7thLTG

The Seven Thailand Long-term Growth Fund (7thLTG)
เนื่องด้วยผมมีความตั้งใจจะอุทิศทรัพยากรของ ผมส่วนหนึ่งให้กับการค้นหาวิธีลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร และต้องง่ายพอที่ average person จะสามารถปฏิบัติได้เอง ผมจึงสร้างพอร์ตลงทุนอันหนึ่งขึ้นมาให้ชื่อว่า The Seven Thailand Long-term Growth Fund หรือ 7thLTG เพื่อการนี้ครับ
เป้าหมายของผมคือการค้นหาวิธีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่
  1. ให้ตอบแทนเฉลี่ยสะสมเกิน 10% ต่อปี และเอาชนะดัชนี SET50 ได้ (อาจจะไม่สูงมากแต่คุ้มค่ากับความเสี่ยงและ effort ที่ลงไป)
  2. average person ต้องสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยาก 
  3. ไม่ต้องติดตามข่าวหรือตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด (เพื่อให้เงินทำงานให้เรา ไม่ใช่ให้เราทำงานให้เงิน)
วิธีนี้ไม่ได้เน้นการ maximize ผลตอบแทน แต่เน้นการทำให้ผลตอบแทนให้ดีพอสมควรโดยไม่ต้องใช้ effort มาก
นโยบายการลงทุน
คัดเลือกหุ้นไทยจำนวน 7 ตัว ที่เข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้
  1. เป็นกิจการที่ยังเติบโตได้อีกมากในระยะยาว (ข้อนี้ขาดไม่ได้)
  2. ต้องเป็นบริษัทที่ established แล้วพอสมควร (ไม่เจ๊งไปง่ายๆ ใน 15 ปีเสียก่อน)
  3. ไม่อยู่ใน sector เดียวกันเกิน 3 ตัว
กองทุนจะลงทุนในหุ้น 7 ตัวนี้เท่านั้น โดยรายชื่อสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเมื่อเห็นว่าหุ้นนั้นไม่เข้าเกณฑ์ ทั้งสามข้ออีกต่อไป หรือไม่สามารถเทรดได้อีก (โดนควบรวม โดนถอน โดยแขวน ไร้สภาพคล่อง ฯลฯ)
ในการลงทุนจะซื้อหุ้นทั้ง 7 ตัว ทุกวันที่ 25 ของเดือน ตัวละ 3000 บาท (ปัดลงให้เศษหุ้นลงตัว) เป็นเงินรวม 21000 บาทต่อเดือน ซื้อไปเรื่อยๆ ทางเดียวจนกว่าจะครบ 15 ปี และจะสรุปผลเมื่อครบกำหนด 15 ปีแล้วเท่านั้น
เมื่อใดที่มีหุ้นตัวใดมีมูลค่าใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต หุ้นตัวนั้นจะโดนหยุดซื้อชั่วคราวจนกว่าจะไม่เกิน (เอาเงินในเดือนนั้นเฉลี่ยไปซื้อตัวอื่นๆ ที่เหลือแทน) เพื่อลดการผูกพอร์ตไว้กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากไป
หลักการและเหตุผล
ทำไมเลือกหุ้นด้วยการมองการเติบโตในอนาคตเป็นหลัก : เพราะผมได้ตรวจสอบมาแล้วว่าหุ้นเติบโตในตลาดหุ้นไทยเป็นหุ้นที่ถือยาวแล้วได้ผลตอบแทนที่สูงได้จริงๆ และสูงกว่าหุ้นแนวอื่น
มูลค่าตลาดของหุ้นคุณค่าเมื่อถือไว้เฉยๆ 12 ปี  
Value Stock
ปี 1996 ปี 2008
SSC 9,672 2,047
SAUCE 3,312 4,392
EGCO 36,400 36,062
SCC 96,960 123,600
มูลค่าตลาดของหุ้นเติบโตเมื่อถือไว้เฉยๆ 12 ปี
Growth Stock
ปี 1996 ปี 2008
BIGC 7,375 30,656
CPN 8,900 31,157
SEED 570 1,894
PTTEP 114,700 353,858
ปี 1996 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 1200 จุด ส่วนปี 2008 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 400 จุด จะเห็นได้ว่าต่อให้ซื้อหุ้นในปีที่ตลาดหุ้นฟองสบู่ แต่ถ้าถือไว้เป็นระยะเวลาที่นานมากพอ แม้จะขายออกในปีที่มีวิกฤต หุ้นเติบโตก็ยังให้ผลตอบแทนที่งดงามและมากกว่า หุ้นคุณค่า เพราะฉะนั้น หุ้นที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวจึงได้แก่หุ้นเติบโต ไม่ใช่หุ้นคุณค่าหรือหุ้นปันผลอย่างที่เข้าใจกัน ถ้าหากเข้าใจตรงนี้ได้ หุ้นไทยก็สามารถถือยาวได้ครับ ต่อให้เจอวิกฤตก็ไม่น่ากลัว
ส่วนหนึ่ง ที่ผมสร้างพอร์ตนี้ขึ้นมาก็เพื่อ ต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า “หุ้นไทยถือยาวไม่ได้” และ “หุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวคือหุ้นปันผล” ซึ่งผมมองว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ผมเชื่อว่า หุ้นไทยถือยาวได้แต่ต้องถือหุ้นเติบโตเท่านั้น ครับ
ทำไมไม่เลือกหุ้นด้วยพีอีเรโช : ผมไม่เชื่อว่าวิธีอะไรก็ตามที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำแทนได้หมด 100% จะเป็นวิธีที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ ผมเชื่อว่าการลงทุนเป็นศิลปะ ดังนั้นยังไงก็ต้องมีบางส่วนที่เป็น Qualitative อยู่ด้วย และส่วนนี้แหละที่จะทำให้เราเอาชนะตลาดได้ แม้ว่าบางทีเราจะไม่ชอบก็ตาม
ที่จริงผมไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าการเลือกหุ้นโดย ดูจากพีอีต่ำเป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะถ้าราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าเมื่อไร แต่กำไรไม่เพิ่มต่อไปอีก ถือต่อไปก็จะไม่มีประโยชน์อะไร ต่างกับหุ้นของกิจการที่กำไรเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถือไว้นานๆ ย่อมมีประโยชน์ 
ทำไมต้องเป็น established company ด้วย : เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น หุ้นทุกตัวลงแรงเหมือนกันหมด แต่หลังจากนั้น บริษัทที่ไม่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงมากพอจะหายไปเลย ในขณะที่พวก established company ส่วนใหญ่มักจะกลับมาได้ในที่สุด ดังนั้น ในการลงทุนระยะยาว ต้องเลือก established company เพราะ ถึงแม้จะลงหนักเมื่อมีวิกฤตเหมือนกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จะกลับมาเป็นปกติเอง   
ทำไมต้อง 7 ตัว : มีการวิจัยพบว่าการกระจายหุ้นเกิน 15 ตัวขึ้นไป ผลของการลดความเสี่ยงโดยหุ้นตัวที่ 16 เป็นต้นไปแทบจะไม่มีนัยสำคัญเลย ดังนั้นจึงไม่ควรกระจายหุ้นเกิน 15 ตัว ในทางตรงกันข้าม การซื้อหุ้นแค่ 2-3 ตัว จะทำให้มีโอกาสเอาชนะตลาดแบบมากๆ ได้ แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้วิธีการลงทุนนี้จะต้องพึ่งพาฝีมือของผู้ลงทุนอย่าง มากทันที ซึ่งไม่ใช่เป้าหมาย ดังนั้น จำนวนหุ้นกลางๆ น่าจะเหมาะ แต่ไม่มีกฏตายตัวว่าต้องเท่าไรแน่ บังเอิญ 7 อยู่ตรงกลางพอดี และผมชอบเลข 7 เหอๆ การบังคับให้ต้องลงทุนถึง 7 ตัว จะทำให้ average person กับ expert ทำผลงานได้ไม่ต่างกันมากนักโดยอัตโนมัติ ทำให้วิธีนี้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ลงทุนมากจนเกินไป
ดังนั้นในการเลือกหุ้นตามวิธีนี้จึงไม่ต้อง กลัวว่าจะเลือกหุ้นไม่เก่งด้วย เพราะสุดท้ายแล้วผลตอบแทนจะไม่ต่างจากของ expert มากนักอยู่ดี เนื่องจากถูกบังคับให้ลงทุนถึง 7 ตัว แต่ข้อสำคัญคือต้องเลือกโดยพิจารณาจากเกณฑ์ 3 ข้อที่กล่าวไปแล้ว ห้ามเลือกเพราะเหตุผลอย่างอื่น เช่น ปันผลสูง พีอีต่ำ โดยเด็ดขาด
ทำไมต้องทยอยซื้อ ทำไมไม่ลงตูมเดียวไปเลย : Feedback ที่ผมได้รับจากนักลงทุนสมัครเล่นส่วนใหญ่ก็คือเขาบอกว่าการหาว่ามูลค่าที่ เหมาะสมของหุ้นเป็นเท่าไรนั้นเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการลงทุน และยากเกินไปสำหรับ average person ดังนั้นผมจึงออกแบบวิธีนี้ให้ลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนในระยะยาว จะได้ไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวัดมูลค่าหุ้น การลงตูมเดียวไปเลยอาจได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ต้องพึ่งพาความสามารถในการวัดมูลค่าหุ้นเป็นอย่างมาก จึงไม่เหมาะกับ average person ครับ
ทำไมต้อง 15 ปี : ถ้าเป็นยุคบัฟเฟตยังหนุ่ม ผมว่าแค่ 7 ปีก็พอ แต่ผมมองว่าตลาดหุ้นยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะเต็มไปด้วยฟองสบู่ ที่เกิดจากความพยายามบิดเบือนปัจจัยมหภาคของธนาคารกลางต่างๆ  เช่น การตึงค่าเงิน การลดดอกเบี้ยมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งธนาคารกลางมีความสามารถในการบิดเบือนพื้นฐานได้นาน 7-8 ปี เลยทีเดียว ดังนั้นการลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนไม่นานพอจะเสี่ยงต่อวิกฤต การลงทุนติดต่อกันนานถึง 15 ปี จะช่วยทำให้มีการเฉลี่ยต้นทุนครบวัฏจักรอย่างน้อยหนึ่งรอบ จึงเป็นวิธีการลงทุนที่ผลตอบแทนรวมไม่ขึ้นกับวิกฤต (crisis-proof) ข้อดีที่สำคัญอีกอย่างของวิธีการนี้จึงได้แก่ การที่สามารถเริ่มต้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะเกิดวิกฤตเมื่อไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำนายได้ยากมากอีกเรื่องหนึ่ง  
ทำไมต้อง 21000 บาทต่อเดือน : เพื่อประหยัดค่าคอมฯขั้นต่ำเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็น วิธีนี้จะใช้เงินน้อยกว่านี้ก็ได้ เช่น เดือนละ 7000 บาท (ตัวละพัน) ก็พอแล้ว เป็นต้น การเสียค่าคอมขั้นต่ำทุกเดือนเดือนละ 53.5 บาท ในเวลา 15 ปี คุณเสียค่าคอมไปทั้งสิ้นแค่ 9630 บาทเท่านั้น ดังนั้น ถ้าลงทุนไม่ถึง 24000 บาทต่อเดือน จริงๆ แล้วคุณก็ไม่ได้เสียค่าคอมแพงเกินไปเท่าไรนักหรอก
จะสังเกตได้ว่า ผมออกแบบวิธีการนี้ให้พึ่งพาทักษะเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือ ทักษะในการเลือกหุ้น ไม่ต้องใช้ทักษะในการกระจายหุ้น วัดมูลค่าหุ้น หรือ market timing เลย จึงเป็นวิธีที่ง่ายมาก นักลงทุนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดต้องอาศัย market timing เป็นสำคัญ (ซื้อก่อนลง ขายก่อนขึ้น) แต่ถ้าสังเกตดูกองทุนรวมในบ้านเราทุกวันนี้ มี managed fund ที่ไม่จ่ายปันผลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีกองทุนไหนมี NAV สูงเท่ากับ TMBSET50 ได้เลย แสดงว่าที่จริงแล้ว market timing อาจช่วยทำให้ชนะตลาดในระยะสั้นได้บ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว มันคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนแพ้กองทุนที่เลียนแบบดัชนี การที่ผู้ จัดการกองทุนพยายามซื้อๆ ขายๆ จะทำให้พลาดโอกาสสำคัญๆ ในระยะยาวและพ่ายแพ้กองทุนเลียนแบบดัชนีในที่สุด
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การเอาชนะตลาดในระยะยาวต้องอาศัยการ Focus มากกว่า ซึ่งหมายถึง การลงทุนในหุ้นจำนวนน้อยตัวกว่าตลาด โดยคัดเลือกตัวที่คิดว่าน่าจะเติบโตดีกว่าตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นวิธีที่ชนะ ตลาดในระยะยาวได้ง่ายกว่าการพึ่ง Market Timing ครับ
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า วิธีนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะ maximize return แต่เป็นการค้นหาวิธีการลงทุนที่ง่ายที่สุด เฝ้าตลาดน้อยที่สุด แล้วยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นทุนด้วย ตามคอนเซ๊ปต์ให้เงินทำงานให้เรา มิใช่ให้เราทำงานให้เงิน ผลตอบแทนอาจไม่สูงสุด แต่มีเวลาสำหรับด้านอื่นๆ ของชีวิต  
สำหรับหุ้น 7 ตัวแรกที่จะเริ่มลงทุนในวันที่ 25 กันยายน 2552 เป็นต้นไปมีดังนี้ 
หุ้น เหตุผลที่เลือก ณ ขณะนั้น
ADVANC Mobile Lifestyle กำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทยอย่างรวดเร็ว ตัวนี้มีความพร้อมที่สุดในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์
BANPU มีแผนการเติบโตที่เห็นได้ชัดเจน ผู้บริหารมีเป้าหมายยิ่งใหญ่ที่จะเป็นบริษัทที่เติบโตไปเรื่อยๆ
BGH รองรับ aging economy ผู้บริหารมีเป้าหมายที่จะเป็นบริษัทที่เติบโตไปเรื่อยๆ เช่นกัน
CPALL มีแผนขยายสาขาที่ชัดเจน เครือข่ายแข็งแกร่งมาก กำลังเป็นเรือธงลำใหม่ของเจ้าของ
CPN มีแผนขยายสาขาที่ชัดเจน เป็นห้างสามัญประจำบ้านที่จะอยู่คู่คนไทยไปอีกนาน
MINT มีแผนขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ แคร์ความคาดหวังของผู้ถือหุ้น เครือข่ายใหญ่พอที่จะไม่ตายไปง่ายๆ
PS มีจุดแข็งที่ชัดเจนทำให้สามารถเติบโตด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อยๆ แม้ในเวลาที่ตลาดไม่โตก็ตาม
จะเห็นได้ว่าเป็นการมอง Big Picture เป็นหลัก ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ไม่ต้องรู้บัญชีมาก ไม่ต้องกังวลว่าจะมองอนาคตพลาด เพราะต้องมีพลาดบางตัวอย่างแน่นอน แต่เรามีตั้ง 7 ตัว จะไปกลัวอะไร เราต้องการภาพรวมดี ถ้าการลงทุนคือการทำธุรกิจ มีนักธุรกิจคนไหนบ้างที่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะต้องประสบความสำเร็จตอน เริ่มต้นทำธุรกิจครับ อีกอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเจอใครเลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้งเลยครับ (นอกจากคนที่ชอบ claim ว่าตัวเองเลือกถูกแต่ตัวที่ผ่านไปแล้ว แต่พวกนี้พอให้เลือกไปข้างหน้า ไม่เห็นจะเลือกถูกเลย) ที่จริงแล้ว ผมว่าคนที่เก่งมักเป็นคนที่เวลาเลือกผิดแล้ว เขามักขาดทุนไม่มาก เพราะว่าไม่ดันทุรัง ส่วนเวลาเลือกถูกก็กล้า let profit run มากกว่า  
คำเตือน : 7thLTG เป็นเพียงแค่การทดลองที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผล (กว่าจะรู้ผลก็อีก 15ปี) ผมจึงไม่แนะนำให้ทำตามนะครับ ถ้าใครทำตามแล้วเจ็งก็เป็นความผิดพลาดของผู้นั้นเองที่รู้ว่าวิธีการที่ยัง ไม่ได้รับการพิสูจน์แต่นำไปใช้
สถานะของพอร์ต
First Year : 24 Sep 2010 ATC

ประวัติการรับเงินปันผล
ประวัติการขายหุ้น
ผลตอบแทนของ 7LTG
 สิ้นปีที่  1                          
IRR ของปี (%ต่อปี) 72.08%                          
IRR สะสม (%ต่อปี) 72.08%                          

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘