บทสัมภาษณ์ Mark Douglas : Winning mindset(4)

………………………………………………………………………………………………………………………………………
Mark douglasในที่สุดก็มาถึงตอนสุดท้ายของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ครับ และเป็นตอนที่มีแง่คิดที่ดีหลายๆอย่างในการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือในการเล่นหุ้น ของพวกเราทุกคนครับ ต้องขอขอบคุณที่ยังติดตามอ่านอยู่เรื่อยๆนะครับ เพราะมันทำให้ผมมีแรงที่จะแปลลงมาเก็บไว้ในนี้มากๆครับ เข้ามาอ่านกันต่อเลยครับ

Q: ความกลัวที่อยู่ในตัวของเรานั้น ทำให้เกิดพฤติกรรมการเล่นหุ้น ที่ไม่เหมาะสมขึ้นมาใช่ไหมครับ?
A: หากผมกระทำสิ่งใดๆ ด้วยความกลัวที่จะผิดพลาดแล้วล่ะก็ ความกลัวของผมจะเริ่มเข้ามาบดบังวิสัยทัศน์ของผมไป และจะทำให้ผมมัวแต่จดจ่ออยู่กับข้อมูลที่เกิดขึ้น ในทางเดียวกับที่ผมคาดหวังเอาไว้ เพื่อยืนยันว่าผมนั้นทำถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นมันจะบดบังการรับรู้ข้อมูลที่แสดงให้ผมนั้นรู้ว่า ผมกำลังทำสิ่งที่ผิดไปครับ
การที่ผมจะรู้สึกอย่างนั้นก็เพราะว่า การยอมรับว่าผมทำผิดพลาดไปนั้น จะส่งผลกระทบให้ผมรู้สึกถึงความเจ็บปวด จากความผิดพลาดที่ยังติดค้างอยู่ในใจจากครั้งที่ผ่านๆมา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมความกลัวจึงมักทำให้เราตกอยู่ในการลงทุนที่ผิดพลาดนานเกินไปครับ
Q: แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นล่ะครับ?
หลังจากนั้นความกลัวอีกอย่างก็จะโผล่ขึ้นมา เพราะในทุกๆช่วงราคาที่ตลาดร่วงลงไปนั้น ผมจะเริ่มรู้สึกกลัวที่จะสูญเสียเงินทุนของผมไปครับ แต่จนกว่าที่ความกลัวที่จะขาดทุนของผม จะมากกว่าความกลัวที่จะยอมรับความผิดพลาด ผมก็จะยังไม่ตัดขาดทุนออกมาครับ ซึ่งหลังจากที่ทุกอย่างจบลงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเช่น ผมอาจกลับไปดูกราฟราคา หลังจากที่ผมได้ขายมันออกมา และถามตัวเองว่า “ทั้งๆที่ตลาดกลายเป็นขาลงแล้ว แต่ทำไมเราไม่ขายมันออกมา หรือขายShortซะ!”

Q:ซึ่งนั่นจะทำให้คุณเสียโอกาสไป?
A: แน่นอนครับ การที่คุณนั้นไม่สามารถที่จะมองเห็นถึงโอกาสที่จะขายShortนั้นก็เพราะว่า ความกลัวของคุณได้บดบังการรับรู้ของคุณไปครับ ดังนั้น ความกลัวของคุณนี่เอง ที่จะเป็นตัวการขัดขวางการกระทำที่เหมาะสมของคุณครับ

Q: และนี่เป็นที่มาว่า ทำไมในหนังสือของคุณจึงได้บอกเอาไว้ว่า นักเล่นหุ้นทุกคนจะได้รับในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาควรได้รับมันใช่ไหม ครับ?
A: อย่างไรก็ตาม ความกลัวนั้นไม่ใช่ตัวการเพียงอย่างเดียว ที่จะทำให้คุณทำสิ่งผิดลงไป จนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอขึ้นมาได้ มันมีองค์ประกอบย่อยๆ อีกหลายๆอย่างที่จะทำให้คุณทำสิ่งที่ผิดพลาดลงไป ซึ่งมาจากการยอมรับคุณค่าในตัวคุณของเองครับ

Q: หมายความว่าอย่างไรครับ?
A: มันหมายความว่า คุณต้องรู้สึกว่าคุณสมควรจะได้รับกำไรที่เกิดขึ้นด้วย หากคุณไม่รู้สึกอย่างเช่นนี้ล่ะก็ คุณก็จะทำสิ่งที่ผิดพลาดขึ้นมาอีกเช่นกัน ซึ่งจะขัดขวางการทำกำไรของคุณนั่นเอง

Q: ถึงแม้ว่าเราจะรู้ถึงวิธีการเล่นหุ้น และมีความเชื่อมั่นในระบบของเรางั้นหรือ?
A: ถึงแม้ว่านักเล่นหุ้นทุกคนนั้น สามารถที่จะเรียนรู้วิธีการ ปรับเปลี่ยนกระบวนการรับรู้ของพวกเขา เพื่อที่จะสามารถเล่นหุ้นภายใต้สภาวะจิตใจที่ไร้ความกังวล หรือความกลัว แต่ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีอคติ แต่พวกเขาก็ยังสามารถมีปัญหาจากการ ไม่ยอมรับคุณค่าในตัวของพวกเขาเองได้อยู่ครับ

Q: ถ้าพวกเขาไม่ยอมรับคุณค่าในตัวเองแล้ว พวกเขาก็อาจจะทำลายตัวของเขาเองได้ใช่ไหม?
A: ถูกต้องครับ นักเล่นหุ้นทุกคนควรที่จะพยายามฝึกฝนให้ตัวของพวกเขาเอง สามารถสังเกตเห็นถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเช่นนี้ได้ ทั้งก่อนหน้า หรือในขณะที่มันกำลังเกิดขึ้น ไม่ใช่หลังจากที่มันเกิดขึ้นจนจบลงไปแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ในขณะที่คุณต้องการที่จะเข้าซื้อหุ้น แต่คุณกลับบอกให้มาร์เก็ตติ้งของคุณขายมันแทน คุณกลับทำตรงกันข้าม! ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความบังเอิญครับ

Q: อยากได้อย่างนี้ แต่กลับทำอีกอย่างใช่ไหม?
A: นักเล่นหุ้นส่วนมากมักคิดว่ามันเป็นความบังเอิญ แต่มันไม่ใช่ครับ! พวกมันเป็นปัญหาที่เกิดจากการยอมรับคุณค่าในตัวคุณเอง ยกตัวอย่างเช่น หากคุณลองเขียนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของคุณ และลองนึกและเขียนประสบการณ์ที่ทำให้คุณเกิดการประเมินค่าของตัวคุณเองใน ทางบวก โดยมันทำให้คุณรู้สึกว่า “ใช่แล้วฉันสมควรได้รับมัน, ฉันสมควรได้รับความสำเร็จ ฉันสมควรได้รับเงินก้อนนี้ ฉันสมควรมีความสุข” ขึ้นมาสิครับ

Q: โอเค.. แล้วยังไงต่อครับ?
A: หลังจากนั้นให้คุณลองเขียนถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ทำให้คุณประเมินคุณค่าตนเองออกมาในทางลบดู ซึ่งเมื่อใครบางคนพูดกับคุณว่า “คุณสมควรได้รับสิ่งแย่ๆ” หรือ “คุณสมควรเจอกับสิ่งที่คุณไม่ต้องการ” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทุกๆครั้งที่คุณรู้สึกเจ็บปวด จิตใจของคุณสามารถทำให้คำพูดแย่ๆเหล่านั้น หลอมรวมเข้ากับความเจ็บปวดที่คุณได้รับอย่างง่ายดายครับ (เสีย Self) หลังจากนั้น มันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้คุณ ประเมินคุณค่าของตนเองในทางลบ โดยที่คุณจะเริ่มคิดว่าคุณสมควรได้รับสิ่งแย่ๆเหล่านั้น

Q: นั่นทำให้เรา เริ่มชอบโทษตัวเอง?
A: ใช่แล้ว และหากคุณนำประสบการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกในทางบวก มาหักลบกับประสบการณ์ทางลบ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือค่าสุทธิของการประเมินคุณค่าของตัวคุณเอง ซึ่งอาจเป็นบวก หรือเป็นลบก็ได้ ซึ่งนั่นจะทำให้คุณเป็นคนมีความคิดในแง่บวก หรือกลายเป็นคนมีความคิดในแง่ลบขึ้นมา โดยหากคุณมีพลังทางลบที่มากกว่า นั่นจะทำให้มันยากเหลือเกิน ที่คุณจะสามารถทำกำไรในการเล่นหุ้นได้ครับ
ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่า คุณจะไม่สามารถทำกำไรได้เลย เพราะมันยังมีหนทางที่จะช่วยชดเชยสิ่งเหล่านี้ได้อยู่ครับ แต่นั่นจะเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากขอบเขตของการสัมภาษณ์นี้ครับ

Q: ผมอยากให้คุณช่วยบอกแผนการอย่างคร่าวๆ ในการพัฒนาตนเองเพื่อความสำเร็จในการเล่นหุ้นหน่อยครับ
A: ได้ครับ ผมคิดว่าพัฒนาการของนักเล่นหุ้นนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆครับ โดยแผนการที่ผมจะแนะนำนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่ม หรือช่วงใหนของพัฒนาการด้วยครับ

Q: ถ้าอย่างนั้น พัฒนาการทั้ง 3 ช่วงมีอะไรบ้างครับ?
A: มีพัฒนาการอยู่ 3 ช่วงหลักๆ นั่นก็คือ ช่วงของฝึกฝนในการเล่นตามระบบ(Mechanical), ช่วงของการปรับหรือสร้าง และเล่นไปตามความคิด หรือระบบของตนเอง(Subjective), และช่วงของการเล่นไปตามสัญชาติญาณได้อย่างเป็นธรรมชาติครับ(Intuitive)
โดยในช่วงของการเรียน รู้ หรือฝึกฝนการทำตามระบบนั้น คุณจะต้องพยายามตั้งสมาธิไปในสิ่งที่คุณต้องทำ และทำให้ได้จนกว่าจะไม่มีความลังเลใจ และความกลัวครับ ส่วนในช่วงของการเล่นไปตามความคิดหรือระบบของคุณนั้น คุณควรจะต้องไม่มีการรับรู้ หรือแปลผลสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในตลาดด้วยความรู้สึกที่เจ็บปวดขึ้นมาอีกแล้ว ครับ

Q: แล้วถ้าทำไม่ได้ล่ะครับ?
A: จนกว่าคุณจะทำมันได้ ผมขอแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า คุณควรจะฝึกฝนการเล่นไปตามระบบให้ได้ โดยไม่มีความรู้สึกลังเลใจเสียก่อน เนื่องจากการเล่นตามระบบนั้น จะช่วยให้คุณลดตัวแปรต่างๆลงมาได้ เพราะโดยธรรมชาติของตลาดหุ้นนั้นจะสร้างข้อมูล หรือตัวแปรต่างๆออกมาอย่างมากมายในแต่ละขณะครับ คุณจึงต้องฝึกฝนที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆที่ตลาดได้สร้างขึ้นมาให้ได้เสีย ก่อน ครับ

Q: นั่นหมายถึงตัวแปรต่างๆ ที่เกิดจากตัวของเราเองด้วยใช่ไหม?
A: คุณจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่าอะไรที่ใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้เสียก่อน ทั้งจากตลาด และจากตัวของคุณเองครับ และหนทางที่จะทำเช่นนั้นได้ คือการเล่นตามระบบไปก่อนครับ โดยที่คุณรู้ว่าคุณกำลังมองหาอะไรอยู่ และคุณจะไม่ละทิ้งมันจนกว่ามันจะไร้ประโยชน์ครับ
ผมมักจะแนะนำนักเล่นหุ้นส่วนใหญ่ว่า พวกเขาควรจะตั้งเป้าหมายที่จะคิดว่า เขาจะลองทำการซื้อขายตามระบบอีก 20 ครั้งก่อน แทนที่จะเป็นครั้งต่อไปเพียงแค่ครั้งเดียว และ เมื่อไหร่ที่พวกเขาสามารถทำตามระบบได้โดยราบรื่น หรือไม่มีความลังเลใดๆ และไร้ซึ่งความกลัวแล้ว พวกเขาจึงจะสามารถที่จะเล่นไปตามความคิดของเขาเองได้ครับ

Q: และนั่นเป็นตอนที่พวกเขา อาจลองปรับเปลี่ยนระบบของพวกเขาดูใช่ใหมครับ?
A: หากพวกเขาต้องการที่จะลองปรับเปลี่ยนระบบของเขาดู พวกเขาก็สามารถทำมันได้ครับ แต่ต้องหลังจากที่เขาทำตามมันได้อย่างราบรื่นไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งเสียก่อน มิเช่นนั้น พวกเขาอาจจะยังทดสอบตัวเองไม่พอครับ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องรู้ตัวเองให้ดีก่อน ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้ว่าสิ่งไหนที่พวกเขายังขาดไป ในการที่จะเล่นหุ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดครับ

Q: แล้วหลังจากนั้นล่ะครับ?
A: หลังจากที่พวกเขาได้ฝึกฝนการเล่นตามระบบได้อย่างดีมากๆแล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงสามารถเล่นตามระบบได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีความลังเลใจ และความกลัว จากการซื้อขายๆหลายๆรอบแล้ว พวกเขาจึงจะสามารถที่จะเข้าสู่ช่วงของการเล่นไปตามความคิด หรือระบบของตนเองได้ครับ

Q: นั่นหมายความว่า..?
A: นั่นหมายถึงว่าในช่วงนี้ พวกเขาสามารถที่จะนำสิ่งต่างๆที่พวกเขาเคยได้เรียนรู้ มาเป็นสัญญาณการซื้อขายของพวกเขาได้เองครับ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณยังอยู่ในช่วงของการฝึกฝนการเล่นตามระบบ ผมจะไม่แนะนำให้คุณเล่นตามความคิดของคุณเองเลยครับ เช่นหากคุณตั้งจุดตัดขาดทุนเอาไว้ และตลาดได้ตกลงมา ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะลงมาถึงจุดตัดขาดทุนของคุณ ซึ่งคุณสามารถตัดขาดทุนออกมาก่อนได้เลย โดยหากคุณกำลังฝึกฝนการเล่นหุ้นตามระบบนั้น ผมจะไม่แนะนำให้คุณทำอย่างนั้น และคุณต้องปล่อยให้มันลงมาถึงเสียก่อนครับ!

Q: แล้วในช่วงของการเล่นไปตามความคิดของเราล่ะครับ?
A: ในช่วงของการเล่นไปตามความคิด หรือระบบของเราเองนั้น คุณสามารถที่จะตัดขาดทุนออกมาก่อนได้เลย ซึ่งนี่เป็นความแตกต่างจากช่วงพัฒนาการของคุณ เนื่องจากเมื่อมาถึงจุดนี้นั้น คุณได้ผ่านการเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวของคุณเองแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็คือมองไปที่ตลาด ด้วยมุมมองของคุณเอง และพูดออกมาว่า “ผมควรจะตัดขาดทุนเดี๋ยวนี้ ผมไม่จำเป็นต้องรอให้มันลงมาแล้ว”

Q: แล้วในช่วงที่สามล่ะครับ?
A: ช่วงที่สามคือช่วงของการเล่นไปตามสัญชาติญาณของเราครับ ความเชื่อของผมก็คือ สัญชาติญาณนั้นเกิดมาจากสมองในส่วนความคิดสร้างสรรค์ของเรา ซึ่งคำว่าสร้างสรรค์นี้นั้น คือการที่เราคิดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือมีมาก่อน โดยในทางกลับกันนั้น สมองส่วนเหตุผลของเรานั้นได้รวบรวมเอาสิ่งต่างๆที่เราได้เคยเรียนรู้มาแล้ว นั่นก็คือมันเก็บสิ่งที่มีอยู่เอาไว้
ดังนั้น สมองในส่วนความคิดสร้างสรรค์ของเรา ซึ่งเป็นส่วนที่จะสร้างลางสังหรณ์ หรือสัญชาติญาณของเราขึ้นมานั้น สามารถ หรืออาจจะมีความขัดแย้งกับ ส่วนของเหตุผลของเราอยู่เป็นประจำ เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์นั้นอยู่ภายนอกของกรอบกระบวนการทางเหตุผลของเรา ครับ
ลางสังหรณ์ของเรานั้นอาจจะถูกต้อง แต่เนื่องจากมันไม่สามารถที่จะตัดสินได้ด้วยกระบวนการทางเหตุผล การที่เราเล่นหุ้นตามลางสังหรณ์ให้ได้กำไรอย่างสม่ำเสมอนั้น เราจึงต้องรู้จักการนำส่วนของเหตุผล มาใช้ร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ของเราครับ
จบแล้วครับสำหรับซีรี่ส์ บทสัมภาษณ์เซียนหุ้น Mark Douglas เกี่ยวกับแง่มุมทางจิตวิทยาการลงทุนของพวกเรา เชื่อว่าน่าจะได้ประโยชน์กับหลายๆคน ถ้าตั้งใจอ่านดีๆจนหมดครับ แล้วใว้เจอกันใหม่ที่ แมงเม่าคลับ.คอม นะครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘