0085: นักธุรกิจ - นักลงทุน

ว่ากันว่านักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานคือคนที่มองการลงทุนใน หุ้นเหมือนเป็นการลงทุนในธุรกิจ แต่เท่าที่ผมได้สัมผัสมา ผมว่านักลงทุนกับนักธุรกิจจริงๆ นั้นมีวิธีคิดบางอย่างที่ไม่เหมือนกันด้วย
นักลงทุนเชื่อมั่นในพลังมหัศจรรย์ของการทบต้น การทบต้นต้องอาศัย "ความนาน"ถึงจะสร้างความมหัศจรรย์ออกมาได้ พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการถือหุ้นให้นานและมากที่สุด มีเงินเท่าไรก็จะพยายามรีบใส่เข้าไปในตลาดหุ้น ถ้าได้เงินปันผลมาก็จะรีบใส่กลับลงไปใหม่ เพื่อให้เม็ดเงินและระยะเวลาที่ลงทุนตลอดชีวิตมีค่ามากที่สุดเท่าที่จะมาก ได้ พลังแห่งการทบต้นจะได้แสดงศักยภาพของมันออกมาอย่างเต็มที่ ในขณะที่ นักธุรกิจจะชอบลงทุนเมื่อมองเห็นโอกาสเท่านั้น ไม่คิดว่าจะต้องรีบลงทุนให้มากที่สุด ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วไม่ดี นักธุรกิจจะชะลอการลงทุน นักธุรกิจหลายคนยังชอบมีสภาพคล่องส่วนหนึ่งเหลือไว้เสมอเพื่อรอสินทรัพย์ใน ราคาถูกในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเพราะจะเป็นโอกาสเดียวที่จะได้ซื้อของที่ดี มากๆ ในราคาถูกๆ
ตลาดหุ้นคือสถานที่ซึ่งนัก ธุรกิจนำธุรกิจของตนมาขายให้นักลงทุน เป็นที่ทราบๆ กันอยู่แล้วว่า ก่อนที่หุ้นจะเข้าตลาดต้องมีการ "แต่งตัว" ให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ (การแต่งตัวไม่ใช่เรื่องผิดถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฏหมาย) นักธุรกิจจะ "เบ่ง" กำไรของบริษัทให้พองโตที่สุด 2-3 ไตรมาสก่อนเข้าตลาดเพื่อให้จะขายหุ้นจองได้ในราคาที่สูงที่สุด โครงการใน อนาคตอะไรที่น่าจะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ในอีกหลายๆ ปีข้างหน้าก็ต้องรีบเอามาทำก่อนเข้าตลาดเพื่อโชว์กำไร ถ้ายังไม่มีทุนสำหรับ ทำโครงการเหล่านั้นก็จะกู้เงินระยะสั้นจำนวนมากลงทุนก่อน พอเข้าตลาดได้แล้วค่อยนำเงินเพิ่มทุนที่ได้มาชำระหนี้คืน ก็จะทำให้ขายบริษัทได้ในราคาที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับการขายหุ้นก่อนแล้วค่อย เอาทุนนั้นไปขยายงานทีหลัง หรือถ้าธุรกิจที่ไม่มีทางโตได้อีกแล้วจริงๆ ก็ต้องเร่งให้ลูกค้าเจ้าเก่าให้ช่วยกันซื้อสินค้าไปตุนไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ ยอดขายไตรมาสสุดท้ายก่อนเข้าตลาดดูดีเป็นพิเศษ (ลูกค้าเหล่านั้นอาจได้รับ จัดสรรหุ้นจองในราคาพิเศษเป็นการตอบแทนในฐานะผู้มีอุปการะคุณ) เรื่องพวกนี้ว่าไม่ได้ เพราะใครๆ ก็ย่อมอยากขายธุรกิจที่ตนสร้างมากับมือให้ได้ราคาสูงที่สุด จะเห็นได้ว่า นักธุรกิจจะพยายามขายทิ้งธุรกิจที่โตถึงขีดสุดแล้ว ส่วนธุรกิจที่ยังโตได้อีกจะยังถือไว้เองเพื่อปั้นให้โตจนเต็มที่สุดแล้วค่อยนำไป cash out ในตลาด ในขณะที่ นักลงทุนมักอยากซื้อธุรกิจที่ mature แล้ว เพราะมองว่ามีความมั่นคง เป็น cash cow จ่ายเงินปันผลได้มากและสม่ำเสมอ ธุรกิจที่ยังอยู่ในช่วงขยายตัวหรือ Star นั้นกลับเป็นธุรกิจที่นักลงทุนมักไม่ค่อยสนใจเพราะมองว่าเสี่ยงสูง จ่ายปันผลได้น้อย 
ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจกับนัก ลงทุนจึงเป็นคู่ซื้อคู่ขายที่ลงตัว เพราะ คนหนึ่งต้องการ cash out ธุรกิจที่อิ่มตัวแล้ว เพื่อเอาสภาพคล่องไปปั้นธุรกิจอื่นที่ยังโตได้อีก ส่วนอีกคนหนึ่งก็ต้องการ ซื้อธุรกิจที่อิ่มตัว ตลาดหุ้นบ้านเราก็เลยเต็มไปด้วยนักธุรกิจที่เอาธุรกิจที่อิ่มตัวแล้วมาขาย เป็นส่วนมาก ตลาดหุ้นไทยจึงไม่ได้ทำหน้าที่ของมันในการระดมทุนเพื่อไปขยาย กิจการแต่เป็นที่ Exit ให้นักธุรกิจมากกว่า ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการของนักลงทุนส่วนใหญ่เอง ผมมีความใฝ่ ฝันว่า สักวันหนึ่ง นักลงทุนไทยจะเลิกรีดเงินปันผลจากบริษัทแล้วหันมากดดันบริษัทเรื่องการสร้าง กำไรให้เติบโตแทนแบบนักลงทุนในประเทศทุนนิยม เมื่อนั่นตลาดหุ้นไทยจะได้ทำหน้าที่ที่แท้จริงของมันเสียที คือการเร่งให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนใหม่ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับประเทศชาติ 
วิธีคิดของนักลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ผมมองว่าประหลาดคือ นักลงทุนซื้อหุ้นแล้วชอบมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของบริษัท ในขณะที่ ปกติแล้ว นักธุรกิจจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของก็ต่อเมื่อตนเองได้ถือหุ้นเสียงข้างมากเท่านั้น เพราะ การถือหุ้นใหญ่จะทำให้ตัวเองมีอำนาจควบคุมบริษัทได้ นักธุรกิจมักไม่ค่อยมี commitment กับบริษัทที่ตนเองถือหุ้นส่วนน้อยเพราะมองว่าตนเองอาจถูกผู้ถือหุ้นใหญ่เอา เปรียบได้ง่ายเนื่องจากไม่มีอำนาจควบคุม โหวตมักแพ้ ในขณะที่นักลงทุนในตลาดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (ส่วนน้อยมาก) กลับรู้สึกชอบที่จะพูมฟักความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับตัวเองทั้งที่ตัวเองก็ ไม่มี control อะไรเลย ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่นิสัยไม่ดีจะเอาเปรียบเมื่อไรก็ทำได้ไม่ยาก โดยส่วนตัว แล้ว ผมชอบแนวคิดของเบนจามิน แกรม มากกว่าที่ว่า เวลาซื้อหุ้นให้คิดให้เหมือนกำลังซื้อธุรกิจ ส่วนแนวคิดที่ว่าเวลาซื้อหุ้น ให้รู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นเจ้าของนั้นผมกลับไม่ชอบเท่าไร เพราะทำให้เราเกิดความลำเอียงเพราะหลงรักได้ง่าย เวลาใครมาด่าว่าบริษัท แทนที่เราจะรับฟัง เราก็จะโกรธ เพราะเรารู้สึกว่าเขามาด่าของๆ เรา
ผมเป็นลูกพ่อค้าครับ ผมจึงชอบวิธีคิดแบบนักธุรกิจมากกว่าวิธีคิดแบบนักลงทุน สรุปแล้วมุมมองของผมจึงต่างจากนักลงทุนทั่วไปดังนี้
1. ธุรกิจแกร่งอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องขยายงานได้ด้วย เราควรถือหุ้นตราบเท่าที่บริษัทยังมีโอกาสขยายงานได้อยู่ ถ้าธุรกิจอยู่ตัวเมื่อไร ก็ควรขายหุ้นทิ้งเพื่อนำไปลงทุนในบริษัทอื่นที่ยังมีโอกาสขยายงานอยู่
2. จงมองการซื้อหุ้นให้เป็นการซื้อธุรกิจก็พอแต่ไม่ต้องสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ เพราะจะทำให้เราเกิดความลำเอียงได้
3. ลงทุนมากน้อยตามแต่ปริมาณและคุณภาพของโอกาสที่มองเห็นอยู่ มีเงินสดสำรองไว้บ้างเสมอสำหรับโอกาสที่ไม่คาดฝัน
นอกเหนือจาก 3 ข้อนี้แล้ว ผมก็คิดอะไรอย่างอื่นๆ คล้ายกับนักลงทุนนั้นแหละครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘