VI กำสรวล

ในยามที่ตลาดหุ้น กำลังปรับตัวขึ้นเป็นกระทิงเปลี่ยวอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นักลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไร ต่างก็มีความสุขจากการที่สามารถทำกำไรจากการลงทุนเป็นกอบเป็นกำ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีความสุข และก็แน่นอนว่าความสุขของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ผมกำลังจะบอกว่า Value Investor บางคนอาจจะไม่ได้มีความสุขเลยจากการที่หุ้นวิ่งเป็นกระทิงเปลี่ยว และบางคนก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ เหตุผลก็คือ พวกเขาอาจจะไม่ได้กำไรอะไรมากนัก เพราะหุ้นที่วิ่งกันเป็นบ้าเป็นหลังนั้น ไม่ได้เป็นหุ้นในกลุ่มที่พวกเขาถืออยู่ หุ้นที่พวกเขาถืออยู่นั้น จำนวนมากกลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว บางตัวกลับลดลง สรุปแล้วพวกเขาไม่ได้อะไร แต่ที่ทำให้เศร้ามากที่สุดก็คือ พวกเขามองเห็นคนอื่นกำไรเอา ๆ และก็ทำอะไรไม่ถูก ในภาวะอย่างนี้ Value Investor ควรจะทำอย่างไร?

               คำตอบแรกเลยที่ผมคิดออกก็คือ ต้อง "ทำใจ" เพราะจากประสบการณ์ของผม ในทุกครั้งที่ตลาดหุ้นวิ่งเป็นกระทิง โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของการปรับตัวขึ้นของดัชนี หุ้นที่วิ่งก่อนก็คือ หุ้นบลูชิพขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหุ้นที่ Value Investor มักจะไม่ค่อยให้น้ำหนักในการลงทุนมากนัก และในช่วงที่หุ้นขนาดใหญ่ขึ้นนั้น นักลงทุนจำนวนมากก็จะหันไปเล่นหุ้นเหล่านั้นโดยที่จะไม่ใคร่มีใครสนใจหุ้น ขนาดเล็กพื้นฐานดีที่เป็นหุ้นคุณค่า ดังนั้น หุ้นคุณค่าที่เป็นที่นิยมของเหล่า VI จึงมักจะยืนนิ่งในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่วิ่งเอา ๆ หุ้น VI บางตัวที่ยังไม่มีข่าวดีด้านผลประกอบการกลับถูกเทขายทำให้ราคาตกลงมาด้วยซ้ำ เหตุผลอาจจะเป็นว่า นักลงทุนขายหุ้นเล็กที่ยังไม่มีข่าวดีเพื่อเอาเงินไปซื้อหุ้น "ตลาด" ที่กำลังวิ่ง

               การ "ทำใจ" ที่ผมพูดถึงก็คือ เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า หุ้นทุกตัวหรือแต่ละกลุ่มมีจังหวะในการเดินหรือวิ่งของมัน แต่เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้จังหวะของมันอย่างแน่นอน โดยปกติ หุ้น VI นั้น จะมีการปรับตัวไปเรื่อย ๆ ตามผลการดำเนินงานมากกว่าปัจจัยอย่างอื่น ดังนั้น การวิ่งของหุ้นเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ภาวะตลาดหุ้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่จะช่วยเร่งหรือชะลอความเร็วของการวิ่ง ของหุ้น และนี่คือสิ่งที่เป็นความถนัดหรือความสามารถของชาว VI นั่นก็คือ การคาดการณ์ถึงผลกำไรหรือผลประกอบการของบริษัทที่เราจะลงทุน
               ในทางตรงกันข้าม หุ้น "ตลาด" ซึ่งก็คือหุ้นที่นักเล่นหุ้นนิยมซื้อขายกันมากเนื่องจากอาจจะมีราคาผันผวน ขึ้นลงแรงและมีปริมาณการซื้อขายค่อนข้างมาก เช่น หุ้นบริษัทหลักทรัพย์ หุ้นธนาคาร หุ้นอสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นพลังงาน จะมีราคาขึ้นลงตาม "กระแสเงิน" หรือที่นักวิเคราะห์เรียกว่า Fund Flow ที่นักลงทุนโดยเฉพาะชาวต่างประเทศขนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมาก ดังนั้น ในยามที่ตลาดหุ้นเป็นกระทิง หุ้นเหล่านั้นจะมีราคาวิ่งขึ้นไปได้รวดเร็วทั้ง ๆ ที่ผลการดำเนินงานก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นหรือดีขึ้นก็อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานที่แท้จริง และนี่ก็เป็นเกมที่ Value Investor ส่วนใหญ่หรือจำนวนมากไม่ถนัด

               ถ้ามองทางด้านของมิติของเวลาแล้ว เราก็จะพบว่า ตลาดหุ้นโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมีเวลาที่เป็นกระทิงค่อนข้างสั้น เช่นเดียวกับตลาดหมีก็มักจะอยู่ไม่นาน ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มักเป็นตลาด "ธรรมดา" ที่ดัชนีมีการปรับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ในระดับไม่เกิน 20-25% ต่อปีหรือถ้าจะลบก็อยู่ในอัตราไม่มากนัก ดังนั้น ในสายตาของ Value Investor แล้ว เวลาของการทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนนั้นค่อนข้างจะยาวนานมาก เกือบจะพูดได้ว่าเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ "ทุกเวลา" ขึ้นอยู่กับตัวหุ้นที่เจอ ในขณะที่สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่หรือนักเก็งกำไรแล้ว เวลาลงทุนที่ดีก็คือในช่วงที่หุ้นบูมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นกว่ามาก

               ด้วยเหตุผลดังกล่าว ลักษณะของการสร้างผลตอบแทนหรือทำกำไรของ VI กับนักลงทุนทั่วไปหรือนักเก็งกำไรจึงน่าจะต่างกัน นั่นก็คือ VI น่าจะมีผลงานการลงทุนที่ช้า ๆ แต่ค่อนสม่ำเสมอเดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปและเฉพาะอย่างยิ่งนักเก็งกำไรจะมีผลการลงทุนที่โดด เด่นมาก ๆ ในช่วงที่หุ้นเป็นกระทิงแต่จะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงนักเก็งกำไรรายใหญ่บางคนที่บอกว่าในช่วงกระทิง ของปี 2546 นั้น เขากำไรปีเดียวคิดเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาอาจจะทำกำไรได้เพียงปีละ 30-40% เท่านั้นแต่ก็มักจะได้ผลตอบแทนที่ดีเกือบทุกปีแม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะไม่ไป ไหน ดังนั้น การเป็น Value Investor นั้น ก็ควรที่จะหมายความว่า เรากำลังยอมเลือกที่จะเดินทาง "สายเต่า" คือ ช้า ๆ แต่แน่นอน และยอมที่จะ "สละ" โอกาสที่จะทำกำไรปีเดียว "หลายร้อยเปอร์เซ็นต์" ที่นักเก็งกำไรที่มีความสามารถบางคนอาจจะทำได้

               คำถามสุดท้ายที่บางคนอาจจะอยากถามก็คือ เราควรที่จะปรับตัวปรับพอร์ตหรือไม่แทนที่จะนั่ง "ทำใจ" คำตอบของผมก็คือ มันเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอาจจะทำให้เราเสียวินัยในการลงทุน ที่ว่าเสี่ยงก็คือ ในวันที่เราปรับพอร์ต หุ้น "ตลาด" อาจจะปรับตัวลดลง ตลาดกระทิงอาจจะไม่ไปต่อ ทำให้เราขาดทุนได้ เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้หรือคาดการณ์ได้แม่นยำว่ากระทิงรอบนี้จะพาดัชนีไปถึงไหน และที่ว่าอาจทำให้เราเสียวินัยในการลงทุนก็คือ ถ้าเราปรับพอร์ตแล้วสามารถทำกำไรได้ดีกว่าพอร์ตเดิม เราก็อาจจะเริ่มคิดว่าเรามีความสามารถในการคาดการณ์ตลาดเช่นเดียวกับความ สามารถในการดูผลการดำเนินงานของบริษัท และในโอกาสต่อ ๆ ไป เราก็จะเริ่มทำการปรับพอร์ตไปเรื่อย ๆ เมื่อเราคิดว่าตลาดจะเป็น "กระทิง" และในไม่ช้าเราก็จะกลายเป็น "นักลงทุนมหัศจรรย์" ที่เป็นได้ทั้ง "เต่า" และ "กระต่าย" ขึ้นอยู่กับ "สถานการณ์" ซึ่งในประสบการณ์ของผมนั้น ยังไม่เคยเจอคนที่ทำได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘