เส้นแนวโน้ม TREND LINE

เส้นแนวโน้ม (TREND LINE) หมายถึง ทิศทางของหุ้นที่มีการเคลื่อนที่ไปในแนวทางใดทางหนึ่ง ตามแนวโน้มนั้น ๆ ทำให้เราทราบถึงแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต เราสามารถนำเส้นแนวโน้มไปหาแนวต้าน, แนวรับ หรือหาทิศทางของราคาได้ในแผนภูมิแบบแท่ง, แผนภูมิแบบแท่งเทียน หรือในแผนภูมิแบบ POINT & FIGURE และเราสามารถนำเอาเส้นแนวโน้มไปใช้ร่วมกับ เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคตัวอื่น ๆ ได้ เช่น RSI, MOMENTUM ฯลฯ

การวิเคราะห์แนวโน้ม

การวิเคราะห์แนวโน้มสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

*    แนวโน้มขึ้น  (UPTREND)
*    แนวโน้มลง  (DOWNTREND)
*    แนวโน้มที่เคลื่อนตัวไปทางด้านข้าง  (SIDEWAYS TREND)

แนวโน้มขึ้น  (UPTREND)

มีรูปแบบที่จุดยอดของราคาที่ขึ้นไปในแต่ละครั้งจะสูงกว่ายอดเก่า และราคาต่ำสุดของหุ้นที่ลดลงในครั้งใหม่จะสูงกว่าครั้งก่อน โดยเส้นแนวโน้มขึ้น (UPTREND LINE) จะเป็นเส้นตรงที่ลากผ่านจุดต่ำอย่างน้อยสองจุดในแนวขึ้น โดยไม่ควรมีจุดฐานที่ต่ำกว่าเส้นแนวโน้มขึ้นดังกล่าว ต่อมาหากราคาหุ้นตกทะลุผ่านเส้นแนวโน้มนี้ เป็นการบอกถึงแนวโน้มหุ้นจะเปลี่ยนเป็นลง


 แนวโน้มลง  (DOWNTREND)

มีรูปแบบที่จุดยอดของราคาที่ขึ้นไปในแต่ละครั้งจะต่ำกว่ายอดเก่า และจุดต่ำสุดของการลดลงครั้งใหม่จะต่ำกว่าครั้งก่อน โดยเส้นแนวโน้มลง (DOWNTREND LINE) จะเป็นเส้นตรงที่ลากผ่านจุดสูงสุดอย่างน้อยสองจุดในแนวลง โดยไม่ควรมีจุดยอดที่สูงกว่าเส้นแนวโน้มลงดังกล่าวต่อมา หากราคาหุ้นทะลุผ่านเส้นแนวโน้มนี้ขึ้นไป เป็นการบอกถึงแนวโน้มหุ้นจะเปลี่ยนเป็นขึ้น


แนวโน้มที่เคลื่อนตัวไปทางด้านข้าง  (SIDEWAYS TREND)

มีลักษณะเป็นการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นอยู่ในช่วงหนึ่ง ๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


แนวรับ / แนวต้าน

เนื่องจากแนวโน้มมีลักษณะเป็นขาขึ้น (UPTREND) ขาลง (DOWNTREND) และเคลื่อนตัวไปทางด้านข้าง (SIDEWAYS) เราจึงสามารถลากเส้นตรงระหว่างจุดต่ำกับจุดต่ำ (เส้นแนวรับ) และจุดยอดกับจุดยอด (เส้นแนวต้าน) ได้ ทำให้เกิดมี

*    เส้นแนวรับ (SUPPORT LINE) คือ ระดับแนวที่ราคาหุ้นที่ตกลงมาสามารถย้อนกลับขึ้นไป
*     เส้นแนวต้าน (RESISTANCE LINE) คือ ระดับแนวที่ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปแล้วมีการดีดกลับลงมา

ดังนั้น เราสามารถนำเส้นแนวโน้มมาใช้ในการสร้างช่องทาง (CHANNEL) การเคลื่อนที่ของราคาหุ้นได้ 3 แบบ

แนวรับแนวต้านในแนวนอน
(HORIZONTAL SUPPORT AND RESISTANCE)

ระดับราคาจะวิ่งอยู่ภายในช่วงแนวรับและแนวต้านในแนวนอน โดยเมื่อราคาเคลื่อนตัวขึ้นและไปพบกับเส้นต้าน ราคาหุ้นจะดีดตัวลง ในทางตรงกันข้ามเมื่อราคาเคลื่อนที่ไปจนพบกับแนวรับ ก็จะดีดตัวขึ้น โดยเคลื่อนตัวสลับขึ้นลงไปมาในลักษณะแนวระนาบ


แนวรับแนวต้านในแนวโน้มขึ้น
(BULLISH SUPPORT AND RESISTANCE)

เกิดเมื่อเราลากเส้นระหว่างจุดยอดกับจุดยอด และฐานกับฐาน จะเห็นว่าเส้นแนวโน้มมีลักษณะในทางขึ้น และเมื่อราคาตกต่ำกว่าเส้นที่ลากระหว่างฐานลงมา แสดงให้เห็นถึงราคาหุ้นจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มไปเป็นลง


แนวรับแนวต้านในแนวโน้มลง
(BEARISH SUPPORT AND RESISTANCE)

เกิดเมื่อเราลากเส้นระหว่างจุดยอดกับจุดยอด และฐานกับฐาน จะเห็นว่าเส้นแนวโน้มมีลักษณะในทางลง และเมื่อราคาทะลุผ่านเส้นที่ลากระหว่างจุดยอดขึ้นไป แสดงถึงว่าราคาของหุ้นจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มไปเป็นขึ้น


เส้นคู่ขนาน  (PARALLEL LINE)

โดยปกติเมื่อเส้นราคาตัดผ่านแนวรับหรือแนวต้านแล้ว ทำให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น แต่ถ้าราคาเพียงตัดผ่านแนวรับหรือแนวต้านไปได้เพียงเล็กน้อยแล้วดีดตัวกลับ และเข้าไปอยู่ในแนวรับและแนวต้านอันเดิม ทำให้เราเสียโอกาสในการทำกำไร เพราะเราต้องซื้อหรือขายก่อนที่การเปลี่ยนแนวโน้มจะเกิดขึ้นจริง ดังนั้นเราจึงนำเส้นคู่ขนาน (PARALLEL LINE) มาช่วยในการสร้างช่องทาง (CHANNEL) ที่เราสามารถยอมรับได้ โดยไม่ต้องพิจารณาว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเกิดขึ้น

แถบช่องทางนี้ทำได้โดยการลากเส้นขนานจากยอดสูงหรือฐานต่ำสุดที่สำคัญ ที่เกิดขึ้นในระหว่างแนวโน้มนั้น ระดับของราคาจะถูกคาดคะเนว่าจะคงอยู่ภายในช่องทางใหม่นี้ เช่น กรณีตัวอย่างในแนวโน้มขึ้น  เมื่อราคาทะลุเส้นแนวโน้ม XY ลงไปถึงจุด A แล้วดีดตัวกลับไปที่จุด B เราจะใช้จุด A เป็นจุดในการลากเส้นขนาน PQ และเมื่อการตกครั้งต่อไปของราคาหุ้นไม่เกินเส้น PQ เรายังไม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มเกิดขึ้น


พิชฟอร์ก  (PITCHFORK)

เส้น PITCHFORK เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของเส้นแนวโน้มแบบเส้นคู่ขนาน แต่มีลักษณะพิเศษคือ จะเป็นเส้นคู่ขนานเพียง 3 เส้น โดยมีเส้นที่สองหรือเส้นกลาง แบ่งครึ่งระยะทางระหว่างเส้นบนและเส้นล่างที่เกิดจากการลากผ่านจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของช่วงเวลานั้น ส่วนการตีความหมายของแนวรับแนวต้านจะเหมือนกับ เส้นคู่ขนานแบบอื่น ๆ


SPEED LINES

เป็นเทคนิคที่ประกอบด้วย TRENDLINES (เส้นแนวโน้ม) กับ PERCENTAGE RETRACEMENT (การย้อนกลับของราคา ณ ระดับเปอร์เซนต์ต่าง ๆ) เทคนิคนี้พัฒนาโดย DESON GOULD OF ANAMETRICS ซึ่งเป็นการนำความคิดในเรื่องของการแบ่งแนวโน้มออกเป็น 3 ส่วนมาประยุกต์ใช้ โดย SPEED LINES มีความแตกต่างจาก PERCENTAGE RETRACEMENT ที่ SPEED LINES เป็นการวัดอัตราการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของแนวโน้ม (อัตราเร่งของแนวโน้ม)

หลักการสร้าง  SPEED LINES

BULLISH SPEED LINES เริ่มจากหาจุดต่ำสุดและสูงสุดของแนวโน้มขึ้น แล้วลากเส้นตั้งฉากจากจุดยอดมายังฐาน โดยเส้นตั้งฉากนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน SPEED LINES จะเริ่มลากจากจุดต่ำสุดผ่านระดับ 1/3 และ 2/3 ของเส้นตั้งฉากตามลำดับ

BEARISH SPEED LINES วิธีการสร้างเส้น SPEED LINES จะตรงกันข้ามกับ BULLISH โดยเริ่มจากหาจุดสูงสุดและต่ำสุดของแนวโน้มลง แล้วลากเส้นตั้งฉากจากจุดต่ำสุดมายังยอด โดยเส้นตั้งฉากนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน SPEED LINES จะเริ่มลากจากจุดสูงสุดผ่านระดับ 1/3 และ 2/3 ของเส้นตั้งฉากตามลำดับ

หลักการวิเคราะห์

ทฤษฎีของ SPEED LINES จะคล้ายกับ 33% และ 66%  RETRACEMENT

ในแนวโน้มขึ้น การปรับตัวลงของราคา โดยปกติหยุดลงที่ SPEED LINES เส้นบน (2/3) แต่หากว่าราคายังคงตกต่ำกว่าเส้นบน แนวรับต่อไปจะอยู่ที่  SPEED LINES เส้นล่าง (1/3) หากราคาตกทะลุแนวรับนี้ลงไป ราคาจะมีโอกาสตกต่อเนื่องกลับไปสู่ระดับเริ่มต้นของแนวโน้มขึ้นที่ผ่านมา

ในแนวโน้มลง หากว่าราคาสามารถดีดตัวขึ้นทะลุ    SPEED LINES เส้นล่าง (2/3) จะเป็นการแสดงถึงโอกาสที่ราคาอาจสามารถวิ่งขึ้นต่อไปยัง SPEED LINES เส้นบน และหากราคาทะลุผ่านแนวต้านนี้ขึ้นไป ราคาจะมีโอกาสขึ้นต่อเนื่องไปสู่ระดับเริ่มต้นของแนวโน้มลงที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับเส้นแนวโน้มโดยทั่วไป แนวรับของ SPEED LINES จะเปลี่ยนเป็นแนวต้านหลังจากราคามีการทะลุผ่านแนวรับนั้นลงไปและในทางตรงกันข้าม แนวต้านของ SPEED LINES จะเปลี่ยนเป็นแนวรับหลังจาก ราคามีการทะลุผ่านแนวต้านนั้นขึ้นมา เช่นในแนวโน้มขึ้น หากราคาทะลุผ่าน SPEED LINES เส้นบน (2/3) ลงมาแล้วไปพบกับแนวรับที่ SPEED LINES เส้นล่าง (1/3) เราถือว่า SPEED LINES เส้นบน (2/3) จะเปลี่ยนเป็น แนวต้าน หลังจากนั้นถ้าราคาสามารถทะลุผ่านแนวต้านนี้ขึ้นไปได้ ราคาอาจมีโอกาสสูงขึ้นกว่ายอดสูงสุดเดิม

หลักการนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแนวโน้มลงได้เช่นกัน

*    สัญญาณซื้อ
      *           เกิดเมื่อราคาทะลุผ่าน SPEED LINES ที่เป็นแนวต้านขึ้นไป
      *           เกิดเมื่อราคาตกมาพบ SPEED LINES ที่เป็นแนวรับแล้วดีดตัวกลับ
*    สัญญาณขาย
      *           เกิดเมื่อราคาทะลุผ่าน SPEED LINES ที่เป็นแนวรับลงไป
      *           เกิดเมื่อราคาวิ่งขึ้นมาพบ SPEED LINES ที่เป็นแนวต้านแล้วปรับตัวลง

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

I miss you all กับ I miss all of you ต่างกันอย่างไร

ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

ปัญหาและเฉลยวิชาอนุพุทธประวัติ นักธรรมชั้นโท สอบในสนามหลวง วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘