บทเรียนจากวิกฤติ

นักลงทุนที่ดีนั้นจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์   ตลาดหุ้นในภาวะวิกฤตินั้นเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากที่นักลงทุนจำเป็นต้องเรียนรู้    เพราะถึงแม้ว่าวิกฤติตลาดหุ้นจะเกิดขึ้นไม่บ่อยแต่ผลกระทบของมันมหาศาล    มันอาจจะหมายถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตการลงทุนได้   เพราะวิกฤติของตลาดหุ้นนั้นมักทำให้หุ้นตกลงไปกว่า  50%  บางครั้งอาจจะมากถึง  80-90%   ซึ่งทำให้ผลตอบแทนที่เราอุตส่าห์สร้างมา  บางทีนานนับสิบปี  หายวับไปกับตา  ดังนั้น  ถ้าจะประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวจริง ๆ   Value Investor จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวิกฤติตลาดหุ้นและสามารถ  เอาตัวรอดมาได้      ว่าที่จริง   ผมเองคิดว่า   ก่อนที่ใครจะเป็น  เซียน  ในการลงทุนได้   เขาต้องผ่านวิกฤติตลาดหุ้นก่อน   อย่างน้อย  2  ครั้ง   สาเหตุที่บอกว่า 2  ครั้งก็เพราะว่า   ถ้าผ่านมาเพียงครั้งเดียวเขาอาจจะผ่านมาได้   โดยบังเอิญ   หรืออาจจะเป็นช่วงที่เขายังมีเงินลงทุนน้อย   ดังนั้น  การขาดทุนอาจจะยังไม่มีนัยสำคัญ   แต่ถ้าผ่านมาได้  2  ครั้งแล้วยังสามารถสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้อย่างน่าประทับใจ   นั่นก็แสดงว่าเขาแน่จริง    และ ต่อไปนี้ก็คือบทเรียนบางประการที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แม้ว่าอาจจะไม่ ใช่ความจริงแท้แน่นอนว่าจะต้องเกิดแบบนี้ทุกครั้งที่มีวิกฤติข้อแรก ก็คือ  ภาวะวิกฤติตลาดหุ้นนั้น  มักจะมาโดย  ไม่รู้ตัว   ไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้น   ก่อนหน้านั้น  นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างก็จะคาดการณ์ไปต่าง ๆ  นา ๆ   แต่ไม่มีใครคิดว่าตลาดหุ้นจะตกได้   ขนาดนี้   บางที   เช่นในตอนต้นปีนี้อาจจะมีคนพูดว่าดัชนีตลาดหุ้นอาจไปได้ถึง  1,000 จุดก่อนสิ้นปี   บางคนบอกว่าอาจจะอยู่แค่  800-900  จุด  แต่ไม่มีใครคิดว่ามันจะเหลือเพียง 400 จุดได้   ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว   บทเรียนก็คือ   ตลาดหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่ คาดไม่ได้  ซึ่งก็แปลว่า   วิกฤติตลาดหุ้นนั้นอาจจะมาได้เสมอ ข้อสอง  ก็คือ   วิกฤติตลาดหุ้นนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งในยามที่ตลาดหุ้นเฟื่องฟูหรือตลาดหุ้นซบเซา    และ  เกิดขึ้นได้ในยามที่หุ้นโดยทั่วไปมีราคาแพงเป็นฟองสบู่นั่นคือ  ค่า  PE  และ/หรือ PB   มีค่าสูงลิ่ว    หรือในยามที่ตลาดหุ้นโดยทั่วไปมีราคาถูก  ค่า  PE  และ/ หรือ PB  มีค่าต่ำอย่างที่ตลาดหุ้นไทยเป็นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา   ดังนั้น   อย่าพูดว่าดัชนีตลาดต่ำมากแล้วและคงไม่ต่ำลงไปได้อีกมากนัก    เพราะหุ้นที่ถูกมากแล้วนั้นอาจจะถูกลงไปได้อีกมากในยามวิกฤติข้อสาม  ภาวะวิกฤตินั้น   มักเกิดขึ้นในยามที่เรามีหุ้นอยู่   เต็มมือ นั่นก็คือ  มันมักเกิดขึ้นในยามที่นักลงทุนมีความมั่นใจสูงและต่างถือหุ้นกันในสัดส่วนที่มากกว่าปกติ   บางคนเล่นหุ้นด้วยมาร์จินโดยอาจจะคิดว่าภาระดอกเบี้ยที่เสียไปแค่ปีละ  7-8%  นั้น  คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนในหุ้นด้วยเงินกู้ข้อสี่   หุ้นที่เราซื้อลงทุนโดยที่คิดว่ามี  Margin Of Safety สูง  คำนวณจากค่า  PE  ที่ต่ำมากนั้น  เมื่อเกิดวิกฤติ   ราคาก็ตกลงมามากและ  Margin Of Safety  กลับช่วยอะไรไม่ได้เลย   และนี่อาจจะเป็นบทเรียนว่า  การหา  Margin Of Safety โดยเน้นไปที่ตัวเลขกำไรของอดีตเพียงปีเดียวนั้น   อาจจะไม่ใช่  Margin Of Safety จริง     อย่างที่เราคิด   เพราะเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น  ผลการดำเนินงานของบริษัทก็ตกลงมาทำให้ราคาหุ้นลดลงตาม   ค่า  PE   ก็ยังต่ำอยู่เหมือนเดิมหรือต่ำลงไปอีก   มันกลายเป็นหุ้นที่มี   “Margin Of  Safety”  ตลอดกาล    ข้อห้า   ในอีกด้านหนึ่ง   หุ้นที่มี  Margin Of Safety ในด้านของการดำเนินงาน   นั่นก็คือ  เป็นกิจการที่ผลการดำเนินงานมั่นคงและทนทานต่อภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจได้นั้น   แม้ว่าราคาหุ้นจะไม่ถึงกับต่ำนั้น    ราคาหุ้นกลับสามารถยืนอยู่ได้หรือตกลงไปไม่มากเมื่อเกิดวิกฤติ    ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว   Margin Of Safety  ที่เกิดจากความมั่นคงแข็งแกร่งของผลการดำเนินงานของบริษัท   มีค่ามากกว่า  Margin Of Safety เนื่องจากราคาหรือความถูกของหุ้นข้อหก   เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น  แม้ว่าจะเกิดจากภายนอกประเทศและต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นสุทธิเป็นหลัก   หุ้นทุกกลุ่มทั้งหุ้นใหญ่ที่ต่างชาติเล่นและหุ้นเล็กที่ต่างชาติไม่ได้ถือ   ต่างก็มีราคาตกลงกันมาทั่วหน้า    ไม่มีหุ้นไหนรอดพ้นไปได้   สิ่งที่แย่ก็คือ   หุ้นใหญ่นั้นราคาอาจจะลดลงแต่ก็สามารถขายได้   ในขณะที่หุ้นเล็กจำนวนมากนั้น  หาสภาพคล่องได้ยากเหลือเกิน   หุ้นบางตัวราคาอาจจะลงมาไม่มากเท่าแต่จริง ๆ  แล้วที่ไม่ลงอาจจะเป็นเพราะไม่มีสภาพคล่องให้ซื้อหรือขายทำให้ดูเหมือนว่าหุ้นไม่ได้ลงมามาก
ข้อเจ็ด   วิกฤตินั้น  อาจจะเป็น  โรคติดต่อ  ได้   ในยามที่เศรษฐกิจโลกเป็นโลกาภิวัฒน์   เราจะดูแต่ความเป็นไปภายในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ได้   อันตรายจากการลงทุนจึงเพิ่มขึ้นมากและนี่นำไปสู่ปรัชญาใหญ่ของการลงทุนที่ว่า    ความเสี่ยงนั้นสำคัญยิ่งกว่าผลตอบแทน  และทำให้ผมต้องอ้างคำพูดของ วอเร็น  บัฟเฟตต์  ก่อนที่จะจบบทความนี้อีกครั้งหนึ่งว่า   หลักการลงทุนข้อที่หนึ่งก็คือ   อย่าขาดทุน  และหลักการลงทุนข้อสองก็คือ   ให้กลับไปดูข้อหนึ่ง    วิกฤตินั้นให้บทเรียนที่สำคัญมากที่นักลงทุนมักจะลืมเลือนหรือให้ความสำคัญน้อยในยามที่ตลาดหุ้นสดใสนั่นก็คือ   การลงทุนมีความเสี่ยง  ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘