Super Investor

นักลงทุนแบบ เน้นคุณค่าหรือ Value Investor ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าตนเองมีความสามารถในการลงทุนที่จะทำให้ได้รับผลตอบแทน เหนือกว่าผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์   บางคนตั้งเป้าว่าจะทำได้ดีกว่าผลตอบแทนของตลาดถึงปีละ 10-20%  ในระยะยาวอย่างต่อเนื่องได้   พวกเขาคิดว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้น   มาจากผลงานการลงทุนของ  “Mr. Market”  หรือ  “นายตลาด”  ซึ่งเป็นคนที่ เบน เกรแฮม  บิดาของการลงทุนแบบ Value Investment บรรยายว่าเป็นคนที่  “มีอารมณ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย  ไร้เหตุผล  และมักจะมีอารมณ์เบิกบานหรือหดหู่เกินกว่าเหตุ  ทำให้เขาตั้งราคาซื้อหุ้นสูงลิ่วหรือเทขายหุ้นในราคาที่ต่ำเกินความเป็น จริง   ซึ่งทำให้เป็นโอกาสของ  Value Investor ซึ่งเป็นคนที่มีเหตุผลสามารถเข้ามาฉวยโอกาสทำกำไรจากการลงทุนได้”  พูดโดยสรุปก็คือ   Value Investor มักมองว่า  “นายตลาด”  หรือนักลงทุนโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์นั้น    เป็นนักลงทุนมือรองบ่อนที่ไม่มีทางสร้างผลตอบแทนที่ดีได้    เหนือสิ่งอื่นใด  ถ้าคุณอยากได้ผลตอบแทนเท่ากับนายตลาด   คุณก็สามารถทำได้ง่าย ๆ  โดยลงทุนซื้อกองทุนรวมที่อิงกับดัชนีหุ้นได้
แต่ ผลตอบแทนของนายตลาดหรือก็คือ  การเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นบวกปันผลที่ได้รับในแต่ละปีนั้น   ในช่วงเวลากว่า 30 ปีของตลาดหุ้นไทยก็ดูไม่เลวนัก  ว่าที่จริงควรเรียกว่าน่าประทับใจมากกว่า     เพราะมันให้ผลตอบแทนถึงปีละประมาณ 10%  แบบทบต้นซึ่งน่าจะเป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในบรรดาการลงทุนทั้งหลายในประเทศ ไทย   ดังนั้น  การที่มองว่านายตลาดเป็นนักลงทุน  “กระจอก”  จึงอาจจะเป็นสิ่งที่เราเข้าใจผิดหรือไม่?    นายตลาดเป็นอะไรกันแน่?   เขาเป็นคนอย่างที่ เบน เกรแฮม บอกจริงหรือ?   หรือเขาอาจจะเคยเป็นอย่างที่เบนพูดแต่เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนไปแล้ว?    หรือเขาอาจจะเป็นอย่างที่เบนพูดในบางครั้งบางช่วงเวลาแต่ในยามปกติเขาก็เป็น คนที่มีอารมณ์หนักแน่นและมีเหตุผลดี    ว่าที่จริงนักลงทุนหรือคนทุกคนก็เป็นแบบนั้น   ใครจะเป็นคนที่มีเหตุผลและมีอารมณ์ที่เยือกเย็นได้ตลอดเวลา   จริงไหม?    เพราะฉะนั้น   แม้ว่าคุณจะเป็น Value Investor  หลาย ๆ  ครั้งคุณก็อาจจะไม่ได้แตกต่างจาก  Mr. Market เท่าไรเมื่อต้องเผชิญกับภาวะฉุกเฉินหรืออยู่บรรยากาศที่สดใสที่สุด
ใน ตลาดที่ก้าวหน้าและเต็มไปด้วยนักลงทุนมืออาชีพที่บริหารกองทุนรวมที่มีเงิน ลงทุนมหาศาลอย่างในตลาดสหรัฐนั้น  “นายตลาด”   ก็คือคนที่มักเรียนจบวิชาทางการเงินและการลงทุนจากมหาวิทยาลัยระดับไอวีลี กหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สุดของประเทศ    พวกเขาศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับการลงทุนและผมเองเชื่อว่าคนเหล่านี้จำนวนมากคง ได้อ่านหนังสือและกลยุทธ์การลงทุนแบบ  Value Investment  รวมถึงการลงทุนแบบ  วอเร็น บัฟเฟตต์  ดังนั้นจะมาบอกว่าพวกเขาเป็น  “หมู”  ในตลาดหุ้นคงเป็นไปไม่ได้   จะบอกว่าพวกเขาอาจจะมีสถานะทางอารมณ์ที่ไม่แข็งแรงก็ไม่น่าจะใช่อีก   ว่าที่จริงพวกเขาคงไม่ได้มีอารมณ์อะไรมากมายนักเวลาลงทุนเพราะเงินที่ลงทุน นั้นไม่ใช่ของเขา    สิ่งเดียวที่ผมคิดว่าพวกเขาอาจจะเสียเปรียบนักลงทุนเน้นคุณค่าแบบพวกเราก็ คือ   เราสามารถถือหุ้นได้ยาวกว่าโดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะมาว่าหรือไล่เราออกจากงาน ถ้าผลการดำเนินงานในระยะสั้นอาจจะออกมาไม่ดี    อีกเรื่องหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของขนาดเม็ดเงินที่ใช้ลงทุนซึ่งทำให้พวกเขา ไม่สามารถลงทุนในบริษัทที่เล็กเกินไปได้
และ ด้วยเหตุดังกล่าว   “นายตลาด”  ของตลาดหุ้นสหรัฐจึงสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนได้ดีมาก   จากการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าก็พบว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นนั้น   ดีกว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไปซึ่งรวมถึงผู้บริหารกองทุนรวมแต่ละกองปีแล้วปีเล่าต่อเนื่องยาวนาน   ถ้าจัดอันดับยอดฝีมือกันก็จะพบว่า  ผลตอบแทนของตลาดหุ้นอย่างดัชนี S&P นั้นสามารถเอาชนะผลตอบแทนของกองทุนรวมต่าง ๆ  แทบจะทุกปี   ผลตอบแทนของดัชนี S&P นั้นเรียกว่าดีที่สุดในระดับ 10-20%  แรกของบรรดานักลงทุนทั้งหลาย   ว่าที่จริงมันดีมากเสียจน  เบน  เกรแฮม  ยอมรับ   และแม้ว่าเขาจะไม่ได้ไปแก้ไขข้อความในหนังสือของเขา   แต่ก่อนตายเขาบอกว่า   เขาเปลี่ยนไปแล้ว   เขาคิดว่าตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมีประสิทธิภาพ   นั่นเป็นการยอมรับว่า  “นายตลาดแน่มาก”    ยิ่งไปกว่านั้น   วอเร็น บัฟเฟตต์ เอง  ในระยะหลังก็ยอมรับเป็นนัยว่า  ถ้าคุณไม่แน่จริง  ซึ่งก็น่าจะเป็นนักลงทุน  99%   ในตลาดหุ้น  คุณควรยอมรับว่าคนที่แน่จริง ๆ  ในตลาดหุ้นก็คือ “นายตลาด”  ดังนั้น  ทางที่ดีคุณควรลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีหุ้นแทนที่จะคิดลงทุนเอง
ใน ตลาดหุ้นไทยนั้น   นายตลาดก็ดูเหมือนว่าจะเก่งขึ้นเรื่อย ๆ  ว่าที่จริงมันก็ต้องเป็นอย่างนั้น    เพราะกองทุนรวมนั้นเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  คนที่เข้ามาบริหารการลงทุนก็มาจากคนที่จบวิชาการลงทุนจากมหาวิทยาลัยชั้น นำ    คนที่ลงทุนส่วนบุคคลเองก็มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ   จำนวนมากใช้หลักการแบบ  Value Investment  พูดโดยรวมก็คือ   คุณภาพของนักลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้น  ซึ่งนี่ก็เท่ากับการบอกว่า  “นายตลาด”  มีคุณสมบัติดีขึ้นเรื่อย  ๆ   และผมเชื่อว่าถ้าไปดูสถิติผลตอบแทนของนายตลาดหรือผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย  ผมก็เชื่อว่ามันน่าจะดีกว่าผลตอบแทนของนักลงทุนส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมาแม้ ว่าฝีมืออาจจะยังไม่เท่านายตลาดของตลาดหุ้นสหรัฐ
ผม เขียนมายืดยาวที่แสดงให้เห็นว่านายตลาดนั้นเป็นนักลงทุนที่เก่งมาก   แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรเลิกการลงทุนแบบ  Value Investment   ในตลาดหุ้นไทยนั้น   นายตลาดอาจจะยังไม่เก่งถึงขั้นที่เราไม่อยากจะแข่งด้วย   ผมคิดว่าถ้าเราศึกษาการลงทุนแบบ  Value Investment ให้ดีและมีจิตใจที่มั่นคงเราน่าจะยังสามารถทำผลงานได้ดีกว่าผลตอบแทนของตลาด ได้    เหนือสิ่งใด   การลงทุนเองนั้น   เราไม่เสียค่าใช้จ่ายในการบริหารการลงทุนซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของเราดีขึ้น  
ใน กรณีที่เรายังไม่เก่งพอหรือยังเข้าใจการลงทุนไม่ดีพอแต่เรารู้ว่าตลาดหุ้น เป็นแหล่งที่ให้ผลตอบแทนระยะยาวที่ดีที่สุด   สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ   ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีตลาด  ซึ่งความหมายก็คือ   เราจ้าง   “นายตลาด”  ให้ช่วยบริหารเงินให้เรา  
สุด ท้ายสำหรับ  Value Investor  ผู้มุ่งมั่นก็คือ   อย่า  “ดูแคลน”  นายตลาด   การตั้งเป้าหมายเอาชนะผลตอบแทนตลาดหุ้นสูงถึง 10% ต่อปีในระยะยาวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  อย่าลืมว่า   เรากำลังแข่งกับนักลงทุนที่ดูไม่น่าประทับใจ   แต่ความเป็นจริงก็คือ  เขาเป็น  Super Investor คนหนึ่ง  ผมเชื่อว่า  ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดได้เฉลี่ย 5% ต่อปีในระยะยาว   เราก็เป็น  Super Investor  แล้ว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘