กลไกสู่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตอนที่ 4: ความล้มเหลวของระบบการเงินสหรัฐฯ



รูปข้างบนเป็นผลของ “ตลาดทุนเสรี” ที่เกริ่นไปคร่าวๆในตอนที่แล้ว…


ระหว่างปี 2003-2007 อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุน (Leverage Ratios) ของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ เลย์แมน บราเธอร์ส, แบร์ สเติรนส์ (ทั้ง 2 ล้มละลายไปแล้ว), เมอร์ริล ลินช์ (ปัจจุบันถูก แบงค์ออฟอเมริกา เทคโอเวอร์ ไปแล้ว), โกล์ดแมน แซคส์ และ มอร์แกน สแตนลีย์ (2 แห่งหลังรอดมาได้ แต่ก็ต้องเพิ่มทุนกันชนิดหืดขึ้นคอ)

จากระดับที่สูงอยู่แล้วราวๆ 15-27 เท่า อัตราส่วนดังกล่าวไต่ขึ้นไปถึงระดับ 25-32 เท่า… ถ้าเป็นธนาคารบ้านเราคงขาดความน่าเชื่อถือจนไม่มีใครทำธุรกรรมด้วยแล้ว ก็เล่นมีหนี้สินเป็นจำนวนถึง 20-30 เท่าของเงินทุนที่มีอยู่จริงขนาดนั้น! แต่นี่เป็นถึงสถาบันการเงินชั้นแนวหน้าระดับโลกที่ว่ากันว่ามีระบบควบคุม ความเสี่ยงขั้นเทพ จำนวนหนี้แค่นี้ บริหารได้สบายาก

แล้วทำไมต้องสร้างหนี้ให้สูงถึงขนาดนั้นด้วย ? ไม่ใช่ว่าฐานเงินทุนต่ำนะครับ บริษัทระดับนี้มีทุนขั้นต่ำอยู่ในระดับ 2-3 ล้านล้านบาทกันทั้งนั้น ใช่แล้วครับ “ล้านล้านบาท” (ถ้าจะให้เห็นภาพก็คือประมาณ 2 เท่าของงบที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์จะใช้ลงทุนให้กับประเทศไทยตั้งแต่ปี 2010-2015!)

นั่นก็เพราะสิ่งที่มากับ “ตลาดทุนเสรี” นอกจากสภาพคล่องทางการเงินที่ท่วมท้นตลาดแล้วยังมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ อีกนับพันๆหมื่นๆชนิดที่เรียกรวมๆ กันว่า Structured Products ด้วยความที่เจ้าสินค้าตัวนี้มีความยืดหยุุ่นสูง (ผู้ลงทุนสามารถออกแบบผลตอบแทนและความเสี่ยงได้ตามต้องการ) เป็นที่ต้องการของนักลงทุนในวงกว้างทั้งสถาบันและรายย่อยในเวลาอันรวดเร็ว จนนำไปสู่ตลาดการเงินที่ทั้งใหม่แล้วก็ใหญ่  สถาบันการเงินต่างๆจึงถูกดึงดูดให้ออกตราสารตัวนี้ชนิดมือเป็นระวิง


การออกตราสารการเงินแบบใหม่นี้เองเป็นที่มาของการเพิ่มภาระหนี้เข้ามาในงบดุลของบริษัทการเงินสหรัฐฯอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม  การออก Structured Products ในแต่ละครั้งบริษัทผู้ออกจะต้องคอยบริหารความเสี่ยงจากรูปแบบผลตอบแทนที่มักมีมากกว่าหนึ่งกลไกตลาดเข้ามากระทบในเวลาเดียวกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดพลาดในการบริหารความเสี่ยงขึ้น…


และแล้วการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาดก็มาเกิดกับ Structured Products ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Collateral Debt Obligation (CDO) ซึ่งเป็นตราสารประเภท Mortgage Backed Securities ที่สถาบันยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นผู้ออกไปให้กับผู้ลงทุนทั่วโลก เมื่อเกิดปัญหาซับไพร์มในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซึ่งเป็นตลาดที่ตราสารเหล่านี้ผูกอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่) ตั้งแต่กลางปี 2007 ผู้ลงทุนก็เลยแห่นำตราสาร CDO มาขายคืนเป็นจำนวนมหาศาล* มากเกินกว่าที่ระบบควบคุมความเสี่ยงขั้นเทพจะคาดการณ์ถึง จนงบดุลของแต่ละบริษัทรับไม่ไหวเพราะแต่ละคนก็มีอัตราส่วนหนี้ต่อทุนในระดับสุดโต่งกันทั้งนั้น


ในที่สุดก็เกิดความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดในระบบการเงินสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งสำคัญที่สุดตั้งแต่ปี 1930


*ยังมีตราสาร Structured Products ชนิดอื่นๆ รวมถึง Hedge Funds ที่มีผลต่อการล้มเหลวของระบบการเงิน แต่ CDO เป็นตราสารที่มีการพูดถึงกันบ่อยที่สุด จริงๆแล้วความล้มเหลวของระบบการเงินที่ว่านั้นพาดพิงไปถึงประเทศต่างๆในทวีป ยุโรปอีกด้วย ทั้งนี้ก็เป็นผลพวงของแนวคิดตลาดทุนเสรีอีกแหละครับที่ทำให้ตลาดการเงินฝั่ง ตะวันตกเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘