นักบริหาร VS นักลงทุน

ผมเคยเป็นผู้บริหารของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง และขณะนี้ผมเลิกเป็นผู้บริหาร และกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัวมาได้หลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าการเป็นนักบริหารนั้น ผมต้องมีคุณสมบัติ หรืออย่างน้อยต้องทำเป็นว่าผมมีคุณสมบัติหลายๆ อย่างที่แตกต่างจากการเป็นนักลงทุน เพื่อที่ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตการงานได้ดี ผมคงมีคุณสมบัติในการที่จะเป็นนักบริหารที่ดีไม่พอ ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะเป็นนักลงทุนซึ่งผมคิดว่า ผมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกว่า และต่อไปนี้คือ ความแตกต่างระหว่างนักบริหารและนักลงทุน
ข้อแรกก็คือ นักบริหาร ต้องมีความคิดแบบ Active มีความกระตือรือร้น คิดทำโน้นทำนี่ตลอดเวลาหยุดไม่ได้ นักบริหารที่นั่งคิดใจเย็นๆ ในร้านกาแฟ หรือในสนามกอล์ฟ แม้ในความเป็นจริง อาจจะเป็นประโยชน์ต่องานของบริษัทอย่างใหญ่หลวง แต่ก็จะถูกมองจากเจ้านาย หรือคนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นคนที่ไม่มี "ไฟ" ในการทำงาน ไม่มี "ความคิดใหม่ๆ" หรือเป็นคน "ขี้เกียจ" ซึ่งมีคุณค่าต่ำในสายตาของคนที่เกี่ยวข้อง
ในขณะที่นักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็น Value Investor นั้น การทำอะไรที่รวดเร็ว ตื่นเต้น และมี Action ตลอดเวลานั้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวมากกว่าที่จะได้ผลดี นักลงทุนนั้นจะต้อง "นิ่ง" และใช้ความคิดอย่างรอบคอบ โดยที่ไม่ต้องแสดงให้คนเห็น และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะต้องตัดสินใจทำ และนั่นก็อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เขาต้องทำอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นแล้ว เขาก็จะกลับมาใช้ชีวิตที่ "สงบ" ต่อไปอีกนานก่อนที่จะมีรายการลงทุนใหม่ซึ่งอาจจะเป็นเดือนหรือปีข้างหน้า
ข้อสอง นักบริหารนั้น มักชอบสิ่งที่ "ท้าทาย" ชอบต่อสู้แก้ปัญหา นักบริหารที่ประสบความสำเร็จสูงๆ ทั่วโลก ต่างก็เป็นคนที่เคยฝ่าฟันอุปสรรค ต่อสู้กับคู่แข่ง และฟื้นฟูกิจการที่มีปัญหาให้กลับมาดีขึ้นได้ นักบริหารไม่ชอบทำอะไรง่ายๆ ที่ดูเหมือน "ไม่ต้องใช้ฝีมือ" แต่จะชอบทำอะไรที่สลับซับซ้อนที่ดูแล้ว "น่าทึ่ง" ธุรกิจอะไรที่ดูแล้ว "น่าเบื่อ" ไม่ต้องใช้ หรือไม่มีความคิดสร้างสรรค์ มักจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางของนักบริหารไฟแรง ที่มีความทะเยอทะยานสูง
ตรงกันข้าม นักลงทุนนั้น ไม่ชอบที่จะต่อสู้กับใคร นักลงทุนนั้น เมื่อเจออุปสรรค นั่นก็คือ เจอหุ้นที่ "เลวร้าย" หรือบริษัทที่ลงทุนอยู่มีปัญหา เรามักจะ "หนี" คือ ขายหุ้นทิ้ง ว่าที่จริง สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เจอกับอุปสรรคตั้งแต่แรกนั่นก็คือ เลือกลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่มีปัญหาทั้งในปัจจุบัน และอนาคต วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยพูดว่า ความสำเร็จของเขานั้น ไม่ใช่การฆ่ามังกรแต่เป็นการหลบหลีกมันให้พ้น
ข้อสาม นักบริหารที่จะประสบความสำเร็จนั้น มักจะต้องตามกระแส ไม่ว่าจะมีเทคนิคหรือแนวทางอะไรที่ "มาใหม่ถอดด้าม" โดยเฉพาะจากกูรูการบริหารชื่อดังจากต่างประเทศที่มักจะมาทุก 3-4 ปี ไล่ตั้งแต่ยุค In Search of Excellence หรือตามล่าหาความเป็นเลิศ มาถึง Six Sigma มาถึง Balance Score Card และล่าสุด กลยุทธ์ Blue Ocean หรือทะเลสีคราม
นักบริหารที่ดีจะต้องพยายามนำมาประยุกต์ใช้เพื่อไม่ให้ "ตกเทรนด์" แต่สำหรับ VALUE INVESTOR แล้ว เรามักยึดหลักการเดียวที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เรามองหาคุณค่าในราคาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน เราไม่ตามแฟชั่นหรือหุ้นกลุ่มใหม่ๆ ที่กำลังมาแรง เราไม่ตาม Momentum หรือ "กระแส" ของหุ้นหรือของตลาดหลักทรัพย์
ข้อสี่ ซึ่งน่าจะเกี่ยวพันกับข้อสาม ก็คือ นักบริหารที่ดี มักจะต้อง "เข้ากับคนอื่น" ได้ดี ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่า นักบริหารจะต้องฟังคนอื่นเป็นและแสดงความเห็นสอดคล้องกับคนอื่นมากกว่าที่จะคัดค้าน นักบริหารจะต้องมีความคิดเป็นบวก และเอาใจใส่ต่อคนอื่นมากกว่าปกติ พูดง่ายๆ ก็คือ นักบริหารที่จะประสบความสำเร็จ ต้องจัดการ "เรื่องของคน" ได้ดี ในขณะที่นักลงทุนนั้น ไม่ค่อยมีความจำเป็นที่จะต้อง "เก่งทางด้านคน"
ว่าที่จริง คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ เขาจะต้องมีความคิดที่เป็น "อิสระ" จากคนอื่นค่อนข้างมาก เขาจะต้องไม่ใช่คนที่มองโลกในแง่ดีเกินไป เช่นเดียวกับที่ไม่มองอะไรที่เป็นลบไปหมด เขาต้องมีใจ "เป็นกลาง" คือ ไม่มีความลำเอียงกับสิ่งที่เขากำลังพิจารณาถึง ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือ นักลงทุนที่ดีจะต้องเป็นเหมือน "กรรมการ" ที่ "ตัดสิน" คุณค่าธุรกิจต่างๆ อย่างยุติธรรมที่สุด
สุดท้ายก็คือ ในมุมมองของเรื่องความเสี่ยง ผู้บริหารนั้น มักจะเป็นคนที่ "ชอบเสี่ยง" หรือกลัวความเสี่ยงน้อยกว่านักลงทุน ประเด็นก็คือ ผู้บริหารจะตัดสินใจทำอะไรต่างๆ โดยมักจะ "เล็งผลเลิศ" ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเขามักจะมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าความเป็นจริง
อีกส่วนหนึ่งก็คือ ถ้าเขาประสบความสำเร็จ เขาก็จะได้ผลตอบแทนมาก แต่ถ้าเกิดความเสียหาย ผลก็มักจะตกอยู่กับบริษัทและเขามักจะ "โทษ" สถานการณ์หรือองค์ประกอบอื่นๆ ได้ไม่ยาก ตรงกันข้าม นักลงทุนนั้นกลัวความเสี่ยง เพราะถ้าเขาพลาด ความเสียหายทั้งหมดจะตกอยู่กับเขา และเขาไม่สามารถโทษใครได้เลย
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของความแตกต่างระหว่างนักบริหารกับนักลงทุน ที่ผมสังเกตเห็น และประสบกับตัวเอง ผมเองประสบความสำเร็จจากการเป็นนักลงทุนมากกว่าการเป็นผู้บริหารมากด้วยเหตุผลที่ว่า คุณสมบัติและนิสัยของผมนั้น อาจจะเหมาะกับการเป็นนักลงทุนมากกว่า ตรงกันข้าม คนที่มีคุณสมบัติของการเป็นนักบริหารมากนั้น ผมเองขอสนับสนุนให้เขาเป็นนักบริหารมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุน เพราะผมเชื่อว่า คนเราควรที่จะใช้จุดแข็งของตนในการ "แข่งขัน" เพื่อชีวิตมากกว่าที่จะพยายามต่อสู้จากจุดที่อ่อนแอซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ยาก

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘