0046: Holistic Judgment

รถยนต์เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีปัจจัยที่ ต้องคำนึงถึงหลายด้าน เช่น ประเภทของเครื่องยนต์  อัตราเร่ง การกินน้ำมัน ช่วงล่าง ระบบเบรก ความทนทาน การออกแบบภายนอก การระบายความร้อน ความสวยงาม ความปลอดภัย ราคา การบริการหลังการขาย เป็นต้น การตัดสินว่ารถคันไหนดีกว่าคันไหนโดยคำนึงปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถตีให้อยู่ในสเกลเดียวกันแล้วเปรียบเทียบออกมาเป็น คะแนนรวมว่ารถคันไหนดีกว่าคันไหน 
การตัดสินใจ ในลักษณะนี้ต้องอาศัยทักษะในการให้น้ำหนักความสำคัญของแต่ละปัจจัยได้อย่าง เหมาะสม ผมว่าการจะฟันธงว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีนั้นก็มีลักษณะเช่นนี้ มีปัจจัยหลายอย่างมากเหลือเกินที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับบริษัท ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มอุตสาหกรรม ผลกระทบของเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน โอกาสเติบโต ความสามารถและความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร วิสัยทัศน์ขององค์กร กลยุทธ์การแข่งขัน ประสิทธิภาพขององค์กร ราคาหุ้น ฯลฯ  
ผมสังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่แยกความแตกต่างระหว่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จกับนักลงทุนทั่วไปคือ ความสามารถในการให้น้ำหนักความสำคัญกับด้านต่างๆ ของบริษัทได้อย่างเหมาะสม คือรู้ว่าอะไรบ้างที่เป็นประเด็นสำคัญของธุรกิจนั้นที่จะต้องให้ความสำคัญ เป็นพิเศษ อะไรบ้างมีความสำคัญค่อนข้างน้อย นักลงทุนสองคนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของบริษัทได้เท่ากัน คนที่มีความสามารถในการจับประเด็นสำคัญของธุรกิจนั้นได้ดีกว่าจะมีโอกาสที่ จะประสบความสำเร็จมากกว่า
นักลงทุนที่ตัดสินใจได้ดีมักเข้าใจว่าอะไรคือ Key success factor ของธุรกิจนั้นบ้างแล้วพยายามให้น้ำหนักกับประเด็นนั้นมากๆ ตัวอย่างเช่น ความเก่งของผู้บริหารอาจสำคัญมากในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงๆ แต่ไม่สำคัญเท่าไรในธุรกิจที่มีลักษณะผูกขาดอยู่แล้ว ธุรกิจผูกขาดควรมองไปที่แนวโน้มอุปสงค์มากกว่า เป็นต้น การให้ความสำคัญกับทุกประเด็นเท่ากันไปหมดนอกจากจะทำให้สับสนแล้วยังได้ผล สรุปที่ไม่ค่อยดีด้วย
เวลาที่มนุษย์ต้องตัดสิน อะไรที่มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงหลายๆ แง่มุม มนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำให้ง่ายเข้าด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่งแค่ปัจจัยเดียวและละทิ้งปัจจัยอื่นๆ ไปโดยไม่รู้ตัว ถ้าปัจจัยที่สนใจอยู่นั้นไม่ดีเพียงปัจจัยเดียว ก็จะตัดสินไปเลยว่าสิ่งนั้นไม่ดีโดยไม่มองปัจจัยอื่นประกอบอีกเลย นัก จิตวิทยาเรียกความลำเอียงประเภทนี้ว่า Sacrificing Bias กระบวนการตัดสินใจแบบนี้จะอันตรายมากถ้าหากปัจจัยที่เราเลือกมาตัดสินภาพรวมนั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญ แต่เราไม่รู้ตัว
มี นักลงทุนหลายคนมักตัดสินใจว่าหุ้นตัวหนึ่งไม่ดีไปเลยจากปัจจัยเพียงแค่ ปัจจัยเดียวซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จโดยรวมของบริษัทน้อยมาก เช่น ไปเดินดูสาขาหนึ่งแล้วเห็นว่าคนน้อยทั้งที่บริษัทนั้นมีสาขาทั้งหมดสองร้อย สาขา หรือได้ยินลูกค้าของบริษัทบ่นแค่หนึ่งคน หรือเห็นสายธุรกิจหนึ่งของบริษัทขาดทุนแต่สายธุรกิจนั้นมีสัดส่วนรายได้แค่ เพียงสิบเปอร์เซนต์ของรายได้รวมของบริษัท หรือไม่ชอบโฆษณาทีวีอันล่าสุดของ บริษัท หรือ ไม่ชอบที่ IR คนปัจจุบันของบริษัทเป็นคนไม่นอบน้อมกับนักลงทุนรายย่อย หรือกรรมการผู้จัดการมีโหวงเฮ้งที่ไม่ถูกใจ เป็นต้น ข้อเสียเหล่านี้แม้บางทีจะเป็นข้อเสียที่ร้ายแรงทำให้รู้สึกว่ามัน สำคัญ แต่เนื่องจากมันมีน้ำหนักต่อความสำเร็จโดยรวมของบริษัทค่อนข้างน้อยโดยตัว ของมันเอง จึงไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เราตัดสินว่าบริษัทนั้นไม่ น่าลงทุน

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘