เลือกราคาหรือคุณภาพ

ในยามวิกฤติ ที่หุ้นส่วนใหญ่และตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักนั้น   นักลงทุนที่ยังมีเงินสดอยู่มักจะเตรียม  “ช้อน”   หุ้น  โดยเฉพาะที่มีราคาตกลงมามาก    ส่วนนักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่เต็มมือและไม่มีเงินสดเหลือนั้น  บางคนก็  “สวิทซ์”  หรือขายหุ้นตัวที่มีราคาตกลงมาน้อยแล้วไปซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากกว่า
คน ชอบซื้อหุ้นที่มีราคาตกลงมามากกว่า   เพราะเขาคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้นฟื้น   หุ้นที่ตกลงมามากกว่าจะขึ้นแรงกว่าหุ้นที่ตกลงมาน้อยกว่า   และด้วยเหตุผลเดียวกัน   เขาเหล่านั้นแทบจะไม่สนใจหุ้นที่ราคาไม่ลงเลย    เขาอาจจะคิดว่าหุ้นพวกนี้   ถึงแม้ว่าตลาดฟื้นตัว   ราคาของมันก็คงจะไม่ค่อยขึ้นไป  สู้พวกที่ราคาตกลงมามาก ๆ  ไม่ได้   และนี่ก็คือความคิดแบบเทคนิคหรือนักเล่นหุ้นทั่ว  ๆ  ไปที่มักใช้  “สามัญสำนึก”  ว่า    อะไรที่ตกลงมามากก็จะกระเด้งขึ้นไปมาก
สำหรับ  Value Investor  แล้ว  กลยุทธ์การซื้อหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แตกต่างกับนักลงทุนโดยทั่วไป   แต่เหตุผลนั้นแตกต่างกัน   นั่นคือ  พวกเขาจะเปรียบเทียบราคาและความถูกความแพงของหุ้นบริษัทหนึ่งเทียบกับ อีกบริษัทหนึ่ง   เขาคิดว่า   ในเมื่อหุ้น A  เดิมทีมีราคา  10 บาทและมีค่า PE  เท่ากับ  12  เท่า บัดนี้มีราคาลดลงมาครึ่งหนึ่งเหลือเพียง  5  บาทและค่า PE  เหลือเพียง  6  เท่า    ในเวลาเดียวกัน  หุ้น  B  เคยมีราคา  10  บาทและค่า  PE  เท่ากับ  12  เท่าเหมือนกัน   แต่หลังจากวิกฤติ  ราคาลดลงเพียงเล็กน้อยเหลือ  9  บาท  ซึ่งทำให้ค่า  PE  เหลือ  10.8  เท่า    เช่นนี้   ถ้าเขาเลือก   เขาจะซื้อหุ้นตัวไหน?
เขา จะซื้อหุ้น  A   เพราะเขาคิดว่าหุ้น A  คงมีศักยภาพพอ ๆ   กับหุ้น B   ค่าที่ว่ามันเคยมีค่า  PE  เท่า ๆ  กันก่อนเกิดวิกฤติ    เขาเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว   หุ้นก็จะกลับขึ้นมาใกล้เคียงกับราคาเดิม   ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น   การซื้อหุ้น  A  ก็จะทำกำไรได้  100%   ในขณะที่หุ้น  B  จะทำกำไรได้เพียง  11%    และในทางตรงกันข้าม  ถ้าตลาดหุ้นยังตกลงไปอีก   หุ้น  A  คงตกลงไปได้อีกไม่มากแล้ว   ในขณะที่หุ้น  B  อาจจะตกลงไปได้อีกมาก     เรียกว่าหุ้น  A  มี  Upside Gain หรือโอกาสทำกำไรในช่วงขาขึ้นมาก   แต่   Downside Risk  หรือความเสี่ยงที่จะขาดทุนในช่วงขาลงน้อย   ในขณะที่หุ้น  B  มี  Upside Gain น้อยแต่  Downside Risk มาก
ส่วน ตัวผมเองนั้น   ผมคิดว่าเหตุผลดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้อง    การพิจารณาลงทุนซื้อหุ้นนั้น    ควรต้องวิเคราะห์ถึงศักยภาพของธุรกิจใน  “อนาคตหลังจากวิกฤติ”   มากกว่าที่จะอิงอยู่กับราคาและค่า  PE  ของหุ้นใน  “อดีตก่อนวิกฤติ”   เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ   การสรุปว่ากิจการ  A  กับ  B  นั้นมีศักยภาพเท่ากันเพราะมีค่า  PE  เท่ากันก่อนที่หุ้นจะตกนั้น   ผมคิดว่าอาจจะไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง    การที่ราคาหุ้น  A  ลดลงมาครึ่งหนึ่งแต่หุ้น  B  ราคาลดลงมาเพียง  10%  ในท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจนั้น     ถ้าหุ้นทั้งสองตัวมีสภาพคล่องและคุณลักษณะของผู้ถือหุ้นใกล้เคียงกัน  (  เช่นมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศพอ ๆ  กัน )  มันก็น่าจะสะท้อนว่า   พื้นฐานของหุ้น  B  เหนือกว่าหุ้น  A   มาก  ทำให้คนไม่ยอมขายหุ้น  B   ในขณะที่ทิ้งหุ้น  A
บาง คนอาจจะเถียงว่าหุ้น  B  อาจจะไม่ได้เหนือกว่าหุ้น  A  เพียงแต่หุ้น B  อาจจะเป็นหุ้น   “Defensive”  นั่นคือเป็นกิจการที่มีรายได้และกำไรไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือ ถูกกระทบน้อยในขณะที่กิจการของหุ้น  A   นั้นอ่อนไหวต่อวัฎจักรเศรษฐกิจสูง   ดังนั้น  เวลาเกิดวิกฤติ  หุ้น  B  จึงทำผลงานได้ดีกว่า
ข้อ นี้  ผมเองอยากจะเถียงกลับโดยใช้เหตุผลเดียวกันว่า   นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า   คุณสมบัติของสองบริษัทไม่เหมือนกัน   นั่นคือ   หุ้น  B  มีคุณสมบัติที่สามารถทนทานต่อภาวะยากลำบากได้   ในขณะที่  A  นั้น  อาจจะดีเฉพาะในยามปกติ    ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญมาก    เพราะเศรษฐกิจนั้นมีช่วงเวลาที่ดี    ช่วงเวลาปกติ   และช่วงเวลาที่เลวร้าย    จะมีเฉพาะบางกิจการเท่านั้นที่สามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจได้ในทุกสภาพ    ดังนั้น   หุ้นที่ยังรักษาระดับราคาหุ้นได้ในยามที่เศรษฐกิจเลวร้ายและมีราคาสูงในยาม ปกติต้องถือว่าเป็นหุ้นที่ดีเยี่ยม   โดยนัยนี้   เราอาจจะต้องทบทวนความคิดใหม่ว่า   หุ้น  A  อาจเป็นแค่หุ้นดีธรรมดา   ในขณะที่หุ้น  B  เป็นหุ้นดีเยี่ยมหรือเป็น   Super Stock
ด้วย เหตุผลดังกล่าว   การซื้อหุ้น  B  อาจจะดีกว่าหุ้น A  นั่นก็คือ   มีโอกาสที่หุ้น  A  จะตกต่อไปในขณะที่หุ้น  B  ยังยืนอยู่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจยังตกต่ำลงต่อไป   และในทางตรงกันข้าม   ถ้าเศรษฐกิจฟื้น   หุ้น  B  อาจจะขึ้นไปมากเท่า  ๆ   กับหรือมากกว่าหุ้น  A  ก็ได้เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็น  Great Company หรือเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่   ที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนักก่อนหน้านั้น
ที่ เขียนมาทั้งหมดนั้น   ก็ไม่ได้เป็นการเชียร์ว่าควรซื้อหุ้นแบบไหน   หุ้นที่ตกลงมามากหรือหุ้นที่ไม่ตกหรือตกลงมาน้อย     เพียงแต่อยากจะบอกว่า   มันไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะซื้อหุ้นเพียงเพราะมันตกลงมามากเหลือเกินและไม่ ซื้อหุ้นที่ราคาไม่ลงเลยแม้ในยามวิกฤติ   สิ่งที่จะต้องตระหนักสุดท้าย   ก็คือ   เมื่อเกิดวิกฤติ  ธาตุแท้ของหุ้นมักจะปรากฏขึ้น   ในอีกด้านหนึ่ง   วิกฤติมักทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของบริษัทต่าง  ๆ   บางบริษัทตกต่ำลง   ในขณะที่บางบริษัทโดดเด่นขึ้น  อย่างถาวร   หุ้นจำนวนมากแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแล้วก็อาจจะไม่กลับมาเท่าเดิมอีก  แต่หุ้นที่ดีเยี่ยมนั้น   เมื่อเวลาผ่านไปและภาวะกลับเป็นปกติ  ราคามักจะขึ้นไปสูงกว่าเดิมมาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘