เศรษฐกิจฟองสบู่

เศรษฐกิจฟองสบู่ (bubble economy) เป็นสภาวะที่ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาพยายามหลีกเลี่ยงและหาทางป้องกันไม่ให้เกิด เป็นสภาพที่ระบบเศรษฐกิจเติบโตที่ลวงตา เพราะเป็นการเติบโตแต่เฉพาะมูลค่า อันเนื่องมาจากระดับราคาในระบบสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลทำให้ปริมาณผลผลิต การจ้างงาน และรายได้ที่แท้จริงของประชาชนเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเราซื้อบ้านและที่ดินในราคา 3 แสนบาท ต่อมาราคาเพิ่มขึ้นเป็น 9 แสนบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 300 สมมุติว่าสภาพดังกล่าวเกิดขึ้นโดยทั่วไป จะทำให้ มูลค่าบ้านและที่ดินทั้งระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 300 และถ้าจินตนาการต่อไปว่า ราคาบ้านและที่ดินเพิ่มขึ้นในปีถัด ๆ ไป มูลค่าของบ้าน และที่ดินจะยิ่งสะสมเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเติบโตในมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นการเติบโตที่แท้จริง คือปริมาณบ้านและที่ดินไม่ได้เพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจฟองสบู่ จะเกิดขึ้นกับประเทศที่เน้นเรื่องการสร้างเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจมากเกินไป เป็นตัวเร่งให้เกิดอุปสงค์ที่แท้จริงและอุปสงค์เทียม (เกิดจากการเก็งกำไร) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนในที่สุดทำให้โครงสร้างของระดับราคายกระดับสูงขึ้น และนำไปสู่การขยายตัวแบบฟองสบู่ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างสูง ระดับราคาสินค้าทั่วไปสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงมาก สำหรับประเทศไทยก็เคยอยู่ในสภาพที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ คือในช่วงปี 2530- 2533 โครงสร้างระดับราคาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น และสินค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้นอย่างมาก แต่สภาพดังกล่าวได้สะดุดลง เพราะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ผลเสียของเศรษฐกิจฟองสบู่ คือ การผลิตและการจ้างงานจะไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ยังทำให้รายได้ที่แท้จริงของคนดลลง มาตรฐานการกินดีอยู่ดีก็จะลดลง เพราะถ้ารายได้ของประชาชนเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาสินค้าที่สูงขึ้น อำนาจซื้อของเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าได้น้อยลง และเมื่อถึงจุดที่ระบบเศรษฐกิจฟองสบู่ยุบตัวลง คือเมื่อระดับราคาเริ่มตกลง จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินต่าง ๆ ลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบในเบื้องต้นต่อภาคการเงินก่อน คืออาจจะทำให้ระบบการเงินล่มสลาย และนำไปสู่ความหายะนะในภาคอื่น ๆ ตามมา สภาพเช่นนี้เริ่มก่อเค้าในประเทศญี่ปุ่น ประมาณต้นทศวรรษ 1990 สภาพฟองสบู่เริ่มหดตัวลง เป็นผลทำให้ระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์เริ่มตกลง สภาบันการเงินที่รับจำนองอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้มีปัญหาหนี้เสีย มูลค่าหลักทรัพย์ที่จำนองลดต่ำลง จนลูกหนี้ไม่คุ้มที่จะถ่ายถอนคืน ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับสหภาพสินเชื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น   คือ คอสโม ซินโย คูมิเออิ ที่ในช่วงเศรษกิจเฟ่องฟูสุดขีดในปลายทศวรรษ 1980 สหภาพนี้ได้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะลงทุนแบบเก็งกำไร รวมทั้งนักลงทุนในตลาดหุ้น

เศรษฐกิจฟองสบู่จะเกิดขึ้นในแต่ละส่วนของระบบเศรษฐกิจต่างกัน ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ตลาดเงิน ตลาดทุน และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการลงทุนในตลาดทั้งสามประเภทในช่วงเศรษฐกิจกำลังจะเกิดสภาพฟองสบู่

ปัจจุบันมีความวิตกกังวลว่า รัฐบาลชุดนี้จะใช้จ่ายมากเกินไปซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงิน เฟ้อ และอาจลุกลามเป็นเสรษฐกิจฟองสบู่ได้ ดังนั้น จึงควรที่จะมีมาตรการชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังให้สอดคล้องกัน ในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อของประเทศไม่ให้ลุกลามเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘