จิตวิทยา การลงทุนว่าด้วยเรื่องของกำไรคาดหวัง และการทำลายอคติของความต้องการที่จะ ถูกต้อง อยู่เสมอ Trading on Expectancy by Dr. Van K. Tharp (Part 2)

อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อคุณมีอคติในการที่จะต้อง “ถูกต้อง” อยู่เสมอ?
เมื่อคุณต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั้น สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณจะรีบขายทำกำไรอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าคุณกำลังเริ่มมีกำไรจากการลงทุนของคุณ ราคาของมันได้วิ่งขึ้นติดกันถึง 3 วันแล้ว และนี่ทำให้คุณมีกำไรขึ้นมาถึง 500 ดอลลาร์ในทันที แต่เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 นั้น กำไรของคุณกลับลดลงไปประมาณ 150 ดอลลาร์ หรือเท่ากับว่าในขณะนี้ คุณมีกำไรเหลืออยู่เพียง 350 ดอลลาร์เท่านั้น คุณจึงเริ่มบอกกับตัวเองว่า “ฉันน่าจะรีบขายมันซะ เพราะราคาของมันอาจจะร่วงลงไป และนั่นจะทำให้ฉันไม่เหลือกำไรอีกเลยก็ได้” — คุณ กำลังทำอะไรอยู่น่ะหรือ? สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณกำลัง “ตัดกำไรอย่างรวดเร็ว” ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกฏทองของการลงทุน ซึ่งบอกให้คุณ “ปล่อยให้กำไรวิ่งต่อไป” นั่นเอง
เอาล่ะ ในคราวนี้ เราลองมาดูสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในทางตรงกันข้ามกันบ้าง สมมุติว่าคุณเข้าซื้อหุ้นราคา 50 ดอลลาร์เป็นจำนวน 100 หุ้น และคุณเป็นนักเล่นหุ้นที่ดี คุณจึงตัดสินใจที่จะตัดขาดทุน หากราคาของมันร่วงลงมาถึง 45 ดอลลาร์/หุ้น ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณยอมเสี่ยงเงิน 500 ดอลลาร์จากเงิน 5,000 ดอลลาร์ที่คุณทำการลงทุนไปนั่นเอง
แล้วอะไรคือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อราคาของหุ้นตกลงไปที่ 45 ดอลลาร์/หุ้นนะหรือ? คุณก็มักที่จะคิดขึ้นมาว่า “ถ้าฉันขายมันในตอนนี้ มันอาจจะวิ่งขึ้นในวันถัดไปก็ได้ นั่นจะทำให้ฉันเสียเงิน 500 ดอลลาร์ไปฟรีๆ ฉันน่าจะรอไปอีกสักวันสองวัน เผื่อว่าหุ้นจะวิ่งกลับขึ้นไปดีกว่า” แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นในอีกวันสองวันต่อมาก็คือ ราคาของหุ้นกลับร่วงลงไปอีกที่ 41 ดอลลาร์/หุ้น และนั่นทำให้คุณเกิดการขาดทุนขึ้นทั้งหมดถึง 900 ดอลลาร์เลยทีเดียว และหากว่าการตัดขาดทุนที่ 500 ดอลลาร์ในครั้งแรกถือเป็นเรื่องยากสำหรับคุณแล้วล่ะก็ มันก็มักที่จะยากกว่ามากมาย ในการที่คุณจะต้องตัดขาดทุนถึง 900 ดอลลาร์ในครั้งที่สอง แล้วอะไรที่มักจะเกิดขึ้นต่อไปกับคุณล่ะ? คุณก็มักที่จะพูดกับตัวเองว่า “ฉันว่านี่จะต้องเป็นช่วงราคาที่ต่ำที่สุดของมันแน่ๆ จริงๆแล้วฉันน่าที่จะซื้อมันที่ราคา 41 ดอลลาร์แทนที่จะเป็นที่ราคา 50 ดอลลาร์ในวันก่อน และคนอื่นก็คงจะรู้อย่างนี้ด้วยเช่นกัน ฉันไม่ควรขายมันแล้วล่ะ” และนี่ทำให้คุณตัดสินใจที่จะไม่ขายมันทิ้งไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในอาทิตย์ต่อมานั้น ราคาหุ้นก็กลับตกลงไปอีกถึงราคา 29 ดอลลาร์/หุ้น แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณมักจะทำล่ะ? ในขณะนี้คุณขาดทุนถึง 2,100 ดอลลาร์แล้ว และหากว่ามันยากสำหรับคุณในการที่จะตัดขาดทุนที่ 500 ดอลลาร์ มันก็มักที่จะยากกว่าอีกมากมายในการที่จะตัดขาดทุนที่ 2,100 ดอลลาร์เช่นกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ เป็นไปไม่ได้เลยนั่นเอง และนี่อาจทำให้คุณพูดกับตัวเองอีกครั้งว่า “มันไกล้จะจบแล้วล่ะ เดี๋ยวราคาก็คงวิ่งกลับขึ้นไป ฉันน่าจะปล่อยมันไว้ตรงนี้สักปีสองปีดีกว่า อีกอย่าง ราคาหุ้นที่ 29 ดอลลาร์ตรงนี้มันถูกมากๆ ฉันน่าจะปล่อยมันเอาไว้ แล้วถือยาวเสียเลย”
หลังจากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ราคาหุ้นของคุณกลับซื้อ-ขายกันอยู่ที่ราคาเพียงแค่ 25 เซนท์/หุ้นเท่านั้น นี่ทำให้คุณขาดทุนถึง 4,975 ดอลลาร์เลยทีเดียว เหตุ เพียงเพราะคุณกลายเป็นนักลงทุน “จำเป็น” โดยเฝ้าหวังและรอคอยว่าสักวันหนึ่ง สิ่งที่คุณคิดจะกลับกลายมาเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” นั่นเอง
ทำไมความที่จะต้อง “ถูกต้อง” จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญเหลือเกิน?
มีเหตุผลเบื้องหลังหลักๆอยู่ 2 อย่าง ที่ทำให้เราให้ความสนใจอย่างมาก ไปที่ความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อย่างแรกก็คือ เราถูกสั่งสอนและวางเงื่อนไข จากระบบการศึกษาตั้งแต่เด็ก ในระบบของการเรียนนั้น คุณจะถูกสอนว่ามีคำตอบที่ “ถูก” หรือ “ผิด” เท่านั้น… แล้วอะไรคือคำตอบที่ถูกต้องน่ะหรือ? คำตอบก็คือ หากคุณต้องการที่จะเอาตัวรอดในการเรียนแล้วล่ะก็ สิ่งที่ “ถูก” ก็คือสิ่งที่ตรงกับสิ่งที่ครูของคุณได้สอนเอาไว้นั่นเอง
นอกจากนี้ ผลการเรียนของคุณยังถูกวัดผลเป็นช่วงๆ จากการสอบโดยวิธีการที่ให้คุณเลือกว่าคำตอบไหน “ถูก” หรือ “ผิด” และหากคุณไม่สามารถเลือกคำตอบที่ “ถูก” ได้เกินกว่า 70% แล้วล่ะก็ คุณก็จะถูกระบุว่าสอบตก หรือเป็นนักเรียนที่ใช้ไม่ได้นั่นเอง ปมในใจเหล่านี้ของคุณ อาจกลายเป็นสิ่งที่ถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจนก็เป็นได้ ถ้าไม่ใช่กับเพื่อนของคุณ ก็อาจจะเป็นในสักที่หนึ่ง หลังจากนั้น ผลการเรียนของคุณก็จะติดตัวคุณกลับบ้านไป ในรูปแบบของเกรดหรือระดับผลการศึกษา พร้อมกับคำติชมของอาจารย์ต่อท้าย เช่นว่า “Johnny เป็นคนเรียนรู้ได้ช้า (หรืออาจฉลาดแต่ไม่ขยัน)” และเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันก็มักที่จะมีคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และนั่นก็คือพ่อแม่ของคุณเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะเข้าใจระบบการเรียนเป็นอย่างดี และพยายามที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้คำตอบนั้น “ถูกต้อง” อยู่เสมอ แต่คุณก็อาจถูกมองว่าผลการเรียนของคุณยังไม่ดีนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วคุณอาจต้องทำคะแนนถึง 94% เพื่อที่จะได้เกรดที่ยอดเยี่ยม แต่ลองคิดดูว่า มีเด็กกี่คนที่มักจะถูกพูดกลับมาจากพ่อแม่ของเขาว่า “แล้วทำไมไม่ทำให้ได้ 100% ไปเลยล่ะ?”
จิตวิทยาการลงทุน วิธีการเล่นหุ้น I_expect_nothing_I_fear_nothing_I_am_free-ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่นักเล่นหุ้นหรือนักลงทุนส่วนใหญ่ จึงต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆได้ “ถูกต้อง” อยู่ตลอดเวลา และความพยายามที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั้น ก็มักที่จะกลายเป็นต้นทุนที่แสนแพงสำหรับพวกเขาเหล่านี้ และไม่ว่าคุณจะใช้เวลาในชีวิตของการเรียนถึง 20 ปีเพื่อที่จะได้เกรดดีๆ หรือแม้ว่ามันจะน้อยกว่า 10 ปีก็ตาม แต่มันก็มักจะทำให้คุณถูกวางเงื่อนไข จากระบบการศึกษาที่บ่มเพราะให้คุณต้องการ “ถูก” อยู่เสมอนั่นเอง
เหตุผลประการที่สอง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอก็เนื่องจากว่า เหล่าผู้ให้บริการต่างๆในวงการการเงินนั้น มักที่จะพยายามพูดถึง หรือให้ความสำคัญกับความแม่นยำหรือ “ถูกต้อง” อยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น Software ต่างๆที่ช่วยในการเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้น ก็มักที่จะถูกผลิตออกมาในรูปแบบที่ช่วยให้คุณสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ การลงทุนของคุณได้อย่างมากมาย โดยที่แนวคิดก็คือ เมื่อคุณได้ปรับปรุงระบบการลงทุนของคุณ โดยการวางเส้นต่างๆไปบนกราฟราคาหุ้นแล้ว (ซึ่งจะช่วยบอกถึงจุดซื้อ-ขายของคุณ) มันสามารถที่จะช่วยให้คุณมีความแม่นยำในการซื้อ-ขายของคุณมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพยายามปรับเปลี่ยนระบบไปเรื่อยๆของคุณเช่นนี้ ก็มักที่จะให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ เมื่อถูกนำมาใช้จริงๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆเหล่านี้ก็ยังสามารถดึงความสนใจของผู้คนได้อย่างมากมาย เพราะมันสามารถตอบสนองความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอของพวกเราได้นั่นเอง
ผมเคยทำการโฆษณาเกี่ยวกับคอร์สการอบรม เกี่ยวกับการสร้างระบบการลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล (How To Develop a Trading System That Fits You) โดยมีแนวคิดมากจากการที่ว่า นักเก็งกำไรชั้นนำระดับโลกทุกคนนั้น สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นขึ้นมาได้ ก็เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะพัฒนาระบบการลงทุน ที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพและความเชื่อของพวกเขาออกมาได้ โดยที่การอบรมของเรานั้น ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสอนให้รู้ถึงวิธีการ ที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้… เอาล่ะ! คุณอาจจะคิดว่ามันน่าจะเป็นที่สนใจของหลายๆคน จริงไหม? แต่เมื่อมันถูกเปรียบเทียบกับหัวข้อการอบรมของใครบางคน ที่โฆษณาว่าเขาได้ทำการพัฒนาระบบการลงทุน ซึ่งสามารถให้ความแม่นยำกว่า 85% ออกมาได้ อะไรคือสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจกว่ากัน? — ระหว่างเข้าอบรมการพัฒนาระบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง หรือการเข้าอบรมการใช้ระบบการลงทุนซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 85%? แน่นอนว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว พวกเขามักที่จะสนใจกับระบบการลงทุนที่น่าเหลือเชื่อแบบนั้นมากกว่า ทำไมน่ะหรือ? เพราะคนส่วนใหญ่มีอคติ ที่ต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอ และระบบการลงทุนที่มีความแม่นยำสูงนั้น ก็สามารถที่จะช่วยตอบโจทย์พวกเขาได้เป็นอย่างดี

แนวทางการแก้ไข : การมองไปที่ “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy
ในการที่คุณจะสามารถ อยู่รอดในการเก็งกำไรต่างๆได้นั้น คุณต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงแนวคิดของ “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy” เป็นอย่างดี โดยที่แนวคิดก็คือ ในทุกๆการซื้อ-ขายของคุณนั้น ควรที่จะต้องมีจุดที่ถูกกำหนดเอาไว้เพื่อทำการขายตัดขาดทุน (จุดที่บอกกับคุณว่า คุณได้คิดผิดไป และสมควรที่จะถอยหลังออกมา) โดยที่เราจะกำหนดมันไว้ ว่ามันคือความเสี่ยง (Risk) ที่แย่ที่สุดที่เราอาจเจอ และเรียกมันสั้นๆว่าค่า “R” ยกตัวอย่างเช่น หากว่าคุณต้องทำการตัดขาดทุนออกมา ในกรณีแย่ที่สุดคุณจะเสียเงิน 100 ดอลลาร์ เราจะเรียกการขาดทุน 100 ดอลลาร์นี้ว่า “1R” นั่นเอง
เมื่อคุณเข้าใจแนวคิด นี้แล้ว (ค่า “R”) คุณก็สามารถที่จะนำผลกำไรขาดทุนทั้งหมด มาทำให้อยู่ในรูปแบบของค่า “R” ออกมาได้ โดยเราจะเรียกมันว่าค่าผลคูณจากความเสี่ยงเริ่มต้น หรือค่า “R-Multiple” นั่นเอง โดยในตารางที่ 1 คือผลของการนำผลกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้น มาเปลี่ยนแปลงให้เป็นค่า R-Multiples
ตารางที่1: ผลกำไรขาดทุนในรูปแบบของ R-Multiples
ความเสี่ยงเริ่มต้น (Initial Risk) ผลกำไร-ขาดทุน R-Multiples
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 -$100 -1R
$100 +$2,000 +20R
ผลรวม +$1,100 +11R
ค่าเฉลี่ย +$110 per trade +1.1R/Trade
มีหลายสิ่งที่น่าสนใจในอยู่ในตารางนี้ อย่างแรกก็คือ 90% ของผลการซื้อ-ขายนั้นเกิดการขาดทุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราควบคุมมันไว้ที่เพียงครั้งละ ดอลลาร์เท่านั้น อย่างที่สองก็คือ เราได้กำไรเพียงครั้งเดียว แต่เป็นกำไรถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 20 เท่าของความเสี่ยงเริ่มต้นที่เรากำหนดเอาไว้ ผลรวมที่ออกมาจึงทำให้เราได้กำไรสุทธิ 1,100 ดอลลาร์ภายในการซื้อ-ขายทั้งหมด 10 ครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะขาดทุนไปถึง 9 ครั้งก็ตาม
วิธีการเล่นหุ้น expect-the-best คุณจะสังเกตุได้ว่า เราสามารถที่จะแปลงผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น ให้กลายเป็นผลคูณของค่าความเสี่ยงเริ่มต้น (R) ขึ้นมาได้ และเมื่อเราทำอย่างนั้น เราจะสังเกตุได้ว่า ผลกำไรโดยเฉลี่ยในการซื้อ-ขายทั้งหมด 10 ครั้งนั้น จะเท่ากับ 1.1R และนี่คือสิ่งที่เรียกว่าค่า “กำไรคาดหวัง หรือ Expectancy” จากระบบการลงทุนของเรา ซึ่งบอกกับเราว่า ถึงแม้ว่าเราจะขาดทุนถึง 90% ในการซื้อ-ขาย แต่เราก็ยังมี Expectancy ที่เป็นบวกอยู่นั่นเอง
ดังนั้น เมื่อคุณมองไปที่ระบบการลงทุนใดๆก็ตาม คุณควรที่จะมองผลกำไร-ขาดทุนที่เกิดขึ้นของมัน ในแง่ของค่า “R-Multiples” แทน ซึ่งเมื่อคุณสามารถทำได้อย่างนั้น จงถามตัวคุณเองว่า “ค่าเฉลี่ยของค่า R ที่เกิดขึ้นจากระบบนี้ (Expectancy) อยู่ที่เท่าไหร่?” โดยหากว่ามันมีค่าที่เป็นบวก นั่นแปลว่าระบบการลงทุนที่คุณกำลังวิเคราะห์อยู่นั้นอาจจะสามารถทำกำไรใน ระยะยาวให้คุณได้นั่นเอง และ ยิ่งหากว่ามันให้ค่า Expectancy ที่เป็นบวกมากๆ และให้สัญญาณบ่อยครั้งมากเท่าใด นี่จะเป็นสิ่งที่บอกว่า ระบบการลงทุนนั้นๆ จะให้ผลตอบแทนเป็นอย่างมากภายใต้การซื้อ-ขายเป็นจำนวนหนึ่ง (Large number of Trades) และนี่คือวิธีคิด ที่จะทำให้คุณหลุดออกมาจากอคติของความต้องการที่จะ “ถูกต้อง” อยู่เสมอนั่นเอง
สำหรับบทความนี้ก็จบเพียงเท่านี้นะครับ ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หรือเคยย้อนมองดูตัวเองบ้างไหมว่า เราควบคุมการขาดทุนเอาไว้ที่กี่ “R” หรือเราสามารถควบคุมให้ค่า “R” ที่ออกมาในแต่ละครั้งออกมาไกล้เคียงกับที่เราวางแผนไว้ได้แค่ไหน? หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนนะครับ :D

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘