51 VS 19

การเป็นนักลง ทุนนั้นเราจำเป็นต้องวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นรอบตัวที่อาจส่งผลต่อการลงทุนของเราได้   การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เราต้องจับตามอง   เพราะแม้ว่าโดยทั่วไปการเมืองมักจะไม่ช่วยส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น   แต่มันอาจจะทำลายการลงทุนได้   โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เรามีวิกฤติการเมืองที่ร้ายแรง    ที่น่าเศร้าก็คือ   มันเกิดขึ้นพร้อม ๆ  กับวิกฤติเศรษฐกิจ    ในเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจนั้น  ผมได้เขียนเปรียบเทียบกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ไปแล้ว    ตอนนี้เราลองมาเปรียบเทียบวิกฤติการเมืองในขณะนี้กับเหตุวิกฤติที่คล้ายคลึง กันซึ่งผมคิดว่ามันคือวิกฤติการเมืองในช่วง   14  ตุลาคม 2516  ถึง  6 ตุลาคม 2519  ลองมาดูกันว่ามันเหมือนและต่างกันอย่างไร
ผม จะเริ่มจากเหตุการณ์  14 ตุลาคม 2516  ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากทหารโดยการเคลื่อนไหวประท้วงของกลุ่มคน ที่นำโดยนักศึกษาที่เคลื่อนไหวมาก่อนหน้านั้นและได้รับการสนับสนุน อย่างกว้างขวางจากประชาชนทั่วไป   เหตุการณ์   14 ตุลาคม  นั้นผมคิดว่าคล้าย ๆ  กับเหตุการณ์ปฏิวัติของทหารในเดือนกันยายน 2549  ที่มีการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  โดยที่การปฏิวัตินั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประท้วงโดยกลุ่ม “พันธมิตร”  ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง 
หลัง จากการ  “ปฏิวัติประชาชน”  14 ตุลาคม  และมีรัฐบาลใหม่  กลุ่มนักศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลไม่ได้หยุดการประท้วง หรือชุมนุมแต่การประท้วงกลับเข้มข้นขึ้น  มีการจัดการและการ  “ให้ความรู้”  กระจายไปทั่วประเทศอย่างกว้างขวางโดยกลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดเห็น  “รุนแรง”  ต้องการเห็น  “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”  ขจัดความชั่วร้ายในสังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบ  ต้องการสร้าง  “ สังคมใหม่”   ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบอย่างไร    แนวความคิดของกลุ่มนักศึกษานั้น  ถ้าพูดในภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น  “ฝ่ายซ้าย” ที่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าตามแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนราก หญ้า   ซึ่งทั้งหมดก็สอดคล้องกับลักษณะของสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มที่เป็นนักศึกษา ที่มีอายุน้อย
หลัง จากเหตุการณ์ปฏิวัติกันยายน 2549  และมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง  กลุ่มพันธมิตรไม่ได้หยุดประท้วงหรือชุมนุมแต่การประท้วงกลับเข้มข้นขึ้น   มีการจัดการและการ  “ให้ความรู้”  กระจายไปทั่วประเทศผ่านสื่อทันสมัยทุกรูปแบบรวมถึงทีวี  โดยกลุ่มคนที่มีความคิดเห็น  “รุนแรง”  ต้องการขจัด  “ความชั่วร้ายของนักการเมือง” ที่มาจากประชาชนส่วนใหญ่   ต้องการสร้าง “การเมืองใหม่” ซึ่งก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบและที่มาได้อย่างไร   แนวความคิดของกลุ่มนั้น   ถ้าพูดในภาษาวิชาการเรียกว่าเป็น  “ฝ่ายขวา” หรือ  “จารีตนิยม”  ไม่ต้องการให้ประเทศเดินตามแนวทางสากลที่  “ไม่สอดคล้องกับสังคมไทย”  ซึ่งก็สอดคล้องกับลักษณะของสมาชิกจำนวนมากของกลุ่มที่มีอายุค่อนข้างสูง
จาก การเคลื่อนไหวที่รุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลานานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม  ก็เกิดกลุ่มประชาชนโดยการสนับสนุนของฝ่ายรัฐ  ออกมาต่อต้าน    มีการเผยแพร่และชี้ให้เห็นถึงความ   “เลวร้ายและความเสียหาย”  ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายว่าจะนำประเทศไปสู่หายนะโดยผ่านสื่อ อย่างกว้างขวาง    เช่นเดียวกัน  ในปี 2551 ก็เกิดกลุ่มที่ออกมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรโดยน่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เช่นเดียวกัน  และมีการเผยแพร่    “ความเลวร้ายและความเสียหาย”  ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มพันธมิตรว่าจะนำประเทศไปสู่หายนะโดยผ่านสื่ออย่างกว้าง ขวาง
ใน ช่วงหลังจาก 14 ตุลา 16 ถึง  6 ตุลา 19  ประชาชนมีความแตกแยกทางความคิดสูงมาก  แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันก็ยังมีปัญหา   มีการทำร้ายกันและมีคนตายเป็นระยะ ๆ  และมีการกล่าวหากันทั้งสองฝ่าย   คนจำนวนมากห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์นองเลือดรุนแรงและอาจถึงกับทำให้ประเทศ  “ล่มสลาย”   บางคนคิดถึงเรื่องการเตรียม  หนีออกจากประเทศถ้าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น
ณ. วันนี้  ในปี 2551  นี้  ประชาชนแตกแยกกันสูงมากไม่ต่างกับช่วง ตุลา 16 - ตุลา 19   คนในบ้านเดียวกันที่มีความคิดเห็นต่างกันก็มีให้เห็นจำนวนมากไม่ต้องพูดถึง เพื่อนฝูงหรือคนรู้จัก   การทำร้ายกันถึงแก่ชีวิตก็เกิดขึ้นเป็นระยะเช่นเดียวกันและต่างก็กล่าวหากัน ตลอดเวลา   คนจำนวนมากห่วงว่าเหตุการณ์นองเลือดจะเกิดขึ้นและอาจทำให้ประเทศ “ล่มสลาย”  บางคนคิดในใจว่าถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นเขาจะอยู่ที่ไหน
วัน ที่ 6 ตุลาคม 19  เหตุการณ์  “สงครามกลางเมือง” ก็เกิดขึ้นระหว่างประชาชนสองฝ่าย   การปฏิวัติเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งและบ้านเมืองเข้าสู่  “ยุคมืด”  ที่ประชาชนไม่มีสิทธิทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบสากล  แต่หลังจากนั้นไม่นาน  บ้านเมืองก็กลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งและต่อมาจนถึงขณะนี้แม้ว่าจะมีการ สะดุดบ้างเล็ก ๆ  น้อยเป็นระยะ
ในวันนี้  เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตรายมาก   โดยเฉพาะถ้ามองจากประวัติศาสตร์
เรา กำลังเสี่ยงที่บ้านเมืองอาจจะต้องกลับไปสู่  “ยุคมืด”  ในยุคที่โลกก้าวไปข้างหน้ามากมายเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว    ความเสี่ยงที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ  ถ้าเราเข้าสู่  “ยุคมืด” จริง  เราจะสามารถออกไปได้เร็วแค่ไหน  หรือออกไม่ได้เลย 
ผม เขียนมาทั้งหมดนี้   อาจจะทำให้นักลงทุนหลายคนตกใจกลัวและคิดว่าเราควรจะลดความเสี่ยงโดยการขาย หุ้นทิ้งให้หมด    แต่ผมเองนั้น   ไม่ได้ขายหุ้นเลย   เหตุผลก็คือ  หุ้นมันได้ลงมาเยอะมากแล้ว    ถ้าขายตอนนี้ก็จะขาดทุนมาก   นอกจากนั้น   สิ่งที่เรากลัวอาจจะไม่เกิดขึ้น   โอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจจะไม่มากอย่างที่เรากลัว    นอกจากนั้น  ถ้ามันเกิดจริง   หุ้นก็อาจจะไม่ตกลงไปอีกก็ได้เพราะคนอาจคิดว่าเรื่องต่าง  ๆ  ที่เลวร้ายจะได้จบลงเสียที    แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ   ผมคิดว่า   คนไทยผ่านชีวิตที่มีอิสรภาพมาพอสมควรที่จะไม่ยอมสละสิ่งนั้นไปไม่ว่าจะต้อง แลกด้วยอะไร   และโลกสมัยใหม่นั้น   ไม่น่าจะมีประเทศที่มีระดับการพัฒนาเท่าประเทศไทยสามารถที่จะอยู่ใน  “ยุคมืด” ได้   ดังนั้น   ถ้าผมถือหุ้นที่ดีแล้ว   ผมก็จะยังถือมันต่อไป  Stay Calm, Stay Invest.

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘