0103: Contrarian Investing

ในตลาดหุ้นมีแนวการลงทุน 2 แนวที่ไปคนทาง คือ แนวโมเมนตัม (Momentum Investing) กับ แนวคอนทราเรียน (Contrarian Investing)
แนว momentum อาศัยข้อสังเกตที่ว่า เวลาหุ้นจะขึ้น 100% นั้น หุ้นจะไม่ขึ้นวันเดียว 100% แต่จะขึ้น วันละ 5% บ้าง 10% บ้าง สลับกับปรับฐานบ้าง จนกว่าจะไปถึง 100% คล้ายกับว่า ราคาหุ้นมีความเฉื่อยแบบมวลสาร ดังนั้น ถ้าอยู่ดีๆ หุ้นขึ้นไป 5% ก็อาจจะยังซื้อได้อยู่ เพราะอาจจะยังมีโมเมนตัมเหลืออยู่ คนที่เล่นแนวนี้จะเล่นตามตลาด คือ เห็นหุ้นขึ้น ก็ยิ่งซื้อเพิ่ม อาจเรียกว่าเป็นพวก "ชาวไร่" (ไล่ราคา) ก็ได้
ส่วน แนว contrarian จะคิดตรงข้าม กล่าวคือ ถ้าหุ้นตกมากๆ แสดงว่า ตลาดเกิดความ "กลัว" ขึ้น ดังนั้นหุ้นน่าจะทำให้หุ้นมีราคาถูก คนที่เล่นแนวนี้จะชอบเข้าไปซื้อหุ้นที่ตกสวนกระแสตลาด อาจเรียกว่าเป็นพวก "ชาวสวน" ก็ได้ 
ผม เห็นนักลงทุนมือใหม่มักชอบเป็น contrarian ในขณะที่ พวก momentum มักเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์มาก เพราะ momentum เล่นยาก เนื่องจาก ครั้งที่กำไรจะมีน้อยกว่าครั้งที่ขาดทุน แต่เวลาได้กำไรที จะได้เยอะมาก คนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ จะเล่นแบบนี้ไม่ได้
เวลา เป็น contrarian นั้น ต้องมีเชิงด้วย ไม่ใช่เห็นหุ้นตกก็วิ่งเข้าไปรับเลย บอกว่าตลาดตกใจแล้ว ส่วนใหญ่แล้ว เวลาหุ้นตกใหม่ๆ จะมีคนอยากเป็น contrarian เยอะมาก ทำให้ contrarian เป็นกลยุทธ์ใช้ไม่ได้ผล เพราะถ้าคนส่วใหญ่เป็น contrarian การเป็น contrarian จะกลายเป็นการทำตามตลาดไปซะงั้น แต่เมื่อหุ้นตกต่อไปเรื่อยๆ contrarian จะเริ่มลดจำนวนลง สักพักหนึ่งจะแทบไม่เหลือใครที่อยากเป็น contrarian แล้ว เวลาเช่นนี้ต่างหากที่ควรควักกลยุทธ์แบบ contrarian มาใช้ ห้ามใช้พร่ำเพรื่อ กลยุทธ์ใดๆ ย่อมใช้ไม่ได้ผล ถ้าหากมีคนใช้กลยุทธ์นั้นอยู่ในตลาดมากเกินไป 
Sir John Templeton ปรมาจารย์แห่ง contrarian (contrarian ตัวพ่อ) บอกว่า นักลงทุนควรจะเป็น contrarian ก็ต่อเมื่อตลาดมองโลกแง่ร้ายขั้น "สุดขีด" แล้วเท่านั้น (maximum pessimism) ในรอบหลายๆ ปี Templeton จึงจะเข้าไปเก็บของถูกสักครั้ง นี่เรียกว่ารอให้ contrarian ตายหมดแล้วจริงๆ ท่านจึงค่อยลุกขึ้นมาเป็น contrarian
โดย ส่วนตัว ผมไม่ชอบแนว contrarian เท่าไร (พอๆ กับที่ไม่ชอบแนว momentum ด้วย) ผมคิดว่าเราควรมีความคิดที่เป็นอิสระจากตลาดมากกว่าซึ่งไม่ใช่การ เป็น contrarian เพราะ contrarian เห็นว่าตลาดเป็นอย่างไร ก็ทำตรงข้าม จึงเป็นการขึ้นกับตลาดรูปแบบหนึ่ง การคิดอย่างเป็นอิสระจริงๆ หมายความว่า ในบางครั้งเราก็อาจเห็นด้วยกับตลาด ในบางครั้งเราก็เห็นแย้งกับตลาด ขึ้นอยู่กับข้อมูลและเหตุผลมากกว่า

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘