0084: Asset Allocation

การ เป็นนักลงทุนมีเรื่องที่ต้องคิดอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือการเลือกหุ้น (Stock Selection) และอย่างที่สองคือการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) หนังสือการลงทุนบางเล่มถึงกับบอกว่า การจัดสรรเงินลงทุนนั้นสำคัญกว่าการเลือกหุ้นเสียอีก
การ จัดสรรเงินลงทุนคือ การตัดสินใจว่าควรจะลงทุนในสินทรัพย์แต่ละกลุ่ม ได้แก่ เงินสด ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ ในสัดส่วนเท่าไรจากความมั่งคั่งทั้งหมดที่เรามีอยู่ ถ้าเปิดหนังสือการลงทุนดูจะพบว่าเขาแนะนำให้พิจารณาจากอายุของเราเป็นหลัก คนที่อายุยังน้อยอยู่เช่น 20 ปี ควรลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เช่น สัก 80% เมื่ออายุมากขึ้นก็ค่อยๆ ลดการลงทุนในหุ้นลง แล้วเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยลง เช่น ตราสารหนี้ เช่น พออายุถึง 40 ปี อาจลดหุ้นลงเหลือแค่ 50% ที่เหลือเป็นตราสารหนี้ พอเข้าสู่วัยเกษียณ 60 ปี ก็อาจเหลือหุ้นแค่ 20% เท่านั้น ที่เหลือถือเป็นเงินสด เป็นต้น แนวคิดนี้ยืนอยู่บนหลักการที่ว่า หุ้นเป็นหลักทรัพย์มีความผันผวนสูงมากในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุด ดังนั้นเมื่อยังมีระยะเวลาลงทุนเหลืออีกมากก็ควรลงทุนในหุ้นเป็นหลัก เพราะถ้าซื้อหุ้นแล้วหุ้นลงแรงก็ไม่ต้องกลัวเพราะยังมีเวลารอให้หุ้นกลับ ขึ้นมาใหม่ได้อีกหลายปี แต่เมื่อใกล้เกษียณแล้วก็ควรหันไปหาสินทรัพย์ที่มี ความผันผวนน้อยลง เมื่อต้องใช้เงินจะได้ไม่มีปัญหา หลักการนี้นับว่าสมเหตุสมผลอยู่
อย่าง ไรก็ตาม สิ่งที่หนังสือการลงทุนไม่ได้บอกเราด้วยก็คือว่า หลักการนี้เหมาะสำหรับการลงทุนแบบ Passive เท่านั้น การลงทุนแบบ Passive หมายความว่า เราเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพดังนั้นหุ้นจึงมีราคาที่เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ซื้อหุ้นเมื่อไรก็ได้ที่มีเงิน ไม่จำเป็นต้องรอจังหวะให้หุ้นถูกก่อนค่อยซื้อ ฉะนั้นการตัดสินใจจึงมาอยู่ที่การจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับอายุเป็น หลัก ที่จริงแล้วการลงทุนแบบ Passive เป็นวิธีที่ดีมาก เพราะการชนะตลาดในช่วงหนึ่งปีเป็นเรื่องไม่ยากนัก แต่การชนะตลาดในยาวมากๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก การลงทุนในกองทุนดัชนีแบบ Passive จึงนับว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนอย่างหนึ่งที่ดีมาก แต่ปัญหาก็คือว่า ในความเป็นจริง แทบไม่มีนักลงทุนคนไหนสามารถลงทุนแบบ Passive วิธีลงทุนแบบนี้เหมาะสำหรับหุ่นยนต์ นักลงทุนส่วนมากเชื่อว่าตัวเอง ชนะตลาดได้ด้วยการเลือกหุ้นและชอบที่จะอยู่ใกล้ชิดตลาดทำให้นักลงทุนมักลง ทุนในหุ้นแต่ละตัวเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่งไม่ใช่ทยอยซื้อสะสมทางเดียวตลอด ชีวิต     
ในเมื่อแทบไม่มีใครลงทุนแบบ Passive วิธีจัดสรรเงินลงทุนแบบที่ตำราแนะนำจึงกลายเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับนักลงทุน ทั่วๆ ไป แม้ว่ามันจะเป็นหลักการที่ดีก็ตาม
การ ที่คุณไม่ได้ลงทุนแบบ Passive แปลว่าคุณเชื่อว่าในบางเวลาหุ้นมีราคาถูกเกินไปและในบางเวลาหุ้นมีราคาแพง เกินไป ดังนั้นถ้าคุณจัดสรรเงินลงทุนตามอายุเป็นหลักจะเกิดเป้าหมายที่ขัดแย้งกัน ทันที เพราะทางหนึ่งคุณอาจจะยังไม่อยากซื้อหุ้นเพราะคิดว่าหุ้นยังแพงอยู่ แต่อีกทางหนึ่งคุณต้องซื้อหุ้นแล้วเพราะคุณมีรายได้ก้อนใหม่เข้ามาทำให้สัด ส่วนหุ้นของคุณลดลง คุณจึงต้องซื้อหุ้นเพิ่ม เพื่อรักษาสัดส่วนไว้ให้คงเดิมตามอายุของคุณ คุณจึงมีเป้าหมายสองอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ
ใน ความคิดของผม ถ้าเราไม่ใช่นักลงทุนแบบ Passive เราจำเป็นต้องละทิ้งเป้าหมายการจัดสรรเงินลงทุนตามอายุไปเลย เราต้องให้ความสำคัญเรื่องความถูกความแพงของหุ้นเหนือเป้าหมายอื่นใด เช่น ถึงแม้คุณจะอายุ 20 ปี แต่ถ้าคุณคิดว่าตลาดหุ้นกำลังอยู่ในภาวะฟองสบู่สุดขีด คุณก็ควรไม่ควรจะซื้อ หุ้นอะไรเลยเพียงเพราะว่าจะต้องมีหุ้นให้ได้ 80% ของพอร์ต หุ้นในตลาดจะถูกหรือแพงเมื่อใดนั้น นักลงทุนไม่สามารถสั่งได้ ถ้าเราต้องคอยรักษาสัดส่วนของพอร์ตให้ได้ตามเป้าตลอดเวลาก็เท่ากับเป็นการ บีบให้ตัวเองซื้อหุ้นในเวลาที่ไม่สมควร ฉะนั้นแล้วเราจึงจำเป็นต้องทิ้งเป้า หมายเรื่องการจัดสรรเงินลงทุนไปเลย เพื่อป้องกันมิให้ซื้อหุ้นแพง 
โดย ส่วนตัว ผมไม่ได้จัดสรรเงินลงทุนตามอายุ แต่ผมจะมองเรื่องการ limit exposure มากกว่า กล่าวคือ ผมจะไม่ทุ่มเงินให้กับโอกาสใดๆ มากเกิน limit ที่ได้ตั้งเอาไว้ล่วงหน้า เช่น 30% ของพอร์ต (สมมติ) เป็นต้น ถ้าเราพบโอกาส เราอาจจะลงทุนกับโอกาสนั้นสัก 15% ก่อน ถ้าโชคร้ายราคาหุ้นลงและผมเห็นว่ายังคงเป็นโอกาสที่น่าสนใจอยู่เหมือนเดิม ผมก็อาจจะซื้อเพิ่มจนกลายเป็น 30% ของพอร์ต แต่ถ้าซื้อแล้วราคาหุ้นยังลงต่อไปอีก ผมจะบอกตัวเองให้ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองแล้วไม่ซื้อเพิ่มอีก (เพราะเกิน exposure limit ไปแล้ว) การทำอย่างนี้เป็นการป้องกันอาการ overconfidence ของเราเอง หลายคนที่หมดตัวในตลาดหุ้นมักหมดตัว เพราะซื้อเฉลี่ยลงไปเรื่อยๆ กับโอกาสที่ตนเองมั่นใจสุดๆ โดยไม่ยอมรับความจริงว่า ตลาดไม่ได้ไร้เหตุผลเสมอไป บางครั้ง (บ่อยครั้ง) ตลาดหุ้นมีเหตุผลแต่เราเองต่างหากที่ไม่รู้ สุดท้ายแล้ว เงินทั้งหมดของเราก็ต้องจมปรักอยู่ในหุ้นตัวนั้น (เจ๊งนั่นเอง) แต่ถ้าเรามีการตั้ง exposure limit เอาไว้เสมอในทุกๆ โอกาสที่เข้ามา เราจะไม่มีวันหมดตัว การจัดสรรเงินลงทุน ของผมเป็นวิธีง่ายๆ แค่นี้ ไม่เกี่ยวกับอายุเลยครับ 
เวลา ที่ผมบอกว่านักลงทุนควรลงทุนในหุ้นสัก 5 ตัว ผมไม่ได้หมายความว่า ต้องแบ่งเงินที่มีอยู่ทั้งหมดออกเป็น 5 ส่วน แล้วซื้อหุ้นให้ครบ 5 ตัวให้ได้ ถ้าไปตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนตัวอย่างนั้น เราจะเผลอซื้อหุ้นบางตัวในราคาแพงๆ เพราะต้องการแค่ให้ได้มีหุ้นครบ 5 ตัว  ที่จริงแล้ว การลงทุนในหุ้น 5 ตัว หมายความว่าควร limit exposure ของหุ้นแต่ละตัวไว้ที่ประมาณ 20% ของพอร์ต ถ้าตลาดหุ้นกำลังฟองสบู่ เราอาจค้นพบหุ้นที่มีน่าลงทุนแค่ 1-2 ตัว อย่างนี้ เราก็ควรซื้อแค่ 1-2 ตัวตัวละไม่เกิน 20% ของพอร์ตก็พอ ส่วนที่เหลือเก็บเป็นเงินสดไว้ก่อน แต่ถ้าเราเห็นว่ามีหุ้นราคาถูกอยู่เต็ม ตลาดไปหมด เราก็สามารถซื้อหุ้น 5 ตัว ตัวละ 20% ได้ สรุปแล้วก็คือ ความถูก/แพงของหุ้นต้องมาก่อน เรื่องอื่นตามมาที่หลัง ถ้าหุ้นแพงอยู่ก็อย่าซื้อเป็นอันขาด สัดส่วนของพอร์ตจะดูไม่สวยก็ไม่เป็นไร   

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘