Turnover List คือ

สัปดาห์ ที่ผ่านมาปรากฏข่าว Turnover List กันไม่เว้นแต่ละวัน บ้างก็ว่า มีไว้ทำไม หุ้นตัวไหนอยู่ใน Turnover List เป็นหุ้นอันตรายใช่หรือไม่ แล้วมาตรการห้ามมาร์จิ้นและเน้ตเซทเทิ้ลเม้นท์ทำไมมาเกี่ยวกับ Turnover List จน Turnover List กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้ลงทุน วันนี้ผมเลยขอถือโอกาสอธิบายความเป็นมาและเบื้องหลังของ Turnover List ก็แล้วกันนะครับ
Turnover List นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นกันชัดๆ ว่าหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีการซื้อกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งผู้อ่านก็คงมีคำถามต่อว่า แล้วดูแค่จำนวนกับปริมาณการซื้อมาเรียงลำดับไม่ได้หรือ ก็ต้องขอบอกว่าไม่พอครับ เนื่องจากเราควรจะต้องดูความสัมพันธ์ของปริมาณหุ้นที่มีการซื้อเทียบกับ จำนวนหุ้น free float ที่มีอยู่ในตลาดด้วย วิธีการที่ ก.ล.ต. ใช้ในการจัดทำ Turnover List ก็คือ การนำข้อมูลปริมาณการซื้อของหุ้นตัวนั้นๆ ใน 1 สัปดาห์ มาเทียบกับ free float ของหุ้นตัวนั้น ก็จะได้ค่า Turnover Ratio ออกมา ที่นี้เราก็ตัดเอาหุ้นเฉพาะ 50 ตัวแรกที่มี Turnover Ratio สูงสุดขึ้นมา แล้วเอามาแสดงไว้ใน Turnover List เท่านั้นเองครับ โดยรายชื่อหุ้นเหล่านี้เรายังไม่ได้มีการดูกันว่าหุ้นตัวนั้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร
แต่ก็บังเอิญอีกล่ะครับว่าใน 50 ตัวนี้ก็จะมีหุ้นที่มีผลประกอบการดีมากน้อยหรือขาดทุนแตกต่างกันไป และตรงนี้เอง สิ่งที่ ก.ล.ต. กังวลก็คือ ถ้าหุ้นตัวไหนมี fundamental ไม่ค่อยดี แต่กลับมี Turnover Ratio หรือการซื้อกันมาก ในขณะที่ free float น้อย ถือว่าน่าเป็นห่วงครับ ก.ล.ต. จึงขอให้โบรกเกอร์ ต้องรายงานการซื้อขายเฉพาะหุ้นบางตัวที่อยู่ใน Turnover List เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้โบรกเกอร์ระมัดระวังเกี่ยวกับคำแนะนำที่จะให้แก่ผู้ ลงทุน และในขณะเดียวกันผู้ลงทุนจะได้สามารถใช้ Turnover List นี้ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยเช่นกัน
อย่าสับสนนะครับ ขอย้ำว่าหุ้นที่มี Turnover Ratio สูง หรือมีรอบหมุนของการซื้อสูง ไม่ได้หมายความว่าหุ้นเหล่านี้มีปัญหา หรือ เป็นหุ้นต้องห้าม เพียงแต่เป็นสัญญาณเตือนผู้ลงทุนให้ใช้วิจารณญาณมากกว่าปกติ ในการจะเลือกลงทุนในหุ้นพวกนี้ โดยควรถามข้อมูล fundamental จากโบรกเกอร์ก็ได้ หรือไม่ก็หาบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้อ่านและศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ ซื้อขายหุ้นด้วยนะครับ
Turnover List นี้จะใช้เป็นข้อมูลของการซื้อรายสัปดาห์ ตั้งแต่วันศุกร์ ถึง วันพฤหัสบดีของสัปดาห์ถัดไปและ list ใหม่ก็จะมีการ update ทุกเย็นวันศุกร์ หาดูได้ง่ายๆ ครับที่ ในเว็บไซต์ www.sec.or.th หัวข้อ What’s New แล้วคลิ๊กปุ่ม Turnover List ครับ อยากแนะนำว่าผู้ลงทุนควรเข้ามาดูด้วยตัวเองครับ แทนที่จะรอฟังผลตามสื่อต่างๆ เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ก็ได้มีการหารือกับ ก.ล.ต. ว่ามีหุ้นใน Turnover List บางลักษณะ ซึ่งผู้ลงทุนควรต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหากหลงเข้าไปซื้อขายอาจมีความเสี่ยงมากถึงมากที่สุด จึงได้มีการเสนอกันว่า หากหุ้นนั้นมี 1-week Turnover Ratio ตั้งแต่ 100% ขึ้นไป และ มีค่า P/E Ratio สูงกว่า 100 เท่า หรือ มีผลการดำเนินงานขาดทุน ก็ควรห้ามมาร์จิ้นและเน้ตเซทเทิ้ลเม้นท์ในหุ้นดังกล่าวกันเลย ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 ก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเริ่มมีการห้ามมาร์จิ้นและเน้ตเซทเทิ้ลเม้นท์ สำหรับหุ้นที่เข้าเงื่อนไขที่ว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2547 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวน่าจะไม่มีผลกระทบต่อตลาด เพราะอย่างที่บอกไว้ว่ามีหุ้นน้อยมากที่จะเข้าเงื่อนไขดังกล่าว (เช่น ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 ปรากฎว่าไม่มีหุ้นตัวใดเข้าข่ายเลยครับ) และถึงแม้จะมีหุ้นตัวใดที่เข้าข่ายดังกล่าว การซื้อขายหุ้นตัวนั้นก็ยังทำได้ตามปกตินะครับ
มีคนแซวครับว่าไข้ หวัดนกก็ทำให้ตลาดหุ้นระส่ำระสายพอสมควรแล้ว อย่าต้องเจอไข้หวัด ก.ล.ต. อีกเลย ผมเลยบอกไปว่า เรามาฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองกันเถอะ ก.ล.ต. จะเป็นคนให้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกันรวมทั้งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายมี การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผู้ลงทุนเองก็ควรจะศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเป็นอย่างดีก่อนตัดสินใจลง ทุน และการหลีกเลี่ยงหุ้นที่ผิดปกติ จะได้ไม่เป็นกังวลกับข่าวเกี่ยวกับมาตรการดำเนินการต่าง ๆ จนเข็ดขยาดที่จะลงทุน ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ลงทุนทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าก็จะได้ซื้อขายหุ้นได้อย่างสบาย ใจ…ดีไหมครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘