Diversity Breakdown

Solomon Asch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำการทดลองหนึ่งโดยแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละแปดคน (ในทุกกลุ่ม เจ็ดคนเป็น "หน้าม้า" มีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เป็นอาสาสมัครตัวจริง) โดยให้ตอบคำถามที่ง่ายมากๆ เช่น ในภาพข้างต้น กราฟแท่งไหนยาวที่สุด? ในการตอบคำถามแต่ละครั้ง สมาชิกทุกคนในกลุ่มจะต้องขานคำตอบของตัวเองดังๆ ให้คนที่เหลือฟังด้วยเสมอ ในคำถามแรกๆ หน้าม้าทุกคนเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ผลปรากฏว่า อาสาสมัครก็เลือกคำตอบได้ถูกต้องด้วย แต่ในคำถามท้ายๆ หน้าม้าถูกนัดแนะให้พร้อมใจกันเลือกคำตอบที่ผิดเหมือนกันทุกคน ผลปรากฏว่า มีอาสาสมัครมากถึง 35% ที่เลือกคำตอบที่ผิดตามหน้าม้าไปด้วย การทดลองนี้พิสูจน์ว่า การตัดสินใจของเราจะได้รับอิทธิพลจากคนอื่นสูงมาก (แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายมากๆ ก็ตาม) ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่ขาวกับดำ คนอื่นจะยิ่งมีอิทธิพลต่อวิจารณญาณของเรามากเป็นพิเศษ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องการลงทุนนั่นเอง เรื่องนี้นับว่าเป็นจุดอ่อนการลงทุนที่กำจัดได้ยากมาก ผมเองเป็นคนที่มีบุคลิกที่ค่อนข้างจะเป็น contrarian อยู่แล้วยังรู้สึกว่ายากเลย เวลาที่ผมค้นพบหุ้นดีๆ สักตัวหนึ่ง แต่ถ้าคนรอบข้างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ดี ผมก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกหวั่นไหวไปด้วย และทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกำไรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเมื่อสามารถมองหุ้น ตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง และการรับฟังความเห็นของผู้อื่น กับการเชื่อคนอื่นเพราะชอบทำอะไรตามๆ กันนั้น เป็นอะไรที่แตกต่างกันเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น ผมว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตลาดมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะเชื่ออะไรตามๆ กันนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นต้องมีฟองสบู่เกิดขึ้นอยู่ เรื่อยๆ และจะไม่มีวันหมดไปตราบใดที่ตลาดหุ้นยังประกอบด้วยหน่วยเล็กๆ ที่เรียกว่าปุถุชนอยู่ บางทีก็เป็นฟองสบู่หุ้นรายตัว บางทีก็เป็นฟองสบู่ทั้งดัชนี ผมสังเกตว่า ณ เวลาหนึ่งๆ ในตลาดหุ้นมักมีหุ้นประมาณ 3-4 ตัวที่เป็น Talk of the Town คือไม่ว่าไปที่ไหนทุกคนก็จะเชียร์แต่หุ้น 3-4 ตัวนี้โดยให้เหตุผลที่ฟังดูเหมือนๆ กันมาก ไม่ค่อยมีความเห็นแตกต่าง และราคาของหุ้น 3-4 ตัวนี้ก็มักจะทะยานขึ้นมาได้อย่างน่าตกใจ และพอเวลาผ่านไป หุ้น Talk of the Town ก็มักจะเปลี่ยนหน้าไปเป็นหุ้นชุดใหม่ เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งหุ้น Talk of the Town แต่ละยุคก็มักจะมี Story ที่น่าสนใจในช่วงเหล่านั้นอยู่จริงๆ แต่พฤติกรรมเชื่ออะไรตามๆ กันได้ช่วยขยายผลให้ราคาหุ้นสามารถปรับตัวขึ้นไปได้มากกว่าเหตุผลที่แท้จริง ของมันหลายเท่าตัว แนวความคิดที่แตกต่างหลากหลายเป็นกลไกตลาดอย่างหนึ่งที่ช่วยรักษาเสถียรภาพ ของตลาดไว้ได้โดยที่นักลงทุนทุกคนในตลาดไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล เพราะความเห็นที่แตกต่างจะคอย offset กันเอง (บางคน bullish เกินไป บางคน bearish เกินไป การซื้อขายของคนสองกลุ่มนี้จะหักล้างกัน) แต่เมื่อไรก็ตามที่ความเห็นแตกต่างหายไปจากตลาดเพราะทุกคน shutdown สมองของตัวเองแล้วหันมาทำอะไรตามๆ กันไป (diversity breakdown) กลไกอันนี้จะไม่ทำงาน และ booms กับ bursts ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นที่จริงแล้ว การรณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนในตลาดใช้หลักการลงทุนเดียวกันหมด (เช่น รณรงค์ให้นักลงทุนทุกคนหันมาลงทุนระยะยาว) ไม่ว่าหลักการลงทุนนั้นจะดีหรือไม่ กลับไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเป็นการทำลายความเห็นต่าง ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด (ถ้านักลงทุนทุกคนมองยาวเหมือนกันหมด หุ้นจะแพงเกินไปในระยะยาว และถูกเกินไปในระยะสั้น) ตลาดที่ดีควรมีนักลงทุนหลายๆ ประเภทอยู่ด้วยกัน (Growth vs.Value, Short-term vs.Long-term, Momentum vs.Contrarian, Long vs.Short) เพื่อคอยถ่วงดุลกันไว้ ตลาดควรส่งเสริมนักลงทุนทุกแนวอย่างเท่าเทียมกัน(ยกเว้นแนวทางที่ผิดกฏหมาย) มากกว่าที่จะ prefer แนวทางใดแนวทางหนึ่งมากกว่าแนวทางอื่น แนวการลงทุนต้องเป็นไปแบบเสรี ใครคิดว่าวิธีไหนเด็ดสุดก็ขุดเอามาใช้ให้เต็มที่ ตลาดจะพลอยได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากความพยายามแบบสุดๆ ในการสร้างผลตอบแทนของนักลงทุนแต่ละคนมากที่สุด

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘