Value ของ Value investor

การที่จะเป็น Value Investor หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าของกิจการ สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องรู้จัก "คุณค่าของกิจการ" แต่คุณค่าของกิจการ ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินต่างๆ ของกิจการ และทรัพย์สินนั้นประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายทั้งที่จับต้องได้มีราคาซื้อขาย และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ไม่มีตัวตนไม่มีมูลค่า หรือราคา แต่มีประโยชน์และมีค่ายิ่ง บ่อยครั้งมีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ ดังนั้น การวิเคราะห์ทรัพย์สินตามที่มีปรากฏอยู่ในงบการเงิน จึงมักจะมีประโยชน์น้อยกว่าทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้
การวิเคราะห์และเรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ อยู่เป็นนิจศีล โดยเฉพาะคุณค่าของทรัพย์สินที่ธุรกิจนำมาใช้งาน เช่น คุณค่าของ Goodwill หรือค่าความนิยม เช่น ยี่ห้อ หรือคุณค่าของสัมปทาน คุณค่าของการเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจที่คนอื่นไม่สามารถมาแข่งขันได้ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ถ้าจะลงทุน แต่จริงๆ แล้ว เราควรรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ อีกมากมายในโลกนี้รวมถึง "คุณค่าของคน"
ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทรัพย์สินต่างๆ และคนนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทธุรกิจต้องใช้ แต่เป็นเพราะตัวเราเองก็ต้องใช้ ดังนั้น การรู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆ จึงมีประโยชน์มหาศาลทั้งในด้านของการลงทุน และเรื่องการใช้ชีวิตของ Value Investor
ลองนึกดูว่าระหว่าง ริชาร์ด เบอร์ตัน นักแสดงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก กับ เอลวิส เพรสลี่ นักร้องที่โด่งดังมากตั้งแต่ที่ผมยังเป็นเด็กเช่นเดียวกัน ทั้งคู่ต่างมีชื่อเสียงและคงจะได้รับเงินมากพอๆ กันในยุคที่ทั้งคู่กำลังดังระเบิด
แต่ถามว่าถ้ามองถึง "คุณค่า" แล้วใครมี "คุณค่า" มากกว่า? คำตอบ คือ เอลวิส เหตุผลก็คือ ทั้งคู่ต่างไม่สามารถทำเงินเองแล้ว แต่ทรัพย์สินซึ่งคือ ลิขสิทธิ์ผลงานของเอลวิส ยังขายได้เรื่อยๆ เป็นเวลาหลายสิบปี และว่าที่จริงยังทำเงินรวมกันแล้ว มากกว่าสมัยที่เอลวิสยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ แต่ ริชาร์ด เบอร์ตันนั้น ภาพยนตร์ที่ยังขายได้ คงน้อยเต็มที จะมีสักกี่คนที่ยังอยากดูหนังเรื่องคลีโอพัตราที่เขาแสดงนำร่วมกับ อลิซาเบธ เทเลอร์ ไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กรุ่นหลังส่วนใหญ่แล้วก็ไม่รู้ว่าใครคือ ริชาร์ด เบอร์ตัน ขณะที่ เอลวิส คนส่วนมากยังรู้จักและเปิดเพลงฟังอยู่เรื่อย ๆ
นักร้อง นักแสดง และผู้อยู่ในวงการบันเทิงหลายคน หันไปเป็นนักการเมือง พวกเขาคิดว่าการเป็นคน "เต้นกินรำกิน" มี "คุณค่า" น้อย เพราะในสังคมไทย เรายังเป็นสังคมที่มีความคิดแบบ "ศักดินา" คนมักจะจัดระดับความสำคัญหรือคุณค่าของคนเป็นระดับชั้นตาม "อำนาจในการปกครอง" เช่น รัฐมนตรีมีค่ากว่าปลัดกระทรวง ปลัดมีค่ามากกว่าอธิบดี และไล่ไปเรื่อย ในส่วนของเอกชน ผู้จัดการใหญ่มีค่ามากกว่า รองผู้จัดการ เป็นต้น
ขณะที่นักร้องนักแสดงนั้น เนื่องจากสั่งการใครไม่ได้เลย ดังนั้น พวกเขารู้สึกว่า "คุณค่า" ของเขาน้อย เขาอาจจะมีเงิน แต่พอถึงจุดหนึ่งคนก็อยากได้อำนาจอยากมี "เกียรติยศ" พวกเขาคิดว่า การเป็นดาราหรือนักร้อง ไม่ว่าจะดังแค่ไหนก็ไม่สามารถเปรียบได้กับการเป็น "เสนาบดี" ที่มีคนอยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย
แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิด เพราะผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คุณค่าของการเป็น "เสนาบดี" หรือรัฐมนตรี ผมรู้สึกว่ามันมีค่าน้อยลงโดยเฉพาะมักมีอายุสั้นมาก ชื่อเสียงที่ได้รับเกิดขึ้นและดังแรงชั่วคราว
หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ก็ลืมไปแล้ว บางคนนึกไม่ออกหรือจำไม่ได้ว่าคนคนนี้เคยเป็นรัฐมนตรีด้วย หรือที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือ เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้ "แคร์" หรือสนใจว่าใครเป็นรัฐมนตรี หรือมีตำแหน่งทางการเมือง เขาสนใจว่าใครจะได้เป็นแชมป์เอเอฟ หรือเป็นแชมป์เดอะสตาร์มากกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ในอนาคตการเป็นรัฐมนตรี "ครั้งหนึ่งในชีวิต" ของคุณนั้น คนที่จำได้อาจจะเป็นคนในครอบครัวของคุณเท่านั้น
ถ้าคุณเป็นนักร้องหรือนักแสดงดัง คนรุ่นหลังอาจยังรู้จักคุณไปอีกหลายสิบปีหรือตลอดไป การเป็นนักร้องดัง ในความเห็นผม มีคุณค่ามากกว่าเป็นรัฐมนตรีดัง ไม่ต้องพูดถึงรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานอะไรเลย และนี่ไม่ใช่แค่ผมคิดเอง ในสังคมที่พัฒนาอย่างอเมริกานั้น การเป็นเอลวิส มีคุณค่ามากกว่าการเป็นประธานาธิบดีหลายๆ คนด้วยซ้ำ เมืองไทยเราถ้าพัฒนาไปเรื่อยๆ สังคมเราจะเป็นอย่างนั้น
ที่พูดมาหลายเรื่องอาจมองว่าไม่เห็นเกี่ยวกับการลงทุน หรือนักลงทุนตรงไหน แต่ผมกำลังจะบอกว่า นี่เป็นแนวความคิดที่สำคัญ ทรัพย์สินที่จะมีคุณค่ามาก ต้องดูถึงระยะเวลา หรือจำนวนการใช้งานได้ของมัน ทรัพย์สินชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์สูงมากแต่ให้ประโยชน์ได้ไม่กี่วันหรือไม่กี่ปี
อีกชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์พอๆ กัน แต่ให้ประโยชน์ไปได้เรื่อยๆ แบบนี้ ทรัพย์สินชิ้นหลังอาจมีคุณค่ามากกว่าชิ้นแรกมาก และด้วยแนวความคิดนี้เอง ที่เวลาผมจะซื้ออะไรผมจะคิดถึงเรื่องนี้ เช่น ถ้าเราซื้อเตียง ผมคิดว่าเราควรซื้อที่ดีมาก แม้ราคาจะแพง เหตุผลเพราะเราใช้คิดเป็นชั่วโมงแล้วสูงมาก เวลาคำนวณค่าใช้งานต่อชั่วโมงไม่แพง
เช่นเดียวกัน รองเท้าหรือนาฬิกาข้อมืออาจใส่ซ้ำได้ ดังนั้น รองเท้าถ้าจะซื้อแพงหน่อยก็ไม่เป็นไร ไม่เหมือนเสื้อผ้าโดยเฉพาะของผู้หญิงที่หลายคนสวมใส่ไม่กี่ครั้งก็เลิก เพราะตกแฟชั่น จึงไม่ควรซื้อของแพง
กลับมาที่เรื่องหุ้น กรณีของสัมปทาน หรือสัญญาที่บริษัทได้รับจากหน่วยงานรัฐ หรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ และข้อผูกพันเหล่านั้นทำกำไรได้งดงาม นั่นอาจทำให้ตัวเลขผลประกอบการปัจจุบันดูดีมาก แต่ถ้าสัญญาหรือสัมปทานเหล่านั้นมีอายุเหลือแค่ไม่กี่ปี จึงต้องลดคุณค่าลงไปมาก
ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีทรัพย์สิน หรือมีความนิยมบางอย่างดีมาก และทรัพย์สิน ซึ่งส่วนมากเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้เป็นของบริษัทและบริษัทสามารถใช้มันไปได้เรื่อยๆ ยิ่งใช้ยิ่งมีค่ามากขึ้น แบบนี้ คุณค่าก็จะมากแม้ผลประกอบการวันนี้อาจยังไม่มากมายนัก
ข้อสรุปทั้งหมดของผม คือ เรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน ชื่อเสียงและเกียรติยศ มองที่ระยะเวลาการได้รับหรือได้ใช้ทรัพย์สินนั้น อย่าลืมมองต่อไปถึงอนาคตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ทรัพย์สินที่มีค่ามาก มักเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้น การมองหาจึงไม่สามารถมองผ่านงบการเงิน หรือตำแหน่งหรือยศทางราชการ และนี่คือคุณค่าหรือ Value ของ Value Investor ที่แท้จริง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘