ซื้อหุ้นตอนนี้ดีมั้ย???

โดยมากเพื่อนฝูงมักจะถามผมว่า “ซื้อหุ้นตัวนั้นดีมั้ย? ตัวนี้ดีมั้ย? ซื้อตรงนี้แพงมั้ย(ทั้งๆ ที่ก็มีคำตอบในใจอยู่แล้ว และก็คงหวังให้ผมช่วยสนับสนุนอยู่ลึกๆ)” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ตลาดหุ้นหรือหุ้นตัวนั้นๆได้ทำการปรับตัวขึ้นไป แล้วอย่างค่อนข้างร้อนแรง และ คำตอบที่ผมมักจะถามกลับไปก็คือ “ไปอยู่ไหนมาตอนตลาดหุ้นอยู่ต่ำกว่านี้(หรือหุ้นตัวนั้นถูกกว่านี้)?”

ฟังเผินๆเหมือนจะกวน (ซึ่งจริงๆก็มีนัยแฝงเช่นนั้นอยู่ลึกๆ) แต่ข้อเท็จจริงของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จข้อแรกๆเลยคือ “ควรซื้อหุ้นเมื่อราคาถูกและขายทำกำไรออกไปบ้างเมื่อราคาแพง” ส่วนอีกข้อที่แถมมาด้วยเลยละกันคือ

“อย่าใช้จิตวิทยาหมู่ (Herd Instinct หรือ Herd Psychology) เป็นตัวนำ” คือพอเห็นคนแห่เข้าซื้อหุ้นดันตลาดพุ่งแรง กลัวตกรถเลยอยากเข้าบ้าง Herd Instinct นี้แหละที่เป็นตัวทำให้ตลาดหุ้นสวิงกิ้ง (Swinging)ได้ทั้งขาขึ้นและขาลงเพราะคนเรามักจะ overreact ไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดา

เรื่อง Herd Instinct นี้เป็นหนึ่งในบทเรียนวิชา Behavioral Finance ซึ่งพยายามใช้โมเดลคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเรียนกันไปถึงปริญญาเอก คอร์สหนึ่งก็ใช้เวลากันเป็นเทอมๆที่เดียว บทสรุปที่ผมรวบรวมได้คือ ไม่มีโมเดลใดโมเดลหนึ่งเลยที่นักลงทุนสามารถนำไปใช้พึ่งพาสำหรับการลงทุนที่ ก่อให้เกิดกำไรในทุกสถานการณ์ เมือเกิดเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ขึ้น อาทิ การล่มสลายของ Lehman Brothers และวิกฤติตลาดทุนโลกในปี 2008 นักคิดค้นโมเดลก็จะออกมาบอกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่เคยมีขึ้นมาก่อน (Unprecedented Event) จึงยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะนำไปใช้คาดเดา…

นอกเรื่องซะยาว…กลับมาประเด็นที่ว่า “ซื้อหุ้นตอนนี้ดีมั้ย?” ผมแค่อยากตอบสั้นๆว่า “ถ้า(ค่อนข้าง)มั่นใจว่าจะสามารถขายหุ้นออกไปที่ราคาสูงกว่านี้โดยได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าคอมมิชชั่นแล้วละก็ ซื้อไปเถอะครับ”
…..
………….

…………………
………………………….
ผู้อ่านคงอยากเตะผมเข้าให้บ้างแล้วใช่มั้ยครับ? หากผมจบลงเพียงแค่นั้น?

จริงๆ แล้ว ประเด็นการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนมันมีอยู่แค่นั้นหากแต่ว่าการจะนำมาซึ่ง ความมั่นใจดังกล่าวต่างหากที่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย และ ความอดทน อดกลั้น…

“หยาดเหงื่อ แรงกาย” คือการที่เราต้องทำตัวหูกว้างไกล ต้อง อ่าน อ่าน แล้วก็ อ่าน เกี่ยวกับปัจจัยที่กระทบการลงทุน ปัจจัยเหล่านี้มีเป็นร้อยแปดฯ ต้องหัดมีตะแกรงร่อนส่วนตัวด้วย มิเช่นนั้นอาจโดนข้อมูลท่วมท้นหรือที่เรียกกันว่า Information Overload ได้ (ถ้าอยากรู้ว่าปัจจัยที่กระทบดังกล่าวมีอะไรได้บ้าง ลองกลับไปอ่านบทความเก่าๆ ของผมดูนะครับ) จากนั้นก็ต้องนำสิ่งที่เราอ่านมาวิเคราะห์จนตกผลึกเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการ มองอนาคตให้ได้ 6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย
เพราะตลาดหุ้นมักจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นไป ก่อนล่วงหน้าประมาณ 6 เดือนจากการเก็บข้อมูลย้อนหลังมาโดยสำนักวิจัยต่างๆ เมื่อมองเทรนด์หรือแนวโน้มพอที่จะออกแล้วก็เริ่มตัดสินใจลงทุน แต่ก็ต้องมีการประเมินมูลค่าแท้จริง (Fair Value) ของหุ้นที่จะเข้าลงทุนประกอบด้วย โดยทั่วไปหาก Fair Value ที่ประเมินได้อยู่สูงกว่าราคาที่จะเข้าซื้อซักประมาณ 20%-25% ก็น่าจะทยอยเข้าลงทุนได้ (เรื่องการประเมินมูลค่าหุ้น (Stock Valuation) ก็ว่ากันได้เป็นฉากๆ ไว้คราวหน้า หรือหากผู้อ่านอยากทราบเรื่องใดเป็นพิเศษก็ Vote เข้ามาได้ครับ)

ส่วน “อดทน อดกลั้น” ก็คือความพยายามไม่ตกเป็นเหยื่อของ Herd Instinct ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตดูมักจะมีความรุนแรงสุดช่วงที่ตลาดกำลังจะเปลี่ยนเทรนด์ การลงทุนตาม Herd Instinct อาจนำมาซึ่งปรากฏการณ์ “ติดดอย” (ซื้อแพง) หรือ “ขายหมู”(ขายถูก) ในเวลาชั่วพริบตา           ในทางกลับกัน การลงทุนโดยไม่เร่งรีบ ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และ ค่อยเป็นค่อยไป ในระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าจริงครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘