ของขึ้น2

ในช่วงที่ สินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปทั้งหลายมีการปรับ ราคาขึ้นไปมากอย่างในปัจจุบันนั้น    บริษัทที่มีสต็อกสินค้าเหล่านั้นมากเช่นผู้ขายสินค้าโภคภัณฑ์มักจะมีกำไรจาก สต็อกสินค้าหรือ  Inventory Gain  และมักทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นและราคาหุ้นเพิ่มขึ้น    ในทางตรงกันข้าม   ผู้ที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิตกลับประสบปัญหาในการทำ กำไรเพราะต้นทุนในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น   ในขณะที่สินค้าสำเร็จรูปที่ขายอาจจะไม่สามารถปรับราคาได้ทัน   มาดูกันว่าผู้ผลิตประเภทไหนที่มักจะ  “เจ็บตัว”  จากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตนใช้เป็นวัตถุดิบปรับตัวขึ้นมาก
กลุ่ม แรกที่เห็นชัดเจนมากในภาวะที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมหาศาลก็คือ  ผู้ที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนสูง   ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ  สายการบินและสายการเดินเรือที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันเองในการรับขนสินค้า   ประเด็นก็คือ  สายการบินหรือบริษัทเดินเรือเหล่านั้นมัก “ขายตั๋ว”  ล่วงหน้าในราคาที่อิงกับค่าน้ำมันราคาเดิม   พอถึงเวลาบินจริงบริษัทต้องเติมน้ำมันในราคาใหม่ที่แพงขึ้น   ผลก็คือ  บริษัทมีกำไรน้อยลงหรือถ้าเลวร้ายมากก็อาจจะขาดทุนได้เพราะน้ำมันเป็นต้นทุน หลักของกิจการ
ใน กรณีที่คล้ายคลึงกันก็คือ   ราคาค่าพลังงานซึ่งก็อาจจะรวมถึงราคาน้ำมันด้วยมีราคาเพิ่มขึ้นมาก   ผู้ผลิตทางอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมากในการผลิตเช่นธุรกิจปูนซีเมนต์ก็อาจจะ ประสบปัญหาด้านต้นทุนเช่นกัน    เพราะในขณะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากแต่ราคาขายสินค้าอาจจะไม่สามารถปรับขึ้นได้ มากเพราะปริมาณการใช้ปูนอาจจะไม่เพิ่มขึ้นเลยและมีการแข่งขันในอุตสาหกรรม สูงทำให้ไม่สามารถปรับราคาปูนได้มากเท่ากับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้   ผลก็คือ  ธุรกิจมีกำไรลดลงและส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มมักจะปรับตัวลดลง
จาก พลังงานเช่นน้ำมันหรือถ่านหิน   ลองมาดูด้านของโลหะเช่นเหล็กบ้าง   เมื่อเหล็กขึ้นราคา   คนที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบมากแต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าของตนเองได้ก็มักจะ เจ็บตัว   ที่เห็นชัดที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ  ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มักจะต้องใช้เหล็กเป็นโครงสร้างมาก   งานรับเหมานั้นจะต้องกำหนดราคาที่รับงานก่อนล่วงหน้าเป็นปี ๆ  ซึ่งผู้รับเหมาก็จะอิงจากต้นทุนราคาเหล็กเดิม    เมื่อถึงเวลาก่อสร้าง   ต้นทุนเหล็กเพิ่มขึ้นมาก   โครงการที่คิดว่าจะทำกำไรก็อาจจะกลายเป็นขาดทุน   ดังนั้น  ราคาหุ้นในกลุ่มรับเหมาในยามที่เหล็กขึ้นราคาไปมากนั้นมักจะไม่สดใส    ถึงแม้ว่าในบางโครงการที่เป็นงานหลวงบริษัทจะมีสิทธิปรับราคาโครงการตามราคา เหล็กที่เพิ่มขึ้นได้   แต่โดยทั่วไป   เวลาวัสดุก่อสร้างเช่นเหล็กและปูนขึ้นราคาไปเร็วและมาก   ผู้รับเหมาก็จะเหนื่อยเป็นพิเศษ   และผู้รับเหมารายย่อยที่มีสายป่านทางการเงินสั้นก็มักจะต้องล้มละลายกันไป เป็นจำนวนมาก
หัน มาดูโภคภัณฑ์อ่อนหรือ  Soft Commodity  เช่นสินค้าทางการเกษตรทั้งหลายที่มีราคาปรับขึ้นตามราคาน้ำมันกันบ้าง     ยางพาราเป็นสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก   ผู้ผลิตที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบเช่นผู้ผลิตยางรถยนต์และชิ้นส่วนยางใน อุตสาหกรรมต่าง ๆ   มักจะประสบปัญหาในการทำกำไร    เหตุผลก็คือ   ราคาสินค้าสำเร็จรูปอาจจะไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้ทัน   เพราะผู้ผลิตเหล่านั้นมักจะเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางหรือชิ้นส่วนให้กับผู้ ผลิตสินค้าสำเร็จรูปอีกต่อหนึ่งเช่นผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิตรถยนต์    ในกระบวนการกำหนดราคาซื้อสินค้านั้น   ผู้ผลิตสุดท้ายซึ่งมักจะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่มักจะมีอำนาจต่อรองสูง    ดังนั้น   ราคาสินค้าที่กำหนดจึงมักจะปรับได้ช้าในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวขึ้นไป ก่อน   ผลก็คือ  ส่วนต่างกำไรของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนน้อยลง   ราคาหุ้นโดยเฉพาะในช่วงที่ราคายางกำลังเป็นขาขึ้นอย่างแรงของบริษัทเหล่า นั้นจึงมักจะไม่ไปไหน
ราคา ของธัญญาหารเช่นข้าวโพดและถั่วเหลืองปรับตัวขึ้นไปมากซึ่งเป็นผลจากการที่มี การนำโภคภัณฑ์เหล่านั้นไปผลิตเอทธานอลในอเมริกา    โภคภัณฑ์เหล่านั้นเป็นวัตถุดิบที่ต้องใช้มากในการเลี้ยงสัตว์เช่นไก่และ หมู    เวลาอาหารสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้น  ผู้ผลิตไก่มักจะลำบากเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากในขณะที่ราคาไก่มักจะไม่ ได้ปรับตัวขึ้นไปหรือปรับตัวน้อยเพราะความต้องการการบริโภคยังคงเท่าเดิม   ปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีก   เพราะว่าเมื่อไก่มีอายุครบเจ้าของจะต้องจับขายมิฉะนั้นผู้ผลิตจะต้องป้อน อาหารที่มีราคาแพงให้กับไก่ต่อ    แต่น้ำหนักตัวไก่ที่เพิ่มขึ้นจะน้อยกว่าปกติเพราะไก่โตเกือบเต็มที่แล้ว   แรงกดดันที่แต่ละเล้าจะต้องรีบขายไก่ยิ่งทำให้ราคาไก่ลดลงไปอีก   ผลก็คือ   ในช่วงที่ราคาอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นรุนแรง   บริษัทที่เลี้ยงสัตว์ก็จะมีกำไรน้อยลงเช่นเดียวกับราคาหุ้นที่มักจะซบเซาลง

ผม คงไม่สามารถคุยได้หมด   นักลงทุนที่สนใจลงทุนในยามที่ของขึ้นมาก ๆ  จะต้องวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ  ที่จะเกิดกับบริษัทว่าจะเป็นบวกหรือลบ    ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ  ผลกระทบระยะยาวหรือระยะกลางกับระยะสั้น    ทั้งหมดที่ผมพูดก็คือ   มันมักจะเป็นผลระยะสั้น   ในกรณีที่ผลกระทบเป็นลบอย่างที่เล่ามาทั้งหมดนี้    แน่นอน   ใน  “รอบแรก”  เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ลงทุน   อย่างไรก็ตาม   เราจะต้องติดตามดูต่อไป   เพราะเมื่อผลกระทบออกมาแล้วนั่นคือราคาหุ้นตกลงมาแล้ว   ถ้าราคาโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบกลับตัวมีราคาลดลงหรือราคานิ่งแล้วและสินค้า สำเร็จรูปมีราคาเพิ่มขึ้นหรือบริษัทสามารถปรับราคาสินค้าสำเร็จรูปแล้ว   กำไรของบริษัทก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม    ดังนั้น  ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นที่ตกลงมามาก    เราก็อาจจะสามารถทำกำไรได้มากเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนทิศ  และกำไรของบริษัทกำลังจะกลับมาดีขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็จะเข้าสูตรของการลงทุนทุกอย่างที่ว่า   ในวิกฤติอาจจะมีโอกาสทองรออยู่

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘