0049: ความน่าเชื่อถือของบริษัท (ต่อ)

การประเมินความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้น ผมไม่สนใจว่า จริงๆ แล้ว บริษัทจริงใจกับผู้ถือหุ้นรายย่อยมากแค่ไหน เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก ผมจะถือว่าบริษัทมีความน่าเชื่อถือก็ต่อเมื่อมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผลประโยชน์ของผู้ถือใหญ่กับบริษัทไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า เพราะถ้าการทำให้บริษัทดีทำให้เจ้าของได้ประโยชน์มีกว่าเสียประโยชน์ เจ้าของก็ย่อมอยากทำให้บริษัทดีเอง ผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ดีไปด้วยโดยอัตโนมัติ สัญญาณที่น่าจะนำมาใช้พิจารณาได้มีดังนี้
1. ธุรกิจของบริษัทกำไรดีแค่ไหน? หรือเป็นแค่ธุรกิจที่ใครก็ทำได้ ถ้าธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจที่ผูกขาดหรือมีกำไรที่เกินธรรมดา เจ้าของย่อม มีแรงจูงใจที่จะรักษาธุรกิจนี้ให้ดีที่สุด คนมีของดีๆ อยู่แล้ว ย่อมไม่ชักใบให้เรือเสีย แรงจูงใจที่จะไปหากำไรส่วนตัวด้วยการหลอกเงินผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้นจะน้อยลง ไปเองโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มีกฏเหล็กว่าจะเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจที่พื้นฐานดีเท่านั้น จะยิงทีเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะได้ธุรกิจที่ดีแล้ว ยังได้เรื่องความน่าเชื่อถือพ่วงมาอีกด้วย
2. ธุรกิจต้องพึ่งผู้บริหารมากแค่ไหน? ถ้าเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งบารมีส่วนตัวหรือความสามารถส่วนตัวของผู้บริหาร มากๆ โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมคือ ผู้บริหารควรถือหุ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มิฉะนั้นแล้ว ผู้บริหารอาจเกิดแรงจูงใจที่ไม่ดีได้ เพราะรู้สึกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยกำลังกินแรง  ดังนั้นถ้าเจอบริษัทแบบนี้แต่ผู้บริหารถือหุ้นแค่นิดเดียว ผมจะรู้สึกไม่ไว้วางใจ บริษัทที่ผู้บริหารจะถือหุ้นส่วนน้อยได้แล้วต้องเป็น บริษัทที่พัฒนาไปถึงขั้นที่เดินไปได้ด้วยระบบของมันเองแล้ว
3. ธุรกิจยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากตลาดทุนหรือตลาดตราสารหนี้ในอนาคตอยู่หรือ ไม่? บริษัทที่ยังต้องหวังพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดอีกในอนาคตย่อมต้องง้อตลาด ทำให้ยังหักหลังผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ได้ ผมสังเกตว่ามี บมจ.ที่ธุรกิจอิ่มตัวเต็มที่แล้วแต่ยังคงอยู่ในตลาดหลายตัวที่ไม่ค่อยสนใจ ผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่าไร บริษัทพวกนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากตลาดหุ้นอีกต่อไป เลย เลยไม่ค่อยจะเห็นหัวผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่าที่ควร การเปิดเผยข้อมูลจะน้อย ถือหุ้นพวกนี้แล้วเหมือนถือกล่องดำ ในทางตรงกันข้าม กลุ่มทุนกลุ่มใหญ่บางกลุ่มที่มีการพึ่งพาตลาดทุนเป็นประจำจนมีบริษัทในเครือ มากมายที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดโดยที่หลายตัวยังเป็นตัวที่ต้องพึ่งพาเงินจาก ตลาดหุ้นอีกมากในอนาคต บริษัทในกลุ่มนี้จะไม่กล้าหักหลังผู้ถือหุ้นรายย่อย เท่าไร เพราะจะส่งผลเสียต่อบริษัทในเครือตัวอื่นที่ต้องระดมทุนอีกในอนาคต (เหมือนมีตัวประกัน) แบบนี้ผมสบายใจ  
4. ธุรกิจของบริษัทเป็นธุรกิจที่โปร่งใสไม่ได้อยู่แล้วโดยธรรมชาติหรือเปล่า? ธุรกิจบางประเภท ถ้าโปร่งใสทุกอย่างจะสู้คู่แข่งขันไม่ได้เลย เช่น ธุรกิจที่ประมูลงานภาครัฐบางประเภท แบบนี้ต่อให้เจ้าของจะมีใจอยากซื่อสัตย์กับผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ไม่อาจทำ บัญชีให้ที่ถูกต้องจริงๆ ให้ดูได้ เพราะธุรกิจจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ลงบัญชีให้เห็นไม่ได้ เวลาจัดทำงบการเงิน ก็เลยต้องโยกรายได้บางส่วนออกไปเพื่อหักล้างกัน งบการเงินจึงเชื่อถือไม่ได้ แบบนี้ผมคงต้องขอผ่านครับ
5. เจ้าของทำธุรกิจอย่างอื่นนอกตลาดมากน้อยแค่ไหน ลองพิจารณาดูว่า เจ้าของเลือกบริษัทเป็น "เรือธง" ในการสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง หรือว่ามองว่าบริษัทเป็นแค่ตัวสำรองหรือตัวประกอบของอาณาจักรทั้งหมดของตน เองเท่านั้น ถ้าเจ้าของมีของเล่นแค่ชิ้นเดียว ผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างเราก็ย่อมอุ่นใจมากกว่า
แต่ ละข้อที่กล่าวมาเป็นแค่หลักฐานประกอบนะครับ ถ้ายิ่งโอเคหลายข้อก็ยิ่งเป็นสัญญาณที่ดี ลองพิจารณาหุ้นที่คุณถืออยู่นะครับว่าโอเคสักกี่ข้อ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘