Wednesday, May 30, 2007 เหตุผลในการขายหุ้น

ที่ผ่านมาเราก็พูดกันถึงการเลือกหุ้นมา เยอะแล้ว .. วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องของการขายหุ้นกันบ้าง .. ถ้าเป็น vi อยู่แล้ว ผมว่าหลายๆคนก็น่าจะเคยได้ยินเหตุผลในการขายหุ้นของ vi ซึ่งก็จะออกมาไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

1. ขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นเกินมูลค่า - ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่ราคาวิ่งขึ้นไปมากๆ จนเกินมูลค่าที่เราคิดไว้ในใจผมก็อาจจะขายหุ้นออกมาได้ เพราะปรัชญาการลงทุนแบบ vi จะมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ในระยะยาว ราคาหุ้นจะเดินหน้าเข้าสู่มูลค่าที่เหมาะสมของมัน ดังนั้นถ้าราคาหุ้นมันวิ่งเกินมูลค่าไป ระยะยาวราคามันก็ต้องลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ..... แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการขายหุ้นก็นี้ก็มีเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาไว้ดีๆ .. ก็คือ ถ้าหุ้นที่เราถืออยู่นั้นมีอนาคตดีมากๆ เป็นหุ้นเกรด A หรือเป็นหุ้น super stock การที่ราคาหุ้นวิ่งเกินมูลค่าไปบ้าง การขายหุ้นทิ้งก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักก็ได้ .. เพราะหุ้นที่ดีมากๆ บางครั้งก็หาไม่ได้ง่ายๆ

สมมติว่าเราคิดไว้แล้วว่าหุ้นตัวนี้มี มูลค่าประมาณ 10 บาท แล้วสมมติราคามันพุ่งไป 11 บาท บางครั้งผมก็ไม่อยากขายเหมือนกัน เพราะในเมื่อมันเป็นหุ้นที่อนาคตดีมากๆ กำไรมีการเติบโตค่อนข้างสูง ในอนาคตมูลค่าของหุ้นมันอาจจะเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ .. การขายหุ้นทิ้งไปที่ 11 บาท อาจจะทำให้เราเสียโอกาสในการถือหุ้นดีๆในระยะยาวได้ อย่าง warren buffet เองก็น่าจะใช้หลักการนี้เหมือนกัน คือหุ้นที่แกคิดว่าดีมากๆ ในระยะยาว ราคาจะขึ้นลงแค่ไหนแกก็ไม่ยอมขาย

เพราะฉะนั้นวิธีที่ผมใช้ในการ ประเมินมูลค่าหุ้นที่ยังไม่เคยพูดถึงใน Blog นี้ ก็คือการประเมินออกมาเป็นช่วง ... ยกตัวอย่างให้เห็นชัด เช่น หุ้น snc ในปีนี้ผมคาดว่า eps ของเค้าจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 บาทต่อหุ้น และให้ pe ไว้ประมาณ 9 เท่า .. ดังนั้นราคาเหมาะสมก็น่าจะอยู่ที่ 9.9 แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็คิดว่าถ้าหุ้น snc วิ่งเกิน 10 ขึ้นไป ผมเองก็คงจะยังไม่ขาย เพราะเชื่อว่าในปีหน้าและปีต่อๆไป snc ก็น่าจะทำ eps ได้สูงขึ้นกว่าในปีนี้อีกได้มาก ... สำหรับหุ้น snc ผมให้ช่วง pe ที่เหมาะสมประมาณ 9-12 เท่า (ดูจากการเติบโตในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง) ตัวเลข 9 เท่า ผมจะใช้เป็นจุดกำหนดในการเข้าซื้อ คือถ้าราคาหุ้นยังต่ำกว่า 9 เท่า โอกาสที่ราคาหุ้นจะขึ้นได้อีกก็มีสูง ... แต่เมื่อผมซื้อหุ้นเข้ามาแล้ว ผมจะยังไม่ตัดสินใจขายหุ้นจนกว่าหุ้นจะมี pe เกิน 12 เท่า ...

โดยสรุป pe ช่วงล่างผมใช้เป็นจุดเข้าซื้อ ในขณะที่ pe ช่วงบนผมใช้เป็นจุดขายหุ้น ...... หุ้นที่ดีมากๆ pe บนของผมก็อาจจะกว้างหน่อย เช่น 9-12 เท่า แต่พวกหุ้นตีหัวเข้าบ้านที่ไม่ใช่หุ้นคุณภาพดีเท่าไหร่ pe บนของผมก็จะแคบๆ เช่น 7-8 เท่า

2. ขายเมื่อเจอหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่า - หลายๆครั้งผมก็จำเป็นต้องขายหุ้นที่ผมถือไว้อยู่แม้ราคาหุ้นจะยังไม่ถึงเป้า หมาย เมื่อเจอหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่า ทั้งนี้เพราะปกติผมมักจะถือหุ้นเต็ม port อยู่ประจำ เงินสดที่มีอยู่ก็กันเอาไว้ใช้จ่ายประจำทั่วไป ถ้าอยากได้หุ้นตัวใหม่ ก็ต้องขายตัวเก่าทิ้ง ... โดยการตัดสินใจทั่วไปก็จะใช้ % upside ของหุ้นเปรียบเทียบกันในการตัดสินใจ เช่นหุ้นเดิมราคา 10 บาท เป้าหมายอยู่ที่ 12 บาท % upside 20% ในขณะที่หุ้นตัวใหม่ราคา 10 บาท แต่เป้าหมายอยู่ที่ 14 บาท ซึ่งมี % upside อยู่ 40% แบบนี้ผมก็จะขายหุ้นตัวเก่าทิ้ง เพราะเชื่อว่าการถือหุ้นตัวใหม่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ... แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเปลี่ยนตัวนั้นผมจะต้องมีความมั่นใจพอสมควร ว่าตัวใหม่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าได้ เพราะปกติแล้ว หุ้นที่เราถืออยู่มานาน ศึกษามานาน เราจะมีความเข้าใจตัวธุรกิจที่มากกว่าหุ้นตัวใหม่ที่อาจจะมีการคาดการณ์ผิด พลาดได้มากกว่า

3. ขายหุ้นเมื่อรู้ตัวว่าตัวเองคิดผิด - ไม่ใช่ทุกครั้งที่ผมจะเลือกหุ้นได้ถูกต้องเสมอไป มีที่คาดการณ์ผิดก็เยอะ เราอาจจะคิดว่าหุ้นดี กำไรดี ราคาไม่แพง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเรามีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะเพิ่งมารู้ตัวทีหลังว่าหุ้นที่คิดว่าดีนั้นไม่ได้ดีอย่างที่คิด ... กรณีนี้ผมก็จะขายหุ้นทิ้ง โดยที่ไม่ค่อยเกี่ยงราคาเท่าไหร่ เพราะการถือหุ้นที่คุณภาพต่ำนั้นมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก

แต่ข้อ ยกเว้นก็ยังพอมีอยู่บ้าง สำหรับเหตุผลข้อนี้ .. เช่นมีหุ้นอยู่ตัวหนึ่งผมคิดไว้แล้วว่า eps น่าจะได้ซัก 2 บาท แต่ผลที่ออกมากลับได้ eps แค่ 1.6 บาท .... ถ้าตราบใดที่ธุรกิจยังดูดีมีอนาคตอยู่ และราคาหุ้นเทียบกับ eps 1.6 บาทยังไม่แพง ผมก็อาจจะไม่ขายหุ้นทิ้งก็ได้

vi ส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักก็จะมีเหตุผลในการขายหุ้น 3 ข้อข้างต้นที่คล้ายๆกัน ... แต่สำหรับผมยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่ใช้ในการขายหุ้นอยู่ด้วย

4. ขายหุ้นเมื่อรู้สึกว่าถือแล้วไม่สบายใจ - หุ้นบางตัวเราคิดว่ามันน่าจะดี ก็เลยตัดสินใจซื้อไป .... แต่จริงๆแล้วเราอาจจะไม่ได้รู้จักธุรกิจเค้ามากเท่าไหร่นัก หรือตัวผู้บริหารอาจจะมีประวัติที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้ความมั่นใจในตัวหุ้นนั้นมีน้อย ผมจะมีวิธีปฏิบัติอยู่ 2 ทาง คือ .. 1. หาข้อมูลหุ้นตัวนี้เพิ่ม เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่าวิเคราะห์ไม่ผิด 2. ถ้าหาข้อมูลไม่ได้ หรือได้ไม่พอที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการถือหุ้นนั้นได้ ผมก็จะขายหุ้นทิ้ง โดยไม่แคร์ว่าจะขาดทุนมากแค่ไหน

หลายๆครั้งผมเอง ขายหุ้นเพราะรู้สึกแปลกๆ กับตัวผู้บริหาร หรืออนาคตของธุรกิจ ทั้งๆที่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุผลนั้นคืออะไร .. เพราะบางครั้งสัญญาณมันก็ช่วยเราได้เหมือนกัน .. อีกอย่างผมยืดมั่นว่าผมรักในการลงทุน เพราะฉะนั้นการลงทุนจะต้องไม่ทำให้เราเครียด ถ้ารู้สึกเครียดหรือไม่สบายใจ สู้ขายหุ้นทิ้งไปดีกว่า ถึงแม้จะรู้ว่าอาจจะต้องขายหมูก็เถอะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘