ยิ่งเงินทุนน้อย ยิ่งต้องรีบลงทุน

เป็นเรื่องจริงที่ว่า การลงทุนนั้น  ต้องใช้ทุนจำนวนมาก
เพราะหากมีเงินทุนน้อย ผลตอบแทนที่ได้ ก็ย่อมจะน้อยเช่นกัน
ลองเปรียบเทียบนักลงทุนสองคน  ที่ลงทุนไปในหุ้นตัวเดียวกัน
คนแรก : ลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท
คนที่สอง : ลงทุนด้วยเงิน 10 ล้านบาท
ถ้าหุ้นตัวนี้ดำเนินงานเกิดผลกำไร และจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น 10%
คนแรก จะได้เงินปันผล 1,000 บาท
คนที่สอง จะได้เงินปันผล 1 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกันอย่างนี้
คนแรก ได้เงินปันผลเพียง 1,000 บาท  ก็ไม่พอจะซื้อข้าวของบางชิ้นด้วยซ้ำ
แต่ คนที่สอง สามารถอยู่ได้ด้วยเงินปันผลเพียงอย่างเดียว (ไม่ต้องทำงานอื่นก็ได้)
หากมองในแง่ความคุ้มค่าของเงินและเวลาที่ลงทุนไป
จึงอาจมองได้ว่า คนแรก ใช้เวลาได้ไม่คุ้มค่า
ส่วนคนที่สอง ใช้เวลาได้คุ้มค่ามากกว่า
แต่เราจะรู้หรือไม่ว่า
กว่าที่คนที่สอง จะมีเงินลงทุนถึง 10 ล้านบาทนั้น
เขาต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ จึงมาถึงจุดนั้นได้
อาจเป็นไปได้ว่า
เงินจำนวนนี้ ผ่านการลงทุนมาจากรุ่นปู่ย่าตายายก็เป็นได้
ซึ่งตอนนั้น คงจะเริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยๆ เช่นกัน
หรือ
อาจเป็นไปได้ว่า
เงินจำนวนนี้เกิดจากการเก็บหอมรอมริบมาในช่วงชีวิตของนักลงทุนคนนี้เอง
การที่มีเงินทุนน้อย
อาจจะดูหมดหวัง ในหนทางของการลงทุน (ในยุคทุนนิยมแบบนี้)
แต่ความจริงนั้น เราต้องมองออกไปในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป
นั่นก็คือ
ยิ่งมีเงินทุนน้อยเท่าไหร่  ก็ยิ่งจะต้องรีบเร่ง ศึกษาหาทางลงทุนให้เร็วที่สุด
วงจรของคนที่มีเงินทุนน้อย มักจะอยู่ในรูปแบบนี้
คือ
ทำงาน –> รับเงินเดือน –> ใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน
และก็วนซ้ำอยู่อย่างนี้
จึงแทบจะไม่มีโอกาสได้ลงทุนอะไรได้เลย
ปัญหาไม่ใช่เพราะมีรายได้น้อย
แต่ปัญหาอยู่ที่ การไม่มีวิธีการที่จะลงทุน
และปัญหาอยู่ที่ การมองว่าลงทุนด้วยเงินน้อยๆ นั้นไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป
(สู้ทำงานรับเงินเดือนไปเรื่อยๆ ไม่ได้)
เมื่อมองไม่เห็นช่องทางที่จะลงทุน และ ไม่คิดจะลงทุน
ก็เป็นเหตุให้ไม่คิดจะอดออม
ใช้ชีวิตแบบ รายได้ เท่าๆ กับรายจ่าย แบบเดิมซ้ำๆ
แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม
เขาเริ่มคิดได้ว่า
หากได้เริ่มต้นสะสมเงิน และเริ่มต้นลงทุน  โดยเริ่มต้น ตั้งแต่วันนี้
แม้จะเป็นจำนวนเงินที่เล็กน้อย
แต่ก็จะเป็นกำลังใจ ให้พยายามอดออมมากขึ้น ลดรายจ่ายลง
เงินลงทุน ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป
แม้เงินลงทุนจะน้อย
ผลตอบแทนก็ยังน้อย
แต่มันก็เป็นผลที่เกิดขึ้น  จากการที่ (เงินเริ่มต้นทำงานแทนเรา)
ส่วนงานประจำที่ทำอยู่ ก็ยังสร้างรายได้ให้เข้ามา เป็นปกติเหมือนเดิม
แม้ปันผลที่ได้เพียง 1,000 บาท
แต่มันก็เป็นเงินที่เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ไปเป็น 11,000
และกว่าที่เงินลงทุน จะเพิ่มขึ้นจนเป็นล้าน เป็นสิบล้าน เหมือนอย่างคนที่สอง
จึงอาจต้องใช้เวลาที่นานมาก
(อาจใช้เวลาถึง 30 ปี หรือนานกว่านั้น)
เมื่อเห็นว่าต้องใช้เวลานานมากเท่าไหร่  ก็เลยยิ่งต้องรีบเร่งที่จะเริ่มต้นลงทุนเท่านั้น
เพราะยิ่งเวลาผ่านไปมาก แต่ยังไม่มีการเริ่มต้นสักที
ก็ยิ่งจะทำให้เสียเวลามากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเสียเวลามากเท่าไหร่  ก็แสดงว่าเราใช้เวลาได้ไม่คุ้มค่ามากขึ้นเท่านั้น
ส่วนคนที่มีเงิน 10 ล้าน
แม้เขาจะไม่ได้นำมาลงทุน ณ ตอนนี้ ก็ไม่เป็นไร
เพราะเพียงดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้  ก็อาจจะมากพอในการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายได้แล้ว
เหตุนี้ ผมจึงสนับสนุนให้คนที่มีเงินทุนน้อย
เริ่มต้นศึกษา และเริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
(และตลาดหุ้นนี่แหละ เป็นแหล่งให้คนที่มีทุนน้อย ได้มีโอกาสเริ่มต้น)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ตัวอย่างกระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี 5