หุ้นถูกเรื้อรัง

มีหุ้นในตลาด หลักทรัพย์กลุ่มหนึ่งที่ผมเองเคยซื้อ เคยขายไปแล้ว หรือบางทีก็ยังถืออยู่หรือกำลังคิดที่จะซื้อ และส่วนใหญ่ก็ยังจับตาดูอยู่ แต่กลับเป็นหุ้นที่ผมยังไม่เข้าใจดีพอและไม่รู้ว่าอนาคตมันจะวิ่งขึ้นไปไหม สิ่งเดียวที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ ราคามันไม่ค่อยตกหรือตกก็ไม่มาก สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ ทำไมราคามันจึงไม่ไปไหนสักทีทั้ง ๆ ที่มันเป็นหุ้นที่แสนจะถูกและเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าไม่ว่าจะวัดโดยตัวเลข อะไร หุ้นกลุ่มที่ว่านี้คือหุ้นที่ผมอยากจะเรียกว่า “หุ้นถูกเรื้อรัง”
หุ้น ถูกเรื้อรังนั้นมีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่างดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ หลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” อีกหลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตช้าหรืออิ่มตัว เกือบทั้งหมดนั้นเป็นบริษัทที่เป็นโรงงานผู้ผลิตหรือขายสินค้าให้กับโรงงาน อื่นหรือขายสินค้าที่คนซื้อไม่สนใจในตัวยี่ห้อสินค้า ไม่มีบริษัทไหนที่เป็นบริษัทที่ขายบริการ
ข้อ สอง หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าทุกด้าน เริ่มตั้งแต่ตัวเลขยอดขายและกำไรที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายปี ยอดขายและกำไรของหลายบริษัทอาจจะไม่ค่อยเติบโตมากนัก แต่บางบริษัทก็เติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้ เรียกว่าผลการดำเนินงานนั้นอยู่ในข่ายที่สามารถ “คาดการณ์ได้” เช่นเดียวกัน บริษัทเหล่านี้มักจะมีปันผลสม่ำเสมอและผลตอบแทนจากปันผลเมื่อเทียบกับราคา หุ้นก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือประมาณ 5- 6 % ต่อปี และถ้าใครที่ลงทุนแล้วหวังปันผลเป็นหลักแล้วละก็ หุ้นเหล่านี้ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นหุ้นห่านทองคำก็น่าจะได้
ข้อ สาม ฐานะทางการเงินของบริษัทในกลุ่มนี้ค่อนข้างมั่นคง หนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินมักจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ยิ่งไปกว่านั้น หลายบริษัทมีเงินสดมหาศาลจนเกินความจำเป็น นอกจากเงินแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทาง บัญชีด้วย ดังนั้น ความ “ถูก” ของหุ้นจึงแทบไม่มีข้อสงสัยเลยถ้ามองจากทรัพย์สิน
ข้อ สี่ ถ้าวัดความ “ถูก” ของหุ้นจากค่า PE หรือดูจากราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้นก็จะพบอีกว่า หุ้นเหล่านี้มีค่า PE ที่ค่อนข้างต่ำ นั่นคือ เกือบทั้งหมดมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่า หลายบริษัทมีค่า PE เพียง 7-8 เท่าหรือต่ำกว่าก็มี ดังนั้น สำหรับ Value Investor ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาหุ้นเหล่านี้ เขาก็มักจะสรุปทันทีว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจมาก
ข้อ ห้า ในด้านของการบริหารงานของกิจการ สิ่งที่มักจะพบก็คือ บริษัทน่าจะมีการบริหารที่ดี หลายบริษัทอาจได้รับรางวัลดีเด่นด้านการผลิต หลายบริษัทก็มีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจที่ใช้ได้ มองในด้านของการคุมโรงงานหรือบริหารการขาย หรือการจัดการโดยทั่วไปแล้ว บริษัทเหล่านี้มักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้น มองโดยผิวเผินแล้ว Value Investor หลายคนก็มักจะสบายใจ และสรุปว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าลงทุน
แต่ ถ้ามองลึกลงไปอีกสักเล็กน้อย หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมักจะมีจุดอ่อนที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทซึ่งผมอยากจะ ชี้ให้เห็นก็คือ บริษัทเหล่านี้มักมีนโยบายในการจัดสรรเงินที่บริษัททำมาหาได้อย่างที่ผมคิด ว่าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนทั่วไป แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารและ/หรือหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของบริษัท” โดยที่การจัดสรรเงินสดและผลกำไรของบริษัทมักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
ข้อ แรกที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทก็คือ เมื่อมีกำไรบริษัทมักจะจ่ายปันผลในอัตราที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบ กับบริษัทอื่นที่มีสถานะใกล้เคียงกัน หลายบริษัทจ่ายปันผลเพียง 25-30 % ของกำไรทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีหนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินเลย นี่เป็นข้อแรก
ข้อ สอง บริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีกำไรต่อเนื่องและจ่ายปันผลน้อย หลายบริษัทจึงมีเงินสดเหลือมาก แต่แทนที่จะจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น กลับนำไปฝากแบงค์หรือซื้อตราสารการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเหตุผลอาจจะเป็นว่าเพื่อสำรองไว้ใช้ขยายงานหรือรองรับกับภาวะ “วิกฤติ” ในอนาคต บางบริษัทก็นำเงินสดที่มีไปขยายงานโดยเฉพาะในกิจการที่อยู่ในต่างประเทศหรือ บริษัท “ในเครือ” มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้น หวังที่จะเห็นปันผลเพิ่มยากเย็นมากและถ้าเพิ่มก็เพียงเล็กน้อย ในประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อถกเถียงว่าบริษัทต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อที่จะได้ทำ กำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นได้ปันผลมากขึ้นในอนาคต แต่สำหรับผมและ Value Investor อีกหลายคนนั้น อนาคตอาจจะไม่แน่นอน และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าการลงทุนเกิดความเสียหายและอนาคตเราอาจจะไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับคำพูดที่ว่า “นกหนึ่งตัวในมือนั้น ดีกว่านกสองตัวในพุ่มไม้”
ข้อ สาม บริษัทเหล่านี้มักมีผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของที่ไม่ค่อยได้แสดงตัวต่อ สาธารณชน คนที่ออกมาให้ข่าวและแถลงรายงานตอบคำถามต่าง ๆ มักเป็นผู้จัดการที่เป็นลูกจ้างที่ไม่ได้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ มองอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า เจ้าของตัวจริงนั้นมีกิจการอื่น ๆ ที่มีค่าและต้องการเวลามากกว่ากิจการของบริษัทที่พูดถึง และนี่อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เจ้าของตัวจริงไม่สนใจที่จะจัดสรรเงิน ของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการจ่ายปันผล แต่อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทแล้วใช้ประโยชน์จากบริษัทแทนเช่น เอาบริษัทไว้ใช้ในการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกิจการของเครือ เอาบริษัทไว้ใช้เป็นที่ตั้งให้ผู้มีอุปการคุณเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นลูกจ้าง และอื่น ๆ อีกร้อยแปด
ทั้ง หมดนั้นก็เป็นเพียงข้อสงสัยหรือข้อสังเกตของผม แต่ถ้าถามว่าตกลงเราควรซื้อหุ้นถูกเรื้อรังเพื่อลงทุนหรือไม่? คำตอบของผมก็คือ หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ “ถูกเรื้อรัง” นั่นแปลว่า โอกาสที่เราจะซื้อตอนหุ้นถูกและขายตอนหุ้นแพงมีน้อยมาก สิ่งที่พอจะหวังได้บ้างก็คือ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวตามกันไป ซึ่งลักษณะนี้การปรับตัวแบบหวือหวาเร็วและสูงมากก็จะมีน้อย แต่ถ้าซื้อเพื่อกินปันผลก็คงจะพอได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ อย่าซื้อหุ้นเหล่านี้เมื่อราคาหุ้นเพิ่งมีการปรับตัวขึ้นไปแรง เพราะหลายครั้งการปรับตัวขึ้นไปนั้นเกิดจากแรงซื้อของใครก็ตามที่เข้ามา และเนื่องจากหุ้นมีสภาพคล่องต่ำราคาจึงขึ้นไปแรง แต่เมื่อแรงซื้อหมด ราคาก็มักจะค่อย ๆ ปรับตัวกลับลงมา ดังนั้น ถ้าจะซื้อหุ้นถูกเรื้อรัง เราควรจะซื้อตอนที่หุ้นอยู่นิ่ง ๆ ในราคาถูกมาก อย่างไรก็ตาม ในการถือหุ้นถูกเรื้อรังนั้น เราอาจจะต้องรับความจริงว่าหุ้นอาจจะไม่ไปไหนนานมาก ซึ่งทำให้มัน “ไม่คุ้ม” กับเวลาที่เสียไปที่เราอาจจะไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มาก และนี่ก็คือสิ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่า เวลาเป็นเพื่อนที่ดีของกิจการที่ดีเยี่ยมแต่เป็นศัตรูของกิจการพื้น ๆ แม้ว่ามันจะมีราคาถูก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘