกยิ่งกว่าเหล่าพราหมณ์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และ เทวโลก”
 
 เพราะความกลัวครอบงำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงลืมนึกถึงพระบรมศาสดา
 
        พระนางมัลลิกาก็ทรงตรัสตอบไปว่า “พระองค์ทรงลืมพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เป็นสัพพัญญู และเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลกและเทวโลกไปแล้วหรือเพคะ พระตถาคตเจ้าของพวกเรานี้แหละ ที่จะช่วยทำนายฝันทั้ง 16-ประการของพระองค์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด”
 
 พระนางมัลลิกาทูลว่าพระบรมศาสดา คือผู้ที่จะช่วยทำนายฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้
 
        เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงฟังพระนางมัลลิกา กล่าวถึงพระบรมศาสดาเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงตรัสสั้นๆว่า “เออ...จริงด้วย พี่ลืมพระบรมศาสดาไปได้อย่างไรกัน”-ว่าแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้เสด็จไปสู่พระวิหารของพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระนางมัลลิกาและเหล่าราชบุรุษทั้งหลาย ครั้นขบวนเสด็จของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ไปถึงพระวิหารแล้ว พระองค์ก็ได้กราบถวายบังคมพระบรมศาสดา และ ประทับนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง1
 
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จสู่พระวิหารของพระบรมศาสดา
 
1ขยายความเรื่อง การนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
 
        การนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง หมายถึง การนั่งโดยเว้นจากโทษของการนั่งทั้ง 6-ประการ (พูดง่ายๆก็คือ...การเว้นจากที่ซึ่งไม่สมควรจะนั่ง 6 ประการ) ได้แก่
 
1.อติทูรํ (อะติทูรัง) คือ นั่งไกลเกินไป จะทำให้ต้องพูดเสียงดังในเวลาสนทนาธรรม
 
2.อจฺจาสนฺนํ (อัจจาสันนัง) คือ นั่งใกล้เกินไป จะทำให้เกิดการเบียดเสียดและทำให้รู้สึกอึดอัด
 
3.อุปริวาตํ (อุปะริวาตัง) คือ นั่งในที่เหนือลม อาจจะทำให้กลิ่นอันไม่พึงประสงค์พัดมารบกวน เช่น กลิ่นตัว เป็นต้น
 
4.อุนฺนตปฺปเทสํ (อุนนะตัปปะเทสัง) คือ นั่งในที่สูง จะเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อผู้แสดงธรรม
 
5.อติสมฺมุขํ (อะติสัมมุขัง) คือ นั่งตรงหน้าเกินไป จะทำให้ต้องจ้องตากันในเวลาที่มองหน้า
 
6.อติปจฺฉา (อะติปัจฉา) คือ นั่งล้ำไปข้างหลังมาก จะทำให้ต้องยื่นคอในเวลาที่จะมองดู

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘