ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน

ต่อเนื่องกันจากหัวข้อ “ยิ่งเงินทุนน้อย ยิ่งต้องรีบลงทุน”
มาสู่หัวข้อ “ไม่มีความรู้เรื่องลงทุน”
ความจริงอยากตั้งชื่อหัวข้อว่า “ยิ่งไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน ยิ่งต้องรีบลงทุน”
แต่มันจะยาวเกินไป
ก็เลยตั้งหัวข้อแบบนี้แหละครับ
…………………..
เพราะความรู้นั้น ได้จากการแสวงหาความรู้
โดยปกติแล้ว มีหนทางที่จะได้ความรู้หลักๆ อยู่ 2 วิธี
คือ
1. ศึกษาจากผู้อื่น
2. ศึกษาจากประสบการณ์ของตัวเอง
ธรรมชาติของคนเราคือ กลัว
กลัวความเสี่ยง กลัวขาดทุน กลัวเจ๊ง กลัวหมดตัว
ยิ่งกลัว ก็ยิ่งไม่กล้าที่จะก้าวออกไป
เมื่อไม่ก้าวออกไปสู่หนทางของนักลงทุน
ก็เลยปิดโอกาสตัวเองที่จะศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุน
สุดท้ายก็วนเวียนอยู่กับความไม่รู้เรื่องการลงทุนเหมือนเดิม
แต่ถ้าเริ่มที่จะก้าวไปสู่หนทางของนักลงทุน
สิ่งที่ทุกคนต้องทำ (โดยอัตโนมัติ) ก็คือ
เริ่มต้นศึกษาหาความรู้ (จากผู้อื่น) ที่ได้เขียนได้บันทึกได้บอกเล่าเรื่องราวออกมา
เริ่มต้นอ่านหนังสือ เริ่มต้นหาความรู้ทางอินเตอร์เน็ต หรือพบปะพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์
แต่นั่นยังไม่ใช่ความรู้ที่เพียงพอจะเอาตัวรอดได้
เพราะความรู้ที่จะช่วยให้ตัวเองอยู่รอดได้  ก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ
ไม่จำเป็นว่าต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุน
ในกิจการงานทุกสาขาอาชีพ  คนที่ทำงานได้ ก็เพราะเขามีความรู้อยู่กับตัวเขาเอง
หมอท่องตำราได้หมด ก็ใช่ว่าจะผ่าตัดคนไข้ได้
แต่เป็นเพราะ หมอมีประสบการณ์ในการผ่าตัด จึงมีความรู้ด้านการผ่าตัดอยู่กับตัวเอง
วิศวกรก็เช่นกัน
ไม่ใช่ว่าเข้าใจเนื้อหาในตำราแล้วจะสามารถสร้างตึกระฟ้าได้ทันที
แต่ต้องเกิดจากประสบการณ์ที่เคยสร้างตึกสองสามชั้น ขยับไปเป็นห้าชั้นสิบชั้น
ขยับขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้างตึกเป็นร้อยๆ ชั้นได้
นี่คือประสบการณ์ที่มีอยู่ในตัวของเขา
การลงทุนก็เป็นแบบนั้น
คุณอาจจะหาอ่านตำราจนจบหมด คุณอาจจะค้นอินเตอร์เน็ตจนไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้สนใจ
แต่นั่นก็เป็นความรู้ของคนอื่น ไม่ใช่ความรู้ของคุณเอง
ความรู้ที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณ ต้องเกิดจากประสบการณ์โดยตรง
และความรู้แบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าคุณยังไม่เริ่มต้นลงทุน
ก็ต้องพูดซ้ำอีกทีว่า
เมื่อคุณเริ่มต้นลงทุน  สิ่งที่จะตามมาโดยอัตโนมัติก็คือ
คุณจะเริ่มต้นเรียนรู้  ทั้งจากคนอื่น และ จากตัวเอง
และประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลว หรือความสำเร็จ
มันจะเป็นสิ่งที่สอนคุณเองว่า จะทำอย่างไร จะมีวิธีรับมือกับตลาดหุ้นได้อย่างไร
ยิ่งคุณเริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ ประสบการณ์ของคุณก็จะมากเท่านั้น
ยิ่งคุณเสียเวลาไปกับความกลัวที่จะเริ่มต้นเท่าไหร่ คุณก็จะขาดประสบการณ์ไปเท่านั้นเช่นกัน
วิธีการที่ผมจะแนะนำก็คือ
การเริ่มต้นแบบเล็กๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป
คุณอาจจะแบ่งเงินส่วนเล็กน้อยทยอยเข้ามาในตลาดหุ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง
แม้จะเจ็บตัวก็ถือว่าเป็นประสบการณ์
ไม่ถึงขั้นหมดตัว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ตัวอย่างกระทู้ธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี 5