อ่าน CEO จากปันผล

ช่วง นี้เป็นฤดูกาลของการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียน  นักลงทุนหลายคนคงจะมีความสุขจากเงินปันผลที่ได้รับ  แต่ผมเองนั้นไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก  เพราะเมื่อบริษัทมีการจ่ายปันผลออกมาราคาหุ้นก็มักจะลดลงมาคิดเป็นเม็ดเงิน แล้วก็พอ ๆ  กัน   เงินสดที่ได้รับมาผมก็นำไปซื้อหุ้นหมด  สรุปแล้วพอร์ตผมก็ยังคงมีมูลค่าเท่าเดิมแม้ว่าจำนวนหุ้นจะเปลี่ยนไปบ้าง   ดังนั้นสำหรับผมแล้ว  หุ้นจะจ่ายปันผลมากหรือหุ้นจะจ่ายปันผลน้อยเมื่อเทียบกับราคาหุ้นจึงไม่ใช่ ประเด็นสำคัญนัก  พูดง่าย ๆ  ผมไม่ใช่นักลงทุน  “หุ้นปันผล”  ที่เลือกลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลงามเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่ผมจะดูเกี่ยวกับปันผลนั้นกลับเป็นเรื่องของ “สัญญาณ”  ที่มาจากนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท   ผมคิดว่าการจ่ายปันผลของแต่ละบริษัทบอกอะไรต่าง ๆ เรามากรวมถึง “นิสัย” หรือพฤติกรรมของ CEO   เหตุผลก็คือ  การจ่ายปันผลนั้นเป็นเรื่องของการจ่ายเม็ดเงินจากการควบคุมของ CEO ไปสู่มือของผู้ถือหุ้น  ซึ่งบางทีก็เป็นคนละคนและผลประโยชน์ไม่สอดคล้องกัน

 หุ้น ของบริษัทที่มี CEO เป็นมืออาชีพและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทมหาชนต่างประเทศนั้นเป็นตัวอย่าง ที่ชัดเจนที่สุดที่ผลประโยชน์ของผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยนั้น แตกต่างกันมาก  นั่นคือ  CEO มักจะพยายามจ่ายปันผลน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกำไรในแต่ละปี  เพราะผู้บริหารของบริษัทแบบนี้มักไม่ได้ถือหุ้นดังนั้นการจ่ายปันผลมากเขา ไม่ได้อะไร  ในขณะที่การเก็บเงินไว้เขาสามารถเอาไปใช้จ่ายได้สะดวกและทำให้บริษัทมีความ มั่นคงและทำให้การบริหารงานของตนเองนั้นสบายขึ้นมาก   ส่วนในด้านของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น  จริง ๆ  ก็อาจจะไม่มีเจ้าของเช่นกัน  ดังนั้น  เขาจึงไม่สนใจมากนักว่าจะต้องได้รับปันผลมาก ๆ    หรือถึงจะมีเจ้าของที่เป็นบุคคลและต้องการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศ ไทย  เขาก็มีทางถ่ายเทเงินจากบริษัทได้ผ่านสัญญาและการซื้อขายสินค้าระหว่างแม่ กับลูกได้

บริษัทบางแห่งมีกำไรดี  มีเงินสดสูงและไม่ต้องลงทุนมาก  แต่ก็จ่ายปันผลคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของกำไรต่ำมาก  ตรวจสอบดูก็พบว่าเป็นกิจการแบบ “กงสี”  กล่าวคือมีการถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทโฮลดิ้งของตระกูล  CEO เป็นตัวแทนจากคนในตระกูล  พี่น้องรวมถึงลูกหลานต่างก็เป็นกรรมการและเป็นผู้บริหารในบริษัท  พูดง่าย ๆ  บริษัทเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ  เป็นที่ทำมาหากิน  เป็นแหล่งที่สร้างสถานะทางสังคมและอะไร ๆ  อีกมากมาย  เป็นชีวิตของพวกเขา  ดังนั้น  เขาจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อย   นอกจากนั้น เขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะจ่ายให้กับบริษัทโฮลดิ้งมาก ๆ  เพราะจ่ายไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาถึงตัวเองมากน้อยแค่ไหนเพราะอาจจะมีพี่ น้องอื่น ๆ  อีกหลายคนที่จะต้องมารับส่วนแบ่งด้วย

 หุ้นที่เจ้าของ ถือหุ้นสูงมากเช่นถืออยู่คนเดียวกว่า 50 % นั้น  มักจะทำตรงกันข้ามกับบริษัทที่ CEO ถือหุ้นน้อย  เขามักจะจ่ายปันผลงามเมื่อเทียบกับกำไร   เหตุผลนั้นชัดเจน  การจ่ายปันผลมากทำให้เขาได้เงินมากไปด้วย   ผลประโยชน์ของเขากับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยตรงกัน  เขาจะเก็บเงินไว้ในบริษัทมากเท่าที่จำเป็นแต่ก็ไม่น้อยเกินไปที่จะทำให้เขา ทำงานลำบาก  ส่วนที่เกินจากนั้นเขาต้องการจะเอาออกไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวที่เขาจะทำอะไร ก็ได้และเป็นการลดความเสี่ยงถ้าหุ้นของบริษัทจะประสบปัญหาในอนาคตไปในตัว
 
หุ้น ของบางบริษัท  โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทใหม่ ๆ  หรือมีพื้นฐานที่ไม่แข็งแกร่งที่เจ้าของเป็น  “นักเล่นหุ้น”  หรือพยายามขายกิจการที่เขาเห็นว่ามีอนาคตที่ไม่สดใสในตลาดหลักทรัพย์นั้น  มักจะจ่ายปันผลงดงามเมื่อเทียบกับกำไร  บางครั้งเขาประกาศจ่ายทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่มีเงินสดอยู่ในมือแต่ต้องกู้มาจ่าย  เหตุผลของพวกเขานั้นอยู่ที่ราคาหุ้น   นั่นคือ  พวกเขาประกาศจ่ายปันผลมากเพื่อดึงดูดให้คนสนใจมาซื้อหุ้นเพื่อทำให้ราคาหุ้น สูงขึ้นซึ่งจะทำให้เขาสามารถซื้อขายทำกำไรได้อย่างงดงามในขณะเดียวกันก็ยัง ได้ปันผลเอามาใช้ด้วย   ข้อสังเกตเพิ่มเติมก็คือ  ในบางครั้งที่บริษัทมีเงินไม่พอเขาก็มักหันไปจ่ายปันผลเป็นหุ้นหรือวอแร้นต์ เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน

หุ้นของกิจการระดับบลูชิพ  เฉพาะอย่างยิ่งธนาคารต่าง ๆ นั้น มักจะจ่ายปันผลเป็นเปอร์เซ็นต์ของกำไรแน่นอนเช่น 40-50% ของกำไร  หุ้นประเภทนี้เจ้าของมักกระจายกันไปมาก  CEO  เองก็ไม่ได้ถือหุ้นหรือถือหุ้นค่อนข้างน้อยแม้บางรายจะถูกเรียกว่าเป็นเจ้า สัว   เนื่องจากบริษัทใหญ่มากจึงมีเงินมหาศาลที่ผู้บริหารจะสามารถใช้จ่ายได้อย่าง สะดวกสบาย  ดังนั้น  ผู้บริหารจึงมักเน้นการจ่ายปันผลที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่พอใจซึ่งจะได้ สนับสนุนให้ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งได้นานที่สุด   สำหรับ CEO ของบริษัทเหล่านี้  การจ่ายปันผลนั้นจะคล้าย ๆ  กับต้นทุนอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจและเขาต้องทำให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรู้ ว่าตนเองจะต้องได้เท่าไรถ้าบริษัทมีกำไร

การจ่ายปันผลที่มีเหตุผล ที่สุดนั้น  น่าจะเป็นการจ่ายปันผลโดยดูถึงโอกาสในการลงทุนของบริษัท   ถ้าบริษัทมีโอกาสในการขยายกิจการที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น มากกว่า 12-15% ขึ้นไปโดยที่ความเสี่ยงต่ำ  บริษัทก็น่าจะเก็บเงินไว้ลงทุนมากกว่าการจ่ายปันผล  แต่ถ้าโอกาสในการลงทุนมีน้อยหรือมีความเสี่ยงสูงเกินไป  บริษัทก็ควรจ่ายปันผลออกมาให้มาก  บริษัทที่มีนโนบายในแนวนี้ดูเหมือนว่าจะมีค่อนข้างน้อยในตลาดหุ้นไทย  แต่ถ้าเราพบ  เราก็ควรให้เครดิตว่าผู้บริหารเป็นคนที่มีเหตุผล แม้ว่าบริษัทจะประกาศจ่ายปันผลที่น้อยลง  เพราะการจ่ายน้อยลงหมายถึงว่าอนาคตจะได้มากขึ้น

การดูนโยบายการจ่าย ปันผลของบริษัทที่จะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของ CEO จริง ๆ นั้น   เราจะต้องดูข้อมูลย้อนหลังหลาย ๆ ปี ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังลงทุนกับบริษัทที่มีผู้บริหารที่มีผลประโยชน์ ตรงกับผู้ถือหุ้นจริง  การที่ผู้บริหารไม่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเท่าที่ควรนั้นจะทำให้หุ้น ของเรามีค่าน้อยลงมาก  นั่นก็คือ  แม้ว่ากิจการจะมีผลการดำเนินงานที่ดีแต่ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ไปไหน  และการลงทุนของเราก็จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรเป็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘