ทฤษฎีเกมส์ ตอนที่ 5

มีตัวอย่างการทดลองนึงของ หลักสูตร xMBA ของ ดร. เรวัต ตันตยานนท์
น่าสนใจดีค่ะ อ่านแล้วเห็นตามเค้าบอกจริงๆ ว่า ความยุติธรรมไม่มีในโลก
เกม อาจไม่ได้แข่งเพื่อการเอาชนะโดยให้อีกฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับ
แต่ เกม เป็นการเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราแล้วเท่านั้น


เค้าทำการทดลองโดยใช้หนูค่ะ....

จับหนูตัวใหญ่อุ้ยอ้าย กับหนูตัวเล็กคล่องแคล่วมาอยู่ด้วยกัน
มีคานกระเดื่องห่างออกไประยะนึง ถ้ากดคานกระเดื่อง
จะมีอาหารตกลงมา 6 เม็ด ในจุดที่หนูทั้งสองยืนอยู่ตอนต้น

- หากหนูทั้งสองวิ่งไปที่คานกระเดื่องพร้อมกัน
หนูตัวเล็กจะวิ่งกลับมากินอาหารที่ตกลงมาได้ 2 เม็ด ก่อนที่หนูตัวใหญ่จะวิ่งมาถึง
และกินอาหาร 4 เม็ดที่เหลือ

- หากหนูตัวใหญ่วิ่งไปที่คานกระเดื่อง
หนูตัวเล็กจะกินอาหารที่ตกลงมาได้ 5 เม็ด ก่อนที่หนูตัวใหญ่จะวิ่งกลับมาถึง
และกินอาหาร 1 เม็ดที่เหลือ

- หากหนูตัวเล็กวิ่งไปที่คานกระเดื่อง
หนูตัวใหญ่จะกินอาหารที่ตกลงมาคนเดียวทั้ง 6 เม็ด

- หากไม่มีใครวิ่งไปที่คานกระเดื่อง..... ก็จะอดทั้งคู่ (ฮ่าๆๆ)

ทีนี้การวิ่งไปวิ่งมาก็ต้องมีค่าน้ำมัน (ต้นทุนค่าเหนื่อย)
สมมุติให้ตีราคาค่าวิ่งเป็นต้นทุนอาหารครึ่งเม็ด

ถ้าเราเป็นเจ้าตัวใหญ่ ก็คงสับสนล่ะค่ะว่าเอาไงดี อิอิอิ

เจ้าหนูตัวใหญ่มันคิดแบบนี้ค่ะ

สมมุติว่าเจ้าตัวเล็กเป็นคนกด
- ถ้าตรูกดด้วย จะได้กิน 3.5 เม็ด ถ้าไม่กดจะได้ 6 เม็ด (โอ้วว ตรูไม่กดดีกว่า)

สมมุติว่าตัวเล็กไม่กด
- ถ้าตรูกดจะได้ 0.5 เม็ด ถ้าไม่กดก็อดกิน (ถ้าเป็นงี้ ไปกดก็ได้อะ)

มาดูฝั่งเจ้าตัวเล็กกันบ้าง

สมมุติหนูตัวใหญ่กด
- ถ้าเจ้าหนูตัวเล็กกด จะได้ 1.5 เม็ด ถ้าไม่กด จะได้ 5 เม็ด (เพราะงั้น ไม่กดดีกว่า)
สมมุติหนูตัวใหญ่ไม่ไปกด
- ถ้าตัวเล็กกด จะได้ -0.5 เม็ด ถ้าไม่กดจะได้ 0 เม็ด (ไม่กดดีกว่าเช่นกัน)

สรุปเจ้าตัวเล็กอ่านเกมแล้ว ไม่ว่าตัวใหญ่จะกดหรือไม่ มันก็ต้องไม่กด
จึงจะได้ประโยชน์ที่สุด ฟันธง!!!

แต่เสียดายมันไม่รู้จักทฤษฎีเกม
มันเลยไม่สามารถวิเคราะห์ได้ แรกๆ ก็กดกันบ้างไม่กดกันบ้าง งมกันไป
จนเมื่อเจ้าตัวเล็กเรียนรู้ได้เองว่า ไม่ว่าเจ้าตัวใหญ่จะกดรึเปล่า
มันอยู่เฉยๆ จะได้ประโยชน์กว่าวิ่งไปกดด้วยเสมอ
เพราะฉนั้น ไม่ว่ายังไง เจ้าหนูตัวเล็กก็จะอยู่เฉยๆ เรื่อยไป (อยู่เฉยๆ สบายกว่า)
(ตรงนี้ตามหลักทฤษฎีเกม เรียกว่า เป็น "กลยุทธ์เด่น" ของเจ้าหนูตัวเล็ก)

เมื่อโลกไม่แตก หนูตัวเล็กก็ไม่กด
เจ้าตัวใหญ่จึงเหลือทางเลือกแค่เพียง "ตรูไปกดซะเอง"
เพราะได้ครึ่งเม็ดก็ยังดีกว่าอดตายอยู่แล้ว ฮ่าๆๆ
(ตรงนี้แหละที่เรียกว่าเป็นจุด Nash Equilibrium - จุดสมดุลของแนช
คือจุดที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับตัวเองแล้ว
แม้ว่าเจ้าตัวใหญ่จะจำใจก็เหอะ อิอิ)
เป็นตัวอย่างของการรักษาผลประโยชน์ ซึ่งต่างโดยสิ้นเชิงกับการเอาชนะ

จากการทดลองยังมีการอ้างด้วยว่า
หลังจากกดเพียงไม่กี่ครั้ง เจ้าตัวใหญ่ก็เป็นคนวิ่งไปกดอาหาร
ให้หนูตัวเล็กนอนรอสบายใจเฉิบทุกทีไป


จริงๆ ก็น่าอิจฉาหนู.... ที่มันไม่ต้องคิดว่าความยุติธรรมคืออะไร
สบายใจและยอมรับกับสภาพที่มันรับรู้ได้เท่านั้น
ไม่ต้องทะเลาะตบตี เรียกร้องหาความยุติธรรมเหมือนคนเรา
เพราะหลายครั้งก็ต่างคนต่างเหตุผล ต่างมาตรฐาน
แต่แม้ว่าโลกนี้จะไม่ยุติธรรมเอาซะเลย
ทฤษฎีเกม ก็ช่วยให้เรารู้เท่าทันไว้บ้าง
ช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบกันได้ไม่น้อย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘