ภาวะเงินฝืด (Deflation) คืออะไร ทำไมหลายคนถึงกลัวภาวะเงินฝืด

ภาวะเงินฝืดคืออะไร 
            ภาวะเงินฝืด หรือที่เรียกว่า Deflation คือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ โดยปกติ อาการของภาวะเงินฝืดที่เห็นได้ชัดคือ เราจะเห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นตัวเลขติดลบ โดยตัวเลขที่ติดลบดังกล่าว จะต้องมีสาเหตุมาจากการที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ในสินค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งความน่ากลัวของภาวะเงินฝืดจะไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อมีค่า เป็นลบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ อีก ซึ่งจะได้กล่าวถึงในส่วนต่อไป โดยจะขออธิบายก่อนว่าภาวะเงินฝืดนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร

ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นได้อย่างไร
            สาเหตุของภาวะเงินฝืด หรือสาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการลดลงเรื่อย ๆ นั้น มาได้จากทั้งด้านอุปทาน (Supply side) และด้านอุปสงค์ (Demand side) โดยด้านอุปทานได้แก่ การเกิดการเพิ่มของผลผลิตอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในเรื่องของอุปสงค์และอุปทานที่ว่า หากอยู่ ๆ สินค้ามีจำนวนมากขึ้น เช่น อาจเกิดจากผลิตภาพการผลิตหรือที่เรียกว่า productivity เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เราอาจเคยใช้คน 4 คน ผลิตแก้ว 4 ใบ แต่ตอนนี้แรงงานเราเก่งขึ้น ทำให้ใช้แค่ 3 คน ก็ผลิตแก้ว 4 ใบเท่าเดิมได้ อันนี้ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตแก้วถูกลง และทำให้ราคาแก้วถูกลง เป็นต้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ productivity นี้ อาจเกิดจากผลของการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การเกิดขึ้นของ Internet ที่มีผลทำให้โลกเราอยู่ใกล้กันแค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส หรืออยู่ ๆ มีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาลเข้ามาในตลาดแรงงาน สิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับลดลง และมีผลทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับลดลงตามไปด้วย
                                  
            ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ การเปิดประเทศของจีน ซึ่งทำให้มีแรงงานชาวจีนที่ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ เข้ามาผลิตสินค้าในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวอย่างของสินค้าเช่น เราอาจเห็นเสื้อผ้า กระเป๋า รวมทั้งสินค้าอื่นๆ อีกมากมายที่แม้เราจะซื้อมาจากประเทศในยุโรป แต่เมื่อพลิกป้ายดูจะพบว่า Made in China หรือผลิตในจีนแทบทั้งสิ้น ทั้งนี้ ก็เพราะว่าค่าแรงงานของคนจีนถูกกว่าการจ้างคนที่ยุโรปผลิต หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือที่เราอาจเคยได้ยินกันว่าที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น หากเราโทรศัพท์ไป Call center ของบริษัทบางบริษัทจะพบว่าคนที่รับโทรศัพท์นั้น นั่งทำงานอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศที่มีประชากรมหาศาลและมีค่าแรงงานถูก โดยลือกันว่าค่าใช้จ่ายจ้างคนรับสาย Call center ที่ประเทศอินเดียนั้นถูกกว่าจ้างคนที่นั่งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามาก เป็นต้น

            ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนเกือบถึงต้นปี 2551 ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปของเกือบทุกประเทศทั่วโลกจึงถูกลง (ยกเว้นราคาน้ำมัน ซึ่งมีเรื่องของอำนาจเหนือตลาด หรือ Market power ของกลุ่ม OPEC และเรื่องของข้อจำกัดของแหล่งผลิตน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง) และทั้งโลกก็มีตัวเลขเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำมาโดยตลอด ซึ่งหากภาวะเงินฝืดเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ productivity ซึ่งเป็นด้านอุปทาน จะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะเงินฝืดประเภทนี้จะไม่ทำให้คนตกงานและส่งผลกระทบต่อรายได้ของคน เนื่องจากไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งแตกต่างจากภาวะเงินฝืดอีกประเภทหนึ่งคือ ภาวะเงินฝืดที่มีสาเหตุมาจากด้านอุปสงค์

            ภาวะเงินฝืดที่มาจากด้านอุปสงค์ หรือ Demand side คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กลัว โดยอาการของภาวะเงินฝืดนั้น จะเห็นว่าราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงและทำให้เงินเฟ้อติดลบเช่นกัน แต่คราวนี้ การติดลบเกิดจากความต้องการบริโภคของผู้คนที่ลดลง เช่นเกิดจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน คนไม่มีรายได้จะจับจ่ายใช้สอย คนขายสินค้าจึงลดราคาสินค้าลงเพื่อให้ยังขายได้ โดยการติดลบของเงินเฟ้อจะน่ากลัวและมีผลต่อเศรษฐกิจได้ จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอีก 2-3 ประการได้แก่

 (1) ราคาสินค้าและบริการลดลงโดยทั่วไป ไม่ได้เกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่ลดลง
 (2) ราคาสินค้าและบริการลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ผู้คนชะลอการบริโภคและการลงทุนออกไป โดยหวังว่า (Expect) ราคาสินค้าและบริการจะถูกลงไปอีก

 (3) เมื่อคนคิดเหมือน ๆ กันคือรอให้ราคาสินค้าถูกลง โดยคิดว่า “ถ้าซื้อพรุ่งนี้ ราคาน่าจะถูกกว่าซื้อวันนี้” ในที่สุดจะส่งผลทำให้สินค้าของผู้ผลิตขายไม่ออก ก็เริ่มมีสินค้าเหลือในสต็อก ผู้ผลิตเริ่มขาดทุน และเริ่มปลดคนงานออก คนก็เริ่มตกงาน เมื่อตกงานก็ไม่มีกำลังซื้อไปซื้อสินค้า ก็ทำให้ผู้ผลิตขาดทุนขายของไม่ออกไปอีก และในที่สุดก็ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยติดต่อกันไปอีกหลายปี                                 
           ภาวะ ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Downward spiral ซึ่งเป็นวงจรที่ไม่มีใครอยากให้เกิด โดยภาวะดังกล่าว เคยเกิดขึ้นที่เห็นเด่นชัดคือ การเกิดภาวะเงินฝืดในสหรัฐอเมริกาเมื่อทศวรรษที่ 1930 ที่เรียกว่า Great depression และอีกครั้งที่ชัด ๆ คือ ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2545 ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องไปอีกหลายปี

            อีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของราคาสินค้าและบริการคือ คำว่า Disinflation ซึ่งจะหมายถึงภาวะที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังมีค่าเป็นบวก แต่มีค่าที่เป็นบวกลดลงเรื่อย ๆ เช่น เงินเฟ้อของไทยในเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน แต่พอเดือนสิงหาคม 2551 เงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.4 และเดือนถัด ๆ มาอยู่ที่ร้อยละ 6 เป็นต้น

            คำถามต่อมาคือ แล้วตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดแสดงสัญญาณภาวะเงินฝืดหรือเปล่า โดยเฉพาะภาวะเงินฝืดที่มาจากด้านอุปสงค์ ซึ่งพบว่าในปัจจุบัน แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนมกราคม 2552 จะมีตัวเลขติดลบเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี โดยติดลบที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนเดียวกันปีก่อน หรือแปลว่า ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.4 แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงมากเป็น สำคัญ โดยราคาน้ำมันเบนซิน 91 ที่เดือนมกราคม 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.88 บาทต่อลิตร แต่ปีนี้ลดลงถึงร้อยละ 31 มาอยู่ที่เฉลี่ย 21.99 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ หากใครติดตามข่าวสารบ้านเมืองจะพบว่าเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2552 ยังได้รับผลจากมติของรัฐบาลชุดก่อนที่จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน โดยการ ลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำประปา และยังให้ขึ้นรถเมล์ฟรีในกรุงเทพฯ รถไฟฟรีทั่วประเทศ ลดค่าน้ำมันจากการลดการเก็บภาษีสรรพสามิต หรือที่รู้จักกันในชื่อของ "6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน" ซึ่งมีผลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 และปัจจุบันคณะรัฐมนตรียังมีมติต่ออายุไปอีก 6 เดือน ทำให้มาตรการนี้เปลี่ยนไปสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2552 แทน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมารวมถึงเดือนปัจจุบันจึงลดลงและไปอยู่ในแดน ลบได้

                              

            ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบทำให้มีหลายหน่วยงานเริ่มพูดถึงคำว่าภาวะเงิน ฝืดว่าอาจจะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย และเริ่มมีความกลัวว่าเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเงินฝืด ซึ่งถามว่า ณ ปัจจุบันนี้ นอกจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เป็นลบแล้ว ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ทำให้เราต้องกลัวภาวะเงินฝืดประเภทที่เป็นอันตรายต่อภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ ก็พบว่า เศรษฐกิจยังไม่ถึงกับจะต้องกลัว เนื่องจากหากไม่รวมผลของราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว และผลของ 6 มาตรการ 6 เดือนของภาครัฐ จะพบว่าราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ดูจะไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ คนยังไม่ได้คาดการณ์ว่าราคาข้าวของในพรุ่งนี้จะถูกกว่าวันนี้ แล้วเลื่อนการซื้อไปก่อนอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดประเภทที่เป็นอันตรายต่อ เศรษฐกิจไทย

            และไม่ใช่แค่เพียงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยที่มีลักษณะลดลงอย่างรวดเร็วแบบ นี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศก็มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มทำให้มีนักเศรษฐศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศได้ให้คำนิยามการติดลบของ เงินเฟ้อประเภทที่ราคาสินค้าในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งลดลงอย่างมากจนทำให้อัตรา เงินเฟ้อติดลบว่าควรจะเรียกเป็นภาวะ Disinflation เพราะภาวะการติดลบไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางกับทุกกลุ่มสินค้า โดยคาดหมายกันว่ายังไม่ถึงกับภาวะ Deflation โดยเห็นว่าเศรษฐกิจจะตกอยู่ในภาวะเงินฝืด หรือ Deflation ได้ก็ต่อเมื่อจะต้องเห็นว่าผู้คนเริ่มคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ จะถูกลงเรื่อยๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างไรก็ตาม การเกิดภาวะเงินเฟ้อลดลงเรื่อย ๆ (Disinflation) นาน ๆ ไปก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะอาจจะมีผลเปลี่ยนการคาดการณ์ของประชาชนและภาคธุรกิจได้ในที่สุด และอาจจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืดประเภทที่น่ากลัวได้จริง ๆ และทำให้เศรษฐกิจตกต่ำได้จริง ๆ

เราจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้อย่างไร

           เรา สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดได้โดยอาศัยการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูป แบบต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องเช่น จากการใช้นโยบายการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย หรือการใช้นโยบายการคลัง เช่น การลดภาษี การใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างงานและการลงทุน ซึ่งเท่าที่ทราบ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังก็ได้ ดำเนินไปในแนวทางที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดในประเทศไทยอยู่แล้ว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘