มองราคาหุ้นในอนาคต

จากบทความที่แล้วตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมากว่า 100 จุด นักลงทุนบางกลุ่มก็เริ่มรู้สึกว่าหุ้นเริ่มแพงไปในขณะที่อีกกลุ่มยังเชื่อ มั่นว่าตลาดหุ้นไทยยังถูกและจะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้จากสภาพคล่องอันล้น หลามที่ไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม   ที่ว่าถูกหรือแพงไปนักลงทุนส่วนใหญ่ดูได้จากอะไร วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน…

เชื่อว่าผู้อ่านเกือบทุกท่านคงจะคุ้นเคยกับค่า พีอีเรโช (P/E Ratio หรือ PER) กันไม่มากก็น้อย ซึ่งค่านี้จะปรากฏให้เห็นในหนังสือพิมพ์ธุรกิจหน้าที่เป็นตารางราคาหุ้นเป็น ประจำทุกวันเพื่อเป็นค่าที่นักลงทุนทั่วไปใช้บอกความแพงความถูกของหุ้นเป็น รายตัวหรือตลาดหุ้นทั้งตลาด  โดยมากหุ้นที่มี PER สูงจะถูกมองว่าแพงและหุ้นที่ PER ต่ำจะถูกมองว่าต่ำ… แต่ก็มีในบางกรณีเช่นกันที่หุ้น A ที่มี PER 10 เท่าถูกมองว่าเป็นหุ้นที่ถูกแต่หุ้น B ที่มี PER  6 เท่ากลับถูกมองว่าแพง สงสัยมั้ยครับว่าทำไม?

ก่อนจะไปต่อผมอยากจะเริ่มต้นที่พื้นฐานก่อนสักเล็กน้อย (อาจจะน่าเบื่อสำหรับนักอ่านบางท่านที่รู้อยู่แล้ว สามารถข้ามไปได้นะครับ) PER นั้นเต็มๆมาจาก Price to Earnings Ratio หรืออัตราส่วนราคาหุ้น ต่อกำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share: EPS) โดยราคาหุ้น (Stock Price) คือราคาที่วิ่งขึ้นลงทุกวันของหุ้นตัวหนึ่งๆ และ กำไรต่อหุ้น (EPS) คือผลกำไรรวมทั้งปีของบริษัทหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออกโดยบริษัท ดังนั้น PER ก็คือต้นทุนในการได้มาซึ่งกำไร 1 บาทต่อหุ้นนั่นเอง ซึ่งหากมองถึงจุดนี้ PER สูงก็คือแพง PER ต่ำก็คือถูก…แต่ตลาดหุ้นมักจะมีการมองไปยังอนาคตข้างหน้าหรือ Forward Looking เสมอ!

กลับมาดูหุ้น A ที่ PER 10 เท่าที่นักลงทุนมองว่าถูกเพราะมีการคาดการณ์ว่ากำไร 1 บาทของหุ้น A ในปีนี้จะโตเป็น 1.25 บาทในปีหน้า ทำให้ PER หุ้น A มีแนวโน้มปรับลงเป็น 10 ÷ 1.25 = 8 เท่าในปีหน้า ในขณะที่การคาดการณ์โดยกลุ่มนักลงทุนเดียวกันมองว่ากำไร  1 บาทของหุ้น B ในปีนี้จะลดลงเหลือ 80 สตางค์หรือ 0.8 บาทต่อหุ้นในปีหน้า ทำให้ PER หุ้น B มีแนวโน้มปรับขึ้นเป็น 10 ÷ 0.8 = 12.5 เท่าในปีหน้า เมื่อเทียบกับ PER หุ้น A ปีหน้าที่ 8 เท่าเลยถูกมองว่าแพงกว่า    การดู PER ที่ใช้ผลกำไรในปีหน้าเป็นการดู Forward Looking PER ส่วนการดู PER ที่ใช้ผลกำไรของปีนี้ซึ่งจริงๆก็คือผลกำไรที่บริษัทประกาศออกมาแล้วเป็นการ ดู Trailing PER

โดยสรุปก็คือ ถ้าจะดูหุ้นว่าถูกหรือแพงโดยใช้ PER ให้ทะลุปรุโปร่งแล้วละก็ควรที่จะใช้ Forward Looking PER ที่มีการรวมการคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตไปด้วยแล้ว

ในตอนหน้าเราจะมาดูส่วนกลับของ PER ที่เรียกว่า Earnings Yield กัน…

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘