Peak Oil ดอยน้ำมัน

คนที่สนใจ เกี่ยวกับเรื่องของพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันปิโตรเลียมนั้น   สิ่งหนึ่งที่จะต้องรู้ก็คือทฤษฎีสำคัญที่เป็นหัวใจของกำลังการผลิตน้ำมันของ แหล่งผลิตต่าง ๆ  และของโลก    เพราะนี่จะเป็นตัวชี้ที่สำคัญว่า  Supply  หรืออุปทานน้ำมันของโลกจะเป็นอย่างไร   ทฤษฎีนี้มีชื่อเรียกกันง่าย ๆ  ว่า  Peak Oil หรือผมขอแปลตรง ๆ  ว่า  “ดอยน้ำมัน”   และผู้ที่คิดทฤษฎีนี้ก็คือ  ดร. M. King Hubbert ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาและเคยทำงานอยู่กับบริษัท น้ำมัน Shell มานานกว่า 20 ปี อีกทั้งได้ทำงานในฐานะของนักวิจัยให้กับหน่วยงานการสำรวจทางธรณีวิทยาของ รัฐบาลสหรัฐกว่า 12 ปี  และยังมีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์และสแตนฟอร์ดอีก ต่างหาก
Peak Oil คือทฤษฎีที่อธิบายว่าทำไมแหล่งน้ำมันต่าง ๆ  นั้น   ในตอนเริ่มทำการผลิต   กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงจุดหนึ่งก็จะเพิ่มถึงจุดสุดยอด  ซึ่งที่จุดนั้นก็คือจุดที่ได้มีการสูบน้ำมันออกมาจากบ่อแล้วประมาณครึ่ง บ่อ    หลังจากถึงจุดที่มีกำลังการผลิตสูงสุดแล้ว   กำลังการผลิตก็จะค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ   อาจจะปีละ 1-2 %  หรือมากกว่านั้นจนกระทั่งน้ำมันหมดบ่อ  ถ้าดูเป็นเส้นกราฟของการผลิตก็จะเป็นเหมือนรูประฆังคว่ำโดยมีจุดสูงสุดอยู่ ตรงกลาง
คำ อธิบายแบบง่าย ๆ  ว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้นก็คือ   บ่อน้ำมันนั้น  ในช่วงแรกที่มีการเจาะและสูบน้ำมันขึ้นมา    การสูบหรือการไหลของน้ำมันจะเร็วมากเพราะว่าน้ำมันยังอัดกันเต็มภายใต้แรง ดันในบ่อ    พอหลุมถูกเปิดออก   น้ำมันก็แทบจะทะลักขึ้นมาเองโดยไม่ต้องทำอะไร  กำลังการผลิตในช่วงแรก  ๆ  จึงสูงมาก    ต่อมาเมื่อน้ำมันถูกดูดออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ   แรงดันภายในบ่อก็จะลดลงเรื่อย ๆ  หรือหมดไป    น้ำมันก็ไหลออกมายากขึ้น  การสูบก็ยากขึ้นเพราะน้ำมันที่เหลือก็มักจะเป็นน้ำมันที่ข้นขึ้นเพราะน้ำมัน ที่ใสและดีถูกดูดออกไปหมดแล้ว   ในขั้นตอนนี้เรายังจำเป็นต้องช่วยโดยการอัดก๊าซเช่น  คาร์บอนไดอ๊อกไซด์เข้าไปในหลุมและ/หรืออัดน้ำหรือสารเคมีที่จะทำให้น้ำมัน ดิบลดความข้นลงเพื่อให้น้ำมันไหลง่ายขึ้น   อย่างไรก็ตาม   กำลังการผลิตของบ่อน้ำมันในช่วงหลังจากจุดสุดยอดแล้วก็จะค่อย ๆ  ลดลงไปเรื่อย ๆ   จนหมดในที่สุด
ใน ปี 1956  หลังจากที่ ดร. Hubbert  คิดทฤษฎี Peak Oil ขึ้นแล้ว  เขาก็ใช้สูตรนี้ทำนายว่า   สหรัฐอเมริกาจะมีกำลังการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดในปี 1970   ซึ่งทำให้เขาถูกหัวเราะเยาะจากผู้เชี่ยวชาญในวงการน้ำมันทั้งหลาย   เพราะว่าตั้งแต่ปี 1956   อเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้นทุกปีและไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเลย   แต่แล้วทุกคนก็ต้องทึ่ง  เพราะหลังจากปี 1971  เป็นต้นไป   กำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐก็ลดลงทุกปีจนถึงทุกวันนี้   และในปี 1975  สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐก็ยอมรับว่าการคำนวณของเขาเกี่ยวกับการ ค่อย ๆ หมดไปของน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินั้นถูกต้อง  
ไม่ ใช่เฉพาะที่อเมริกาเท่านั้นที่เกิดปรากฏการณ์ Peak Oil  ในแหล่งน้ำมันต่าง ๆ  ทั่วโลก   กำลังการผลิตน้ำมันต่างก็ลดลงเมื่อมีการผลิตไปถึงจุดหนึ่งซึ่งตามทฤษฎีก็คือ จุดยอดดอยหรือจุด Peak นั่นเอง   มีการพูดกันว่าแม้แต่ในกลุ่มโอเปกเอง   สมาชิกต่างก็ผลิตไปจนถึงจุดสูงสุดกันเกือบหมดแล้วยกเว้นซาอุดิอาราเบียที่ ยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่บ้างแต่ก็ใกล้ยอดดอยเต็มที    นักวิชาการบางคนถึงกับพูดว่า  โลกเราเองก็มีกำลังการผลิตน้ำมันถึงจุดสูงสุดไปแล้ว   เพราะกำลังการผลิตน้ำมันที่ประมาณ 85 ล้านบาร์เรลต่อวันที่เราใช้อยู่นี้ดูเหมือนจะเริ่มคงที่มาเป็นเวลาพอสมควร แล้ว   โอกาสที่จะผลิตได้เพิ่มอาจจะยาก  เพราะแม้ว่าซาอุดิอาราเบียจะยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้บ้าง   แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นในโลกก็เริ่มถึงจุดที่ผลิตได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ แล้ว   ดังนั้นสิ่งที่ซาอุผลิตได้เพิ่มก็แค่มาชดเชยกับผู้ผลิตอื่นที่ผลิตได้น้อยลง เช่นอินโดนีเซียที่ตอนนี้แม้แต่จะผลิตใช้ในประเทศก็ไม่พอ   ไม่ต้องพูดถึงแหล่งผลิตในทะเลเหนือหรือแหล่งผลิตอื่นที่กำลังการผลิตถอยลงไป เรื่อย ๆ  เพราะอยู่ในช่วงขาลงแล้ว
ตาม การคาดการณ์ของนักวิชาการกลุ่ม Peak Oil  ดูเหมือนว่าโลกเรากำลังจะขาดแคลนน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   และนั่นเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่หยุด   เพราะปริมาณการผลิตนั้นไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อีกและอาจจะใกล้ถึงจุดลดลงใน ขณะที่ความต้องการน้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะจากประเทศอย่างจีนและอินเดีย   ในอีกด้านหนึ่งกำลังการผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมันใหม่ ๆ  ก็มีน้อยมาก  ว่าที่จริงการค้นพบน้ำมันแหล่งใหญ่ ๆ ของโลกนั้น   เกิดขึ้นครั้งสุดท้ายก็ประมาณ 30-40 ปีมาแล้วและโอกาสที่จะเจอแหล่งใหม่ ๆ ขนาดใหญ่ก็ดูมืดมน   และแม้ว่าในขณะนี้จะมีการขุดเจาะน้ำมันกันมากเพราะราคาน้ำมันสูงจูงใจแต่ สิ่งที่พบนั้นดูเหมือนว่าอย่างมากก็แค่ประคองไม่ให้การผลิตน้ำมันของโลกลดลง เท่านั้น   ดังนั้น   ถ้าคิดถึงการเติบโตของการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นเฉพาะจากจีนเพียงประเทศ เดียว   โอกาสที่น้ำมันจะมีเพียงพอให้ใช้ก็มีน้อยมาก    ว่ากันว่าถ้าจะให้มีน้ำมันพอ   เราคงต้องเจอบ่อน้ำมันขนาดเท่ากับของซาอุสัก 2- 3 ประเทศในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งดูแล้วคงเป็นไปไม่ได้
“ผู้ เชี่ยวชาญ”  หลาย ๆ คนและในหลาย ๆ ประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันต่างก็พูดว่า   น้ำมันในโลกนั้นมีกำลังการผลิตเหลือเฟือ   ราคาน้ำมันที่ขึ้นไปเป็นเพราะการเก็งกำไรของนักลงทุนหรือเฮดก์ฟันด์ในตลาด สินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า   นี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่าก็คงจะตอบได้ยาก   แต่ประเด็นที่จะต้องคำนึงถึงก็คือ   คนเหล่านั้น   หลายคนมีผลประโยชน์ทับซ้อน  อย่างเช่นในกลุ่มของโอเปกเอง   ว่ากันว่าตัวเลขกำลังการผลิตหรือปริมาณน้ำมันสำรองของแต่ละประเทศนั้นไม่มี ความโปร่งใสเลย  หลายประเทศดูเหมือนจะพยายามบอกว่าตนเองมีสำรองน้ำมันมาก   เหตุผลก็คือ  เวลาจัดสรรโควตาการผลิตน้ำมันเขาจะจัดกันตามปริมาณสำรองที่แต่ละประเทศมี   เพราะฉะนั้น  แต่ละประเทศจึงมักบอกว่าตนเองมีน้ำมันมากกว่าความเป็นจริง   เช่นเดียวกัน  บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดก็มักจะพยายามบอกว่าตนเองมี สำรองน้ำมันมากเพื่อที่หุ้นของตนจะได้มีราคาสูง   เหล่านี้ทำให้ตัวเลขน้ำมันสำรองของโลก  “เพี้ยน”  และไม่น่าเชื่อถือ   แต่ถ้าดูข้อเท็จจริงของตัวเลขกำลังการผลิตที่ออกมา   ดูเหมือนว่าสถานการณ์น้ำมันของโลกจะเป็นไปในแนวทางของพวกที่เชื่อทฤษฎี  Peak Oil มากกว่า  
ใน ฐานะของนักลงทุน   เราคงต้องติดตามดูไปเรื่อย ๆ และตัดสินใจลงทุนด้วยความรู้และความเข้าใจในเรื่องนี้   ส่วนตัวผมเองนั้น  คงยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะเสี่ยงกับสิ่งที่ตนเองมีความรู้น้อย   แต่นี่ก็คงจะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนโดยรวมได้  เพราะน้ำมันหรือว่าที่จริงก็คือพลังงานนั้น  มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเราลึกซึ้งมาก  นักลงทุนต้องรู้เกี่ยวกับน้ำมันทั้ง ๆ  ที่เขาอาจจะไม่ได้ลงทุนในหุ้นน้ำมันเลย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘