ความลำเอียง

คุณสมบัติ สำคัญของการที่จะเป็น Value Investor ที่ดีข้อหนึ่งก็คือ  การ “ไม่ลำเอียง”   แต่คนเรานั้นมักจะมีความลำเอียงโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวในหลาย ๆ เรื่อง   ต่อไปนี้คือความลำเอียงที่มักจะเกิดขึ้นกับคนทั่ว ๆ ไปซึ่ง  แน่นอน  รวมทั้ง Value Investor  ดังนั้น  ถ้าเรารู้   เราจะต้องพยายามเตือนตัวเองให้ตระหนักไว้เสมอเพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ลำเอียง หรือลำเอียงน้อยลง
ความลำเอียงข้อแรก :  ผมเก่งกว่าหรือผมดีกว่าหรือผมรู้มากกว่า    นี่คือความลำเอียงที่เกิดขึ้นมาก   นักจิตวิทยาเคยทำการวิจัยโดยการถามคนที่ขับรถให้เขาให้คะแนนการขับรถของตน เองเทียบกับคนอื่นทั่ว ๆ ไปพบว่า  คนส่วนใหญ่ 70-80% ตอบว่าตนเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก   ซึ่งจริง  ๆ  แล้วเป็นไปไม่ได้   เพราะโดยความเป็นจริงจะต้องมีคนครึ่งหนึ่งที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยและอีกครึ่ง หนึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย    ความลำเอียงข้อนี้    เขาบอกว่ามาจากการที่คนเรามักจะมีความมั่นใจในตนเองสูงเกินไป    Value Investor จะต้องเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าเรากำลังคิดไปเองหรือเปล่าว่าเราเก่งหรือเรา รู้ดีหรือมีข้อมูลมากกว่าคนอื่น
ความลำเอียงข้อสอง :  ผมเก่งไม่ได้เฮง  นี่คือความลำเอียงที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกที่คนเรามักจะต้องการปกป้อง เกียรติยศและศักดิ์ศรีของตนเอง     เวลาที่เราทำอะไรสำเร็จ  เช่น ซื้อหุ้นแล้วหุ้นขึ้นได้กำไร  เราก็มักจะคิดว่าเราเก่งไม่ได้เกิดจากโชค   แต่ถ้าซื้อหุ้นแล้วขาดทุน  เราก็มักจะคิดว่าโชคไม่ดี    ผมเองแทบไม่เคยได้ยินนักธุรกิจคนไหนที่ประสบความสำเร็จสูงแล้วบอกว่าตนเอง ประสบความสำเร็จเพราะ  “เฮง”   
สำหรับ  Value Investor  ผมมีสูตรง่าย  ๆ  ที่จะทำให้เรารู้ว่าเราเก่งหรือเราเฮงเวลาลงทุนซื้อหุ้นนั่นคือ   ทุกครั้งที่ซื้อหุ้นเราจะต้องคิดถึงเหตุผลก่อนว่าทำไมเราจึงซื้อ  เช่น  เราคิดว่ากำไรของบริษัทจะดีขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์หรือคนอื่นคิดซึ่งจะ ทำให้หุ้นขึ้นไป     เมื่อซื้อแล้วต่อมาถ้าหุ้นขึ้นและเหตุผลที่เราคิดนั้นถูกต้อง  นั่นแสดงว่าเรา “เก่ง”   แต่ถ้าเราซื้อแล้วหุ้นวิ่งขึ้นไปแต่เหตุผลที่เราคิดไว้นั้นผิดคือกำไรของ บริษัทไม่ได้ดีขึ้น   แบบนี้  ถึงแม้ว่าเราจะกำไรแต่เกิดขึ้นจาก  “โชคดี”  ในอีกด้านหนึ่ง  ถ้าเราซื้อแล้วราคาหุ้นลดลงแม้ว่าเหตุผลของเราจะถูก  แบบนี้เรียกว่าเรามีฝีมือแต่   “โชคร้าย”  และสุดท้ายถ้าเหตุผลของเราผิดและหุ้นก็ลดลงแบบนี้แปลว่าฝีมือในการเลือกหุ้น ของเรายังไม่ดีพอ   
ความลำเอียงข้อสาม :  ผมรู้แล้วว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้   นี่คือความลำเอียงว่าตนเองรู้มาก่อน  หลังจากที่ได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นแล้ว   หรือพูดแบบกวนเล็กน้อยว่า   เป็นเรื่องของการ  “คาดการณ์อดีต”   เช่น   “ผมคิดอยู่แล้วว่าถ้าเหตุการณ์ยังเป็นอย่างนี้  ในที่สุดก็จะต้องมีการปฏิวัติ”   แต่นี่เป็นการพูดในวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากที่มีแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติแล้ว   ก่อนหน้านี้ไม่เห็นมีใครพูดเลย     ความลำเอียงข้อนี้ที่ทำให้น่ากลัวก็เพราะว่า   ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถในการพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว  เราก็อาจจะคิดว่าเรามีความสามารถในการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่น ยำด้วย   ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับการลงทุน
ความลำเอียงข้อสี่ :  ผมฟังเฉพาะที่ผมอยากฟังหรือผมรับรู้เฉพาะสิ่งที่ผมอยากรับรู้    และสิ่งที่คนอยากฟังก็คือสิ่งที่เขาเห็นด้วย   คนอยากดูหรืออยากเห็นข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อหรือความเห็นของเขาและ มักจะปฏิเสธที่จะรับความเห็นที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับความเชื่อของตน  นี่คงเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกที่คนเราพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนเพื่อให้ รู้สึกว่าตนเอง  “คิดถูกต้อง”  เขาไม่อยากฟังสิ่งที่อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาคิดผิด   แต่สำหรับนักลงทุนแล้ว   เราควรจะต้องรับฟังข้อมูลและความเห็นต่าง ๆ  ทุกด้านโดยเฉพาะข้อมูลที่แตกต่างจากความคิดของเรา   ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเชื่อ   แต่มันจะช่วยเตือนให้เรามีความระมัดระวัง  ไม่มั่นใจในตนเองมากเกินไป  ว่าที่จริง  ถ้า  Value Investor ซื้อหุ้นตัวหนึ่งไว้แล้วด้วยเหตุผลที่ตนเองคิด  เขาควรจะเลือกฟังความคิดเห็นที่แย้งกับความคิดของตนมากกว่าความคิดเห็นที่ เห็นด้วย  เพราะคนที่ถือหุ้นตัวใดแล้ว   เขาก็มีความลำเอียงที่จะรักหุ้นตัวนั้นมากกว่าปกติ  ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อการตัดสินใจในอนาคต
ความลำเอียงข้อที่ห้า :  การติดยึดกับตัวเลข   ทั้ง ๆ ที่มันเป็นตัวเลขที่ไม่มีความหมายหรือไม่ได้อิงพื้นฐาน   นี่เป็นเรื่องที่นักขายสินค้าแบบต่อรองรู้ดี   เขารู้ว่า  ถ้าเขาเปิดตัวเลขออกมาตัวหนึ่งแล้ว   การต่อรองก็มักจะอิงกับตัวเลขนั้นบวกลบไม่มาก   หรือถึงจะมากก็ยังห่างจากตัวเลขพื้นฐานจริง ๆ มากอยู่ดี    ในเรื่องของหุ้นนั้นคงไม่ต้องบอกว่ามีตัวเลขมากมายที่เราอาจจะไปติดยึดโดย ที่มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพื้นฐานของกิจการเลย  เช่น  ราคาที่หุ้นเคยขึ้นไปสูงสุด  ราคาที่ทำ IPO  หรือแม้แต่ราคา  “ต้นทุน”  ของเรา   Value Investor จะต้องพยายามไม่ติดยึดตัวเลขเหล่านั้น   เช่น  ถ้าจะขายหุ้นตัวไหน  อย่าไปคิดว่าต้นทุนของเราเป็นเท่าไร  เรากำไรหรือขาดทุนแค่ไหน  การซื้อขายหุ้นควรจะอิงอยู่กับพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก   แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก   การศึกษาส่วนใหญ่พบว่า  คนมักชอบขายหุ้นที่กำไรและเก็บหุ้นที่ขาดทุน  ผมเองชอบขายหุ้นที่ขาดทุนและเก็บหุ้นที่กำไร  ซึ่งก็คงไม่ดีทั้งคู่
ผม คงไม่ต้องพูดว่าความลำเอียงยังมีอีกมากมาย  นักลงทุนจะต้องพยายามเรียนรู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะลำเอียงในเรื่องไหนมาก และความลำเอียงนั้นอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้มากแค่ไหนและจะต้องคอย เตือนตัวเองตลอดเวลา   นักลงทุนที่ดีนั้น  จะต้องพยายามลดความลำเอียงให้เหลือน้อยเพื่อที่จะได้ใช้เหตุผลได้ถูกต้องมาก ขึ้นเรื่อย ๆ   ในเรื่องของการลงทุนนั้น   สิ่งที่ถูกก็คือถูก   สิ่งที่ผิดก็คือผิด  ผลลัพธ์ของคุณขึ้นอยู่กับว่าคุณถูกแค่ไหนและผิดแค่ไหน  โชคนั้น  เป็นเรื่องที่คุณไม่สามารถพึ่งพิงได้

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘