สิบปีหลังวิกฤติ

เรา เพิ่งผ่านหลักไมล์ 10 ปี นับจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในวัน ที่ 2 กรกฎาคม 2540  แต่ก็น่าแปลกที่ยังมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่เราจะเกิดวิกฤติซ้ำอีก ทั้ง ๆ ที่ฐานะทางการเงินของประเทศในขณะนี้แข็งแกร่งกว่าช่วงใด ๆ ในอดีต   บางที โอกาสครบรอบอะไรบางอย่างที่สำคัญ  เจ็บปวด  และรุนแรง อาจจะทำให้คนหวนคิดคำนึงถึงอดีตจนทำให้เกิดภาพหลอนและแสดงความรู้สึกออกมา โดยที่มันไม่ใช่ความจริง  แบบที่ฝรั่งเรียกว่า  Trauma หรือฝันร้ายที่ติดอยู่ในใจเป็นเวลานาน
ผม คงไม่พูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจหรือการเงินของประเทศซึ่งก็คงจะมีภาพคล้าย ๆ  กับตลาดหุ้นที่ผมจะพูดหรือพยายามรื้อฟื้นความหลังถึงเท่าที่พอจะจำหรือหา ข้อมูลได้  โดยที่ข้อสรุปของผมก็คือ  ตลาดหุ้นของเราเติบโตขึ้นมากทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพแม้ว่าคนจำนวนมากจะรู้สึกว่ายังไม่ถึงระดับที่น่าพอใจ
เริ่ม จากขนาดของตลาดซึ่งวัดโดยมูลค่าตลาดรวมของบริษัทจดทะเบียนในช่วงวันวิกฤติ ซึ่งมีค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท  มาถึงวันนี้มีค่าถึง 5.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตขึ้นถึง 270 % คิดเป็นการเพิ่มถึงปีละประมาณ 13.9% แบบทบต้นในขณะที่เศรษฐกิจของเราโตขึ้นเพียงปีละ4 – 5 % เท่านั้น   ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ  ก่อนวิกฤตินั้น  บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นแทบจะมีแต่สถาบันการเงินคือแบงค์และไฟแน้นซ์เป็น หลัก  ในขณะที่ปัจจุบันเรามีหุ้นกลุ่มใหญ่ ๆ หลากหลายนอกเหนือจากแบงค์ เช่น กลุ่มพลังงาน  สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์และกลุ่มอื่น ๆ     ขนาดของตลาดหุ้นในปัจจุบันนี้เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจของเราที่ 7.8 ล้านล้านบาทต่อปีก็ตกอยู่ที่ประมาณ 76%  ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนากว่าเรา  แต่ก็ไม่ได้ดูน่าเกลียดอะไรนักในระดับโลก
พูด ถึงปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ยิ่งเห็นว่า  ปริมาณการซื้อขายหุ้นในวันนี้ของเราสูงกว่าในช่วงปีวิกฤติเศรษฐกิจมาก   เพราะในขณะที่เราบ่นว่าการซื้อขายหุ้นในปีนี้ค่อนข้างซบเซา  แต่เราก็ยังมีคนเคาะซื้อขายกันเฉลี่ยวันละกว่าหมื่นล้านบาท  ในขณะที่ในปี 2540 นั้น  การซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมีเพียงประมาณ 3,700 ล้านบาทเท่านั้น   และถ้าดูย้อนหลังจากปี 2540 ลงไปก็พบว่าไม่เคยมีปีไหนที่มีปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเฉลี่ยเกิน 10,000  ล้านบาทเลย   นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าตลาดหุ้นบ้านเราในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมานั้นไม่เคยซบเซา   ผมเองยังจำได้ถึงช่วงเวลาหลังวิกฤติใหม่ ๆ ที่เริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังและนั่งเก็บหุ้น Value หลาย ๆ ตัวที่แทบไม่มีการซื้อขายในช่วงเวลาหลาย ๆ วันหรือสัปดาห์  ในใจผมขณะนั้นคิดแต่เพียงว่า  เมื่อซื้อได้แล้ว  ผมอาจจะไม่มีสิทธิที่จะขายเลย  แต่ผมก็ซื้อ  ซึ่งต่างจากภาวะปัจจุบันมากที่หุ้นส่วนใหญ่มีสภาพคล่องในระดับที่พอจะซื้อ หรือขายได้แม้ว่าจะเป็นหุ้นขนาดเล็กมาก
ใน ด้านของนักลงทุนนั้น   ในช่วงก่อนวิกฤติ  นักลงทุนส่วนมากเป็นรายย่อยที่น่าจะมีสัดส่วนการซื้อขายถึง 70% โดยที่นักลงทุนต่างประเทศอาจจะมีประมาณ 20 – 25% ขณะที่นักลงทุนสถาบันอาจจะมีเพียง 5 – 10%  ในขณะที่ปัจจุบันตัวเลขของนักลงทุนรายย่อยน่าจะเหลืออยู่เพียง ประมาณ 50%  นักลงทุนต่างประเทศมีมากขึ้นเป็นประมาณ 35 – 40%  และนักลงทุนสถาบันอาจจะมีถึง 10 – 15%   นั่นหมายถึงว่า คุณภาพของนักลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ใน ช่วงวิกฤติและก่อนหน้านั้น   แทบจะพูดได้ว่า นักลงทุน  โดยเฉพาะรายย่อยนั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นนักเก็งกำไรและเป็นนักลงทุนระยะสั้นที่เล่นหุ้นตามข่าวและ ตามภาวะตลาด  การเล่นหุ้นตามปัจจัยพื้นฐานมีน้อยมากและคำว่า Value Investment นั้น ไม่เคยมีอยู่ในศัพท์ของนักลงทุน   ในวันนี้  เรามีคนที่เรียกว่า Value Investor  มีคนที่เล่นหุ้นปันผล  มีคนที่เล่นหุ้นเติบโตเร็ว  และแม้ว่ากลุ่มคนที่ลงทุนอย่างมี “สไตล์” เหล่านั้นจะยังเป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ  แต่ก็เติบโตไปเรื่อย ๆ และมีอิทธิพลมากขึ้นในตลาดหุ้น
ก่อน ช่วงวิกฤติ  เราแทบไม่มีตราสารการเงินที่ซับซ้อนเลยนอกจากหุ้นและกองทุนรวมพื้น ๆ   แต่ในวันนี้  เรามีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ มากขึ้นมาก  ตัวอย่างที่โดดเด่นก็เช่น  เรามีกองทุนรวมที่อิงดัชนีหุ้น  กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์  เรามีตลาดและตราสารอนุพันธ์หลายชนิด  และกำลังมี ETF (Exchange Traded Fund)
ผม ไม่สามารถเขียนความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตของตลาดหุ้นไทยได้หมด  ที่จริงสิ่งที่เขียนมาก็เป็นเพียงน้อยนิดเท่านั้น   และก็คงไม่ทำให้นักลงทุนรู้สึกตื่นเต้นดีใจอะไร   เพราะตลาดจะเติบโตแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์กับนักลงทุนถ้าดัชนีหุ้นซึ่งเป็นตัว วัดผลกำไรของนักลงทุนระยะยาวไม่ได้มีการปรับตัวขึ้นมาตามที่ควรเป็น   นั่นก็คือ  10 ปีที่ผ่านมา  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาเพียงประมาณ 250 จุด  จาก 527 จุดเป็น 777 จุดหรือคิดเป็นการเติบโตเพียงปีละประมาณ 4 %  ซึ่งพอ ๆ  กับอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น  และนี่ก็คือสิ่งที่ยังไม่เติบโตของตลาดหุ้นที่ทุกคนรอคอยอยู่   ผมเองได้แต่หวังว่า  เมื่อถึงเวลา 15 ปีนับจากวันวิกฤติเศรษฐกิจ  ดัชนีตลาดหุ้นของเราจะผ่านจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 1753 จุดที่เกิดขึ้นในปี 2537    และเมื่อถึงจุดนั้น  เราก็คงจะสามารถพูดได้เต็มปากว่า  ตลาดหลักทรัพย์ได้พ้นจากอาการ  Trauma  และก้าวเข้าสู่อีกยุคหนึ่งซึ่งทุกอย่างเหนือกว่ายุคเดิมที่จะกลายเป็นอดีต ที่ไม่เหลือความเจ็บปวดและฝันร้ายอีกต่อไป

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘