0016: ข้อเสียของความวิตกกังวล

ช่วง ปี 2002-2003 เป็นช่วงที่ผมไปเรียนเอ็มบีเอที่สหรัฐฯ มี Professor ท่านหนึ่งบังคับให้นักเรียนต้องอ่าน Wall Street Journal ทุกวัน เพราะเธอจะเอาข่าวในนั้นมาตั้ง Quiz ทุกชั่วโมงเรียน ทำให้ผมเริ่มติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจนกลายเป็นนิสัย ถึงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำ Quiz แล้วก็ยังสนใจอยู่แม้จะไม่เข้มข้นมากเหมือนตอนที่เรียนอยู่ก็ตาม
ช่วง ปี 2002 ตลาดหุ้นสหรัฐยังอยู่ในภาวะหมีซึ่งเป็นผลมาจากฟองสบู่ของตลาดหุ้น NASDAQ ที่แตกในเดือนมีนาคม 2001 ช่วงนั้นดัชนีดาวน์โจนส์ลงแทบทุกวัน แบบลงวันเดียว 200-300 จุดช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ธรรมดามาก ไม่ว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีข่าวอะไร ออกมาไม่ว่าดีหรือร้ายก็ดูเหมือนจะไม่มีผลอะไรทั้งสิ้น ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างเดียว การที่หุ้นเป็นขาลงกว่า 20 เดือนติดต่อกันนั้นได้ทำร้ายจิตใจนักลงทุนเป็นอย่างมากจนทำให้มีนักลงทุน เริ่มล้างพอร์ตออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ยังทนได้อยู่ก็จะเล่นแบบสั้นมากคือเก็งกำไร Technical Rebound แค่ 2-3% แล้วรีบ take profit ทันที เพราะถือหุ้นเอาไว้นานก็ไม่มีประโยชน์เพราะแนวโน้มเป็นขาลงอย่างเดียวคล้ายๆ กับว่าไม่มีก้นเหว 
พอมาปี 2003 ดอกเบี้ยนโยบายถูกลดลงจนเหลือต่ำกว่า 2% ตลาดวิตกกังวลว่า Fed กำลังจะหมดเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เริ่มมีการพูดกันหนาหูว่าสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแบบ ญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะดูเหมือนเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ด้วย ตลาดเริ่มกังวลกันว่าถ้าหากสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดจริงๆ เศรษฐกิจของสหรัฐอาจถดถอยต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบปีแบบเดียวกับที่เกิดขึ้น กับญี่ปุ่นมาแล้วในภาวะเงินฝืด แต่หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมา เงินเฟ้อก็ผงกหัวขึ้น ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องเงินฝืดไป
เงิน เฟ้อที่ผงกหัวขึ้นนั้นไม่ได้มาเฉยๆ มันมาพร้อมกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ราคาน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นจากที่เคยอยู่แถว 20 กว่าเหรียญมานานเกือบสิบปีกลายเป็น 40 กว่าเหรียญ ตลาดเริ่มวิตกกังวลว่า น้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นขนาดนี้จะทำให้เศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่พังไปเลยหรือไม่ ตอนนั้นความกังวลของตลาดเริ่มเปลี่ยนจากภาวะเงินฝืดไปเป็นภาวะเงินเฟ้อ
ปี 2004 ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง Fed จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันเงินเฟ้อไว้ก่อน ดอกเบี้ยขึ้นเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น ตลาดมองว่าถ้าขึ้นดอกเบี้ยมากๆ จะกระทบสภาพคล่องของนักลงทุนอาจทำให้ตลาดหุ้น crash อย่างรุนแรงได้ เพราะพวก Hedge Fund กู้เงินมาลงทุนเป็นหลัก ถ้าดอกเบี้ยสูงจะต้องแย่กันขายหุ้นออกเพื่อใช้หนี้  ช่วงนั้นตลาดจะอ่อนไหวกับดอกเบี้ยนโยบายมาก ใกล้ประชุม Fed ทีไร ตลาดจะตกหนักทุกที อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาญทางเศรษฐกิจหลายตัวที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเริ่มฟื้น ตัว แต่ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะกังวลเรื่องสภาพคล่องมากกว่า อัตราว่างงานลดลงแต่หุ้นกลับปรับตัวลงเพราะตลาดกลัวว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะ ไปทำให้ Fed ยิ่งต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นไปอีก
ปี ต่อมาผลของสงครามอิรักก็เริ่มทำให้ตลาดเริ่มวิตกกังวลว่า สงครามจะทำให้เศรษฐกิจที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวมีปัญหา เพราะรัฐบาลต้องใช้จ่ายทางทหารมาก รัฐบาลสหรัฐทำงบประมาณแบบขาดดุลมหาศาล จนทำให้เกิดภาวะขาดดุลแฝด คือขาดดุลการค้าซึ่งเป็นมานานแล้วและขาดดุลงบประมาณในเวลาเดียวกัน ตอนนี้เริ่มมีคนพูดถึงว่ากำลังจะเกิดวิกฤตรอบใหม่ เพราะประเทศไม่สามารถทนการขาดดุลแฝดได้นานๆ
ปลาย ปี 2006 เริ่มมีข่าวเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐที่เริ่มลดต่ำลงเนื่องจาก เกิดฟองสบู่ในตลาดบ้านซึ่งเกิดจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในช่วงที่ ผ่านมาได้ไปทำให้คนกู้เงินซื้อบ้านมากเกินไปจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่ ตลาด เชื่อว่าฟองสบู่บ้านที่แตกนี้จะทำให้คนมีเงินจับจ่ายน้อยลงจึงน่าจะลุกลามไป ยัง Sector อื่นและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด...
อ่อ เล่ามาเสียตั้งยาว ผมลืมบอกอะไรท่านผู้อ่านไปอย่างหนึ่ง ในช่วงตลอด 5 ปีที่ผมเล่ามานี้ ดัชนีดาวน์โจนส์เริ่มปรับตัวขึ้นจาก 7800 จุดในปี 2002 มารู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่ระดับ 14000 แล้วเมื่อไม่นานมานี้ นับว่าเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์...

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘